ขากระตุกขณะหลับ (Periodic limb movement disorder)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หลายต่อหลายคนคงเคยมีอาการขากระตุกขณะนอนหลับ จนนอนไม่ค่อยหลับ พอตื่นขึ้นมาก็ไม่มีอาการผิดปกติ แต่ง่วงนอน ไปพบแพทย์ก็ตรวจไม่พบความผิดปกติ เรารู้สึกกังวลใจว่า เราจะเป็นอะไรแน่ๆ วันนี้มาติดตามบทความเรื่องนี้ดูครับ “ภาวะขากระตุกขณะหลับ หรือ โรคขากระตุกขณะหลับ หรือ อาการขากระตุกขณะหลับ (Periodic limb movement disorder ย่อว่า PLMD)” ซึ่งน่าจะทำให้เรากระจ่างนอนหลับฝันดีแน่นอนครับ

ภาวะขากระตุกขณะหลับคืออะไร?

ขากระตุกขณะหลับ

ภาวะ/อาการขากระตุกขณะหลับ คือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉพาะขณะนอนหลับเท่านั้น ไม่มีอาการขณะตื่นเลย โดยอาการที่เกิดขึ้นนั้นจะมีอาการกระตุกของขาเฉพาะขณะนอน อาการกระตุกนั้นบางครั้งรบกวนการนอน ทำให้นอนไม่หลับ ง่วงนอนกลางวัน อาการกระตุกของขานั้นเกิดกับขา 1 ข้างหรือ 2 ข้างก็ได้ โดยมีลักษณะเฉพาะ คือ งอเข่า กระดกข้อเท้า และนิ้วหัวแม่เท้าขึ้น บางครั้งคนที่นอนด้วยกับผู้มีอาการ จะเป็นผู้บอกว่าผู้ที่มีอาการนั้น มีการกระตุกของขาที่ไปรบกวนการนอนของคนที่นอนด้วยได้ ซึ่งการกระตุกมักเกิดซ้ำๆ(รวมเวลาแล้วประมาณ 2-3นาที หรือเป็นหายๆเป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมง) โดยแต่ละครั้งของการกระตุกจะใช้เวลาอยู่ประมาณ 20-40 วินาที

ภาวะขากระตุกขณะหลับพบบ่อยหรือไม่?

ภาวะขากระตุกขณะหลับ พบได้ในทั้ง 2 เพศ โดยพบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชาย และพบได้ในทุกอายุ แต่มักพบในผู้ใหญ่ โดยพบในประชากรผู้ใหญ่ทั่วไปได้ประมาณ ร้อยละ 4-11(4-11%)

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะขากระตุกขณะหลับ?

ผู้มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะขากระตุกขณะหลับได้แก่

  • ผู้ที่มีโรคทางด้านการนอน เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ(นอนหลับแล้วหยุดหายใจ)
  • ผู้ที่ใช้ยานอนหลับเป็นประจำ
  • ผู้ใช้ ยาทางจิตเวช ยากลุ่มโดปามีน(Dopamine)
  • ผู้ที่มีภาวะเลือดจาง
  • ผู้ป่วย โรคเบาหวาน โรคไตเสื่อม/โรคไตเรื้อรัง หรือ โรคไขสันหลัง

ภาวะขากระตุกขณะหลับเกิดได้อย่างไร?

ภาวะขากระตุกขณะหลับ เกิดขึ้นจากกลไกใด แพทย์ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากความผิดปกติของสมองที่มีภาวะไวเกินต่อสิ่งเร้า มากเกินไป จนทำให้ระดับสารสื่อประสาทที่ชื่อโดปามีน(Dopamine)ลดต่ำลง จึงก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวผิดปกติดังกล่าว

ภาวะขากระตุกขณะหลับมีอาการคล้ายกับภาวะผิดปกติอะไรบ้าง?

ภาวะ/โรคที่มีอาการคล้ายกับภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ คือ

  • ภาวะขาอยู่ไม่สุข
  • ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง
  • ภาวะชักขณะหลับ(Nocturnal seizure)
  • การเคลื่อนไหวผิดปกติโคเรีย(Chorea)

แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะขากระตุกขณะหลับได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะขากระตุกขณะนอนหลับได้จาก การพิจารณาข้อมูลประวัติทางการแพทย์ที่รวมถึงอาการ และอาการแสดงของผู้ป่วย การตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจร่างกานทางระบบประสาท เป็นหลัก แต่ในบางกรณีที่อาการผู้ป่วยไม่แน่ชัด แพทย์จะพิจารณาจากผลการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การตรวจขณะนอนหลับที่เรียกว่า Sleep test, การตรวจเลือดเพื่อหาภาวะผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดอาการ เช่น ไตเสื่อม/โรคไตเรื้อรัง โลหิตจาง ทั้งนี้ โดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องตรวจ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือตรวจเอ็ม อาร์ ไอสมอง

ภาวะขากระตุกขณะหลับสามารถติดต่อได้หรือไม่?

ภาวะขากระตุกขณะหลับไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่ใช่โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อ

  • ผู้มีอาการมีความกังวลใจต่ออาการที่เกิดขึ้นว่าเป็นอะไร
  • อาการรุนแรงจนรบกวนการนอน ง่วงนอนกลางวันมาก ไม่มีสมาธิ และ/หรือซึมเศร้า

แพทย์ให้การรักษาภาวะชากระตุกขณะหลับอย่างไร?

การรักษาภาวะขากระตุกขณะหลับ คือ

1. การรักษาควบคุมอาการด้วยยา: ซึ่งยาที่ใช้ได้ผล คือ ยากลุ่มโดปามีน(Dopamine) ยากันชัก ยากาบาเพ็นติน(Gabapentin) ยาพลีกาบาลิน (Pregabalin) ยานอนหลับ ยาโคลนาซีแพม(Clonazepam) ยาคลายกล้ามเนื้อ

2. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ

3. การรักษาควบคุมโรคร่วม/โรคประจำตัวต่างๆ/โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ ที่ได้กล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ”

ภาวะขากระตุกขณะหลับมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่?

ภาวะ/อาการแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ที่อาจพบจากภาวะขากระตุกขณะหลับ คือ การง่วงนอนกลางวัน การไม่มีสมาธิ และภาวะซึมเศร้า

ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะขากระตุกขณะหลับ?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะขากระตุกขณะหลับ ได้แก่

  • ควรทานยาที่แพทย์สั่งสม่ำเสมอ ไม่ขาดยา
  • รักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะนี้ให้ได้เป็นอย่างดี
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด

คนในครอบครัวควรปฏิบัติอย่างไร?

คนในครอบครัวของผู้ป่วยที่มีภาวะขากระตุกขณะหลับ ต้องคอยสอบถามเรื่องการทานยาของผู้ป่วยเพื่อช่วยเตือนให้ผู้ป่วยไม่ขาดยา สนับสนุนให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเป็นประจำ และคอยสังเกตอาการผู้ป่วยที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับ ถ้ายังมีอาการ ก็ควรบันทึกภาพไว้ เพื่อนำมาให้แพทย์ดูเมื่อมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

ควรมาพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยภาวะขากระตุกขณะหลับ ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการขากระตุกขณะหลับรุนแรงมากขึ้น
  • มีผลข้างเคียงจากจากยาที่แพทย์สั่ง จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก ท้องเสียมาก วิงเวียนศีรษะมาก
  • มีอาการสงสัยแพ้ยาที่แพทย์สั่ง
  • เมื่อกังวลในอาการ

ภาวะขากระตุกขณะหลับป้องกันได้หรือไม่?

ผกรณีมีภาวะ/ปัจจัยเสี่ยง ดังได้กล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ” เช่น โลหิตจาง ไตเสื่อม/โรคไตเรื้อรัง ก็ต้องควบคุมรักษาโรค/ภาวะเสี่ยงเหล่านั้นให้ดี และควรต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึง การไม่ใช้ยานอนหลับ ก็จะลดโอกาสการเกิด/ป้องกันการเกิดภาวะขากระตุกขณะหลับได้

สรุป

ผมหวังว่าผู้อ่านคงมีความกระจ่างเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวผิดปกติของขาขณะนอนหลับนะครับ