การฝากครรภ์ (Antenatal care)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

การฝากครรภ์คืออะไร?

การฝากครรภ์ (Antenatal care ย่อว่า เอเอนซี/ANC) คือ การพบแพทย์/สูตินรีแพทย์หรือบุคคลากรทางสาธารณสุขอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์เพื่อดูแลสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ โดยมีจุดมุ่งหมายให้มารดาและทารกในครรภ์มีความสมบูรณ์มากที่สุด มารดาสามารถคลอดบุตรได้อย่างปลอดภัย ทารกฯมีสุขภาพแข็งแรงดี และหากตรวจพบความผิดปกติระหว่างฝากครรภ์ แพทย์/บุคคลากรทางสาธารณสุขสามารถรักษาหรือให้คำแนะนำที่สมควรกับมารดาได้

การฝากครรภ์มีความสำคัญอย่างไร?

การฝากครรภ์-01

การฝากครรภ์มีความสำคัญมาก การตั้งครรภ์แม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติแต่จะมีความเสี่ยงอยู่ในตัวเอง สตรีตั้งครรภ์ไม่มีใครไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติหรือเกิดอันตรายจากการตั้งครรภ์ทั้งกับทารกในครรภ์และ/หรือกับตัวสตรีที่ตั้งครรภ์เอง

แม้ว่าสตรีส่วนใหญ่ที่ตั้งครรภ์สามารถคลอดบุตรได้ปกติ, แต่บางครั้งคาดเดาไม่ได้เลยหากเกิดตกเลือดหลังคลอด,หรือเกิดน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดที่ปอดที่สามารถทำให้มารดาถึงกับถึงตายได้, แพทย์จึงแบ่งสตรีตั้งครรภ์เป็น “กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ความเสี่ยงต่ำ” และ “กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง”

ก. สตรีกลุ่มตั้งครรภ์ 'ความเสี่ยงต่ำ': คือ สตรีตั้งครรภ์ที่ “ต้องไม่มี” สิ่งต่อไปนี้อย่างน้อย ข้อใดข้อหนึ่งได้แก่

  • เคยมีทารกเสียชีวิตในครรภ์หรือทารกเสียชีวิตแรกเกิดภายใน 1 เดือน
  • เคยมีการแท้งบุตรตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปติดต่อกัน
  • เคยคลอดบุตรน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม
  • เคยคลอดบุตรน้ำหนักตัวมากกว่า 4,000 กรัม
  • มีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์หรือเคยเข้ารับการรักษาด้วยภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • เคยผ่าตัดอวัยวะภายในระบบสืบพันธุ์เช่น ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก ผ่าตัดปากมดลูก การผ่าท้องคลอดบุตร
  • ตั้งครรภ์แฝด
  • สตรีตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 17 ปีหรือมากกว่า 35 ปี
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดขณะตั้งครรภ์
  • มีก้อนในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย
  • สตรีตั้งครรภ์เป็นโรคเบาหวาน โรคไต หรือโรคหัวใจ
  • สตรีตั้งครรภ์มีการใช้สาร/ยาเสพติดต่างๆ
  • สตรีตั้งครรภ์มีกรุ๊ปเลือดหายากคือ กรุ๊ป Rh negative (Rhesus factor negative)

ข. สตรีตั้งครรภ์ 'ความเสี่ยงสูง': คือ กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ที่ “มีโรคหรือมีความผิดปกติต่างๆ” ดังที่กล่าวใน ข้อ “ก” อย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่ง

         การฝากครรภ์จะเป็นการค้นหาโรค/ภาวะที่อาจมีผลกระทบต่อมารดาเองหรือมีผลกระทบต่อ ทารก เพราะภาวะบางอย่างหากค้นพบเร็ว แพทย์สามารถให้การรักษาได้หรือผ่อนหนักให้เป็นเบา หรือให้การระวังในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปได้เช่น หากตรวจพบมารดาติดเชื้อเอชไอวี จะมีการให้สตรีตั้งครรภ์รับประทานยาต้านรีโทรไวรัส (ยาต้านเอชไอวี) เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อจากมารดาสู่ลูก หรือสตรีตั้งครรภ์มีการติดเชื้อซิฟิลิสโดยไม่มีอาการ สามารถให้ยากับมารดาเพื่อป้อง กันไม่ให้ติดต่อไปที่ทารกในครรภ์ได้

ต้องไปฝากครรภ์เมื่อไหร่?

ควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ เพื่อที่ว่าหากพบสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับมารดา หรือกับทารกที่บางอย่างจะสามารถแก้ไขได้ เช่น ภาวะแท้งคุกคาม, หรือการที่มารดารับประทานยาที่อาจส่งผลต่อทารก (เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด), หรือมารดามีโรคประจำตัวที่รุนแรง (เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด,  โรคไต), ที่บางครั้งแพทย์อาจต้องแนะนำการยุติการตั้งครรภ์ เพราะหากตั้งครรภ์ต่อไปจะมีผลเสียต่อสุขภาพมารดา, หรือมารดาอาจมีการตั้งครรภ์/การท้องนอกมดลูกแทนการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกตามปกติที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือให้ยาเคมีบำบัด

ฝากครรภ์ที่ไหน? กับใคร?

ในกรณีที่เป็นสตรีตั้งครรภ์ความเสี่ยงต่ำ:  สามารถไปฝากครรภ์กับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือ สูตินรีแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกระดับ หรือที่คลินิกเอกชน หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ในกรณีที่เป็นสตรีตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง:  ควรไปฝากครรภ์เฉพาะกับสูตินรีแพทย์

แพทย์ตรวจอะไรบ้างเมื่อไปฝากครรภ์?

เมื่อไปฝากครรภ์แพทย์จะให้การดูแล โดย

  • สอบถามประวัติทางการแพทย์ เช่น ภาวะขาดประจำเดือนเพื่อคำนวณอายุครรภ์, อาการผิดปกติต่างๆ, ประวัติลูกดิ้น, โรคประจำตัว (เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง), การใช้ยาต่างๆ การแพ้ยา, ประวัติครอบครัว, ประวัติการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรในครั้งก่อนๆ
  • การตรวจร่างกาย เช่น การตรวจร่างกายทั่วไป ส่วนสูง น้ำหนักตัว ตรวจวัดสัญญาณชีพ ตรวจสุขภาพในช่องปาก การตรวจคลำครรภ์/ตรวจคลำหน้าท้อง ตรวจความสูงของยอดมดลูก ตรวจคลำท่าทารกในครรภ์จากการตรวจคลำหน้าท้อง ตรวจฟังการเต้นของหัวใจทารก
  • การตรวจภายในเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • ตรวจเลือดเพื่อค้นหาความผิดปกติต่างๆเมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรก เช่น ภาวะซีด การติด เชื้อซิฟิลิส การเป็นพาหะโรค โรคไวรัสตับอักเสบบี  การติดเชื้อเชื้อเอชไอวี การตรวจคัดกรองพาหะโรคธาลัสซีเมีย  ตรวจหาหมู่เลือด และการตรวจปัสสาวะเพื่อค้นหาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

ทั่วไป ในการฝากครรภ์จะมีการตรวจเลือด 2 ครั้งคือ ครั้งแรกเมื่อมาฝากครรภ์ และการ ตรวจเลือดครั้งที่ 2 จะทำเมื่อตั้งครรภ์ประมาณ 32 สัปดาห์เพื่อติดตามการติดเชื้อเอชไอวี  และการติดเชื้อซิฟิลิสที่อาจตรวจไม่พบในครั้งแรก เพราะหากปล่อยผ่านไปทารกจะมีโอกาสติดเชื้อเหล่านี้สูงขึ้น การติดเชื้อ HIV ในทารกจะทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของทารกไม่ดีหลังคลอดคือ ทารกจะติดเชื้อได้ง่าย ส่วนการติดเชื้อซิฟิลิสทำให้ทารกเกิดภาวะบวมน้ำ (Hydrops fetalis) ที่เป็นสาเหตุให้ถึงตายได้

  • ตรวจอัลตราซาวด์ครรภ์โดยแพทย์จะตรวจตามข้อบ่งชี้เช่น ต้องการทราบอายุครรภ์ทารก มารดามีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หรือขนาดของมดลูกไม่สัมพันธ์กับอายุครรภ์ เป็นต้น
  • การตรวจพิเศษที่ทำเฉพาะบางคนเช่น ตรวจเลือดคัดกรองภาวะเบาหวานกับการ ตั้งครรภ์ในสตรีที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน เช่น มารดามีน้ำหนักตัวมาก, การเจาะตรวจน้ำคร่ำในสตรีตั้ง ครรภ์ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 35 ปีเพื่อดูความผิดปกติของโครโมโซมของทารก
  • สำหรับในการฝากครรภ์ครั้งต่อๆไป แพทย์/บุคคลากรสาธารณสุขจะมีการนัดเป็นระยะสม่ำเสมอ การมาตรวจแต่ละครั้งแพทย์/บุคคลากรสาธารณสุขจะทำการซักถามเกี่ยวกับความผิดปกติต่างๆ และสอบถามการดิ้นของทารกในครรภ์ ตรวจความสูงของยอดมดลูกว่าเหมาะสมกับอายุครรภ์หรือไม่
  • นอกจากนี้  อาจมีการฉีดวัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ และวัคซีนคอตีบให้สตรีตั้งครรภ์ด้วย

ต้องไปฝากครรภ์บ่อยเพียงใด?

ปัจจุบัน  สตรีกลุ่มตั้งครรภ์ความ "เสี่ยงต่ำ": มีการนัดไปฝากครรภ์ 2 ระบบ คือ

ก. ระบบดั้งเดิม:

  • เมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ แพทย์/บุคคลากรสาธารณสุขจะนัดตรวจครรภ์ทุก 4 สัปดาห์
  • เมื่ออายุครรภ์ 28 - 36 สัปดาห์จะนัดตรวจครรภ์ทุก 2 สัปดาห์
  • อายุครรภ์มากกว่า 36 สัปดาห์จะนัดตรวจครรภ์ทุก 1 สัปดาห์

ข. ระบบใหม่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก:

  • กรณีที่เป็นการตั้งครรภ์ความ 'เสี่ยงต่ำ':  ตรวจฝากครรภ์ทั้งหมด 4 ครั้ง คือ นัดตรวจครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์, อายุครรภ์ 26 สัปดาห์, อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ และที่อายุครรภ์ 38 สัปดาห์
  • สำหรับสตรีกลุ่มตั้งครรภ์ความ 'เสี่ยงสูง': จะมีการนัดมาตรวจครรภ์ตามระยะเวลานัดแบบดั้งเดิม และอาจมีจำนวนความถี่ในการนัดตรวจครรภ์มากขึ้นโดยขึ้นกับดุลยพินิจของสูตินรีแพทย์ เช่น หากสตรีตั้งครรภ์เป็นเบาหวานมานาน, มีภาวะแทรกซ้อนด้านเส้นเลือด/หลอดเลือดแข็งหรือตีบ, จะมีโอกาสเลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ไม่เพียงพอทำให้เกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์, จึงมีความจำเป็นที่แพทย์ต้องนัดมาตรวจสุขภาพทารกในครรภ์เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น อาจทุก 1 สัปดาห์ หรือทุก 2 ครั้งต่อสัปดาห์

*ทั้งนี้หากสตรีตั้งครรภ์ทุกคนมีอาการผิดปกติ ควรต้องไปพบแพทย์/บุคลากรสาธารณสุข/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ

ดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์อย่างไร?

การดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์ ที่สำคัญ ได้แก่

  • รับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดการทำงานที่หนักเกินไป
  • ไปฝากครรภ์สม่ำเสมอและรับประทานยาบำรุงครรภ์ตามคำแนะนำของแพทย์/เจ้าหน้าที่สาธารณสุข
  • สังเกตการดิ้นของทารก ซึ่งหากเป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก มารดาจะรู้สึกถึงว่ามีลูกดิ้นครั้งแรก (มีความรู้สึกคล้ายถูกปลาตอดที่ท้อง) เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 18 - 20 สัปดาห์ (ประมาณ 4 เดือนครึ่ง) สำหรับครรภ์หลัง มารดาจะรับรู้ได้เร็วขึ้นคือ จะรู้สึกทารกดิ้นที่อายุครรภ์ประมาณ 4 เดือนเนื่องจากเคยมีประสบการณ์มาแล้ว หลังจากนั้นมารดาต้องรู้สึกว่า มีทารกดิ้นทุกวันไปจน กระทั่งคลอดโดยดิ้นอย่างน้อย 10 ครั้งใน 12 ชั่วโมง ซึ่งถ้าการดิ้นผิดปกติไปจากนี้มารดาควรต้องรีบไปโรงพยาบาล

ควรไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

มารดาควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • มีอาการผิดปกติต่างๆเช่น มีเลือดออดทางช่องคลอด มีตกขาวผิดปกติ มีไข้ ตัวบวม ขา-แขนบวม ปวดหัว ตาพร่ามัว จุกแน่นใต้ลิ้นปี่
  • มีอาการเจ็บครรภ์ในช่วงเวลาที่อายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด หรือมีอาการท้องปั้น/ท้องหดเกร็ง/ท้องแข็งตัวบ่อยๆ
  • รู้สึกว่าลูกดิ้นลดลง

การตรวจอัลตราซาวด์ทุกครั้งเมื่อไปฝากครรภ์อันตรายหรือไม่?

จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานอันตรายของการทำอัลตราซาวด์ภาพครรภ์ต่อทารกในครรภ์  แต่การตรวจอัลตราซาวด์ทุกครั้งเมื่อไปฝากครรภ์นั้นไม่มีความจำเป็นเพราะเสียค่าใช้จ่ายและเสีย เวลา โดยทั่วไปจะมีการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อยืนยันอายุครรภ์ในขณะอายุครรภ์อ่อนๆในกรณีที่มารดาจำวันที่ขาดประจำเดือนไม่ได้แน่นอน จากนั้นหากไม่มีอาการผิดปกติจะมีการตรวจหาความ ผิดปกติทางด้านโครงสร้างหรือผิดรูป (Fetal anomaly) หรือโรคทางพันธุกรรมบางอย่างที่มีลักษณะเฉพาะของทารกที่อายุครรภ์ประมาณ 18 - 20 สัปดาห์อีกครั้ง

แต่การที่ไม่พบความผิดปกติจากการตรวจอัลตราซาวด์ไม่ได้แปลว่าทารกจะปกติ 100% เพราะบางครั้งความผิดปกติเล็กน้อยหรือมีขนาดเล็กอาจไม่สามารถบอกได้จากการตรวจอัลตราซาวด์

สำหรับในครรภ์ที่มีปัญหาทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ หรือ มีภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นร่วมด้วย,  อาจมีการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์บ่อยกว่าปกติ  โดยจะตามข้อบ่งชี้ และตามดุลพินิจของสูตินรีแพทย์

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Prenatal_care   [2022,Aug13]
  2. https://www.uptodate.com/contents/prenatal-care-initial-assessment  [2022,Aug13]