การตัดมดลูก (Hysterectomy)

สารบัญ

การตัดมดลูกคืออะไร?

อวัยวะสืบพันธุ์สตรี ประกอบด้วย ช่องคลอด มดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ มดลูกที่ปกติจะมีขนาดเท่าๆกับลูกชมพู่ และมีตำแหน่งที่อยู่ระหว่างกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ การตัดมดลูก (Hysterectomy) นั้น เป็นการผ่าตัดเพื่อเอามดลูกออกจากร่างกาย แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงการตัดรังไข่ออกด้วย

ทำไมจึงต้องตัดมดลูก?

โรคหรือภาวะที่อาจมีความจำเป็นต้องตัดมดลูกเพื่อการรักษา ได้แก่

  1. ประจำเดือนมามาก การที่มีประจำเดือนมามากในผู้หญิงบางรายอาจจะก่อให้เกิดความยากลำบากในการดำเนินชีวิต เช่น ขณะที่กำลังทำงาน อยู่ๆก็มีเลือดประจำเดือนไหลทะลักออกมาก ก่อให้เกิดความอับอายกับผู้ที่ต้องประสบกับปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ในเชิงสุขภาพ การที่มีประจำเดือนมามากยังก่อให้เกิดอาการซีดได้อีกด้วย อาการที่พบบ่อยจากซีด คือ มีอาการวิงเวียนง่าย การรักษาภาวะประจำเดือนออกมากทำได้หลายวิธี เช่น การรับประทานยา การใส่ห่วงอนามัยที่บรรจุฮอร์โมนที่เรียกว่าไมรีนา (Mirena®) อย่างไรก็ตาม หากการรักษาดังกล่าวไม่ได้ผล การตัดมดลูกก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา
  2. เนื้องอกมดลูก โรคนี้เป็นโรคของกล้ามเนื้อมดลูก แต่ไม่ใช่มะเร็ง เนื้องอกมดลูกเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิง และโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่มีอาการ อย่างไรก็ตาม ในผู้หญิงบางรายที่มีเนื้องอกมดลูกและมีอาการที่เกิดขึ้นจากก้อนเนื้องอก เช่น ประจำเดือนออกมาก ปวดประจำ เดือนมาก เนื้องอกมดลูกโตไปกดกระเพาะปัสสาวะและทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะยาก บางรายเนื้องอกมดลูกอาจโตไปกดลำไส้ใหญ่ทำให้มีปัญหาในการขับถ่ายอุจจาระ บางรายอาจมีอาการปวดท้องได้ ดังนั้นในรายที่เนื้องอกก่อให้เกิดอาการต่างๆดังกล่าว อาจมีความจำเป็นที่จะต้องให้การรักษาด้วยการตัดมดลูก
  3. มดลูกหย่อน โดยส่วนใหญ่แล้ว การเกิดมดลูกหย่อนมักจะพบในช่วงวัยหมดประจำ เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เนื้อเยื่อที่พยุงมดลูกจะเริ่มอ่อนแอ
  4. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นโรคที่เยื่อบุภายในโพรงมดลูกหลุดออกไปเจริญนอกโพรงมดลูก ซึ่งอาจก่อให้เกิดถุงน้ำที่มีเลือดออกในรังไข่เมื่อมีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญในรังไข่ ที่เรียกว่า ช็อคโกแล็ตซีส (Chocolate cyst) หรือจุดเลือดออกทั่วๆไปในอุ้งเชิงกราน หรืออาจเกิดพังผืดรัดตัวมดลูก ท่อนำไข่ กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ ถ้ามีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญในอุ้งเชิงกราน ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจจะมีหรือไม่มีอาการก็ได้ และความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นก็ไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค ผู้หญิงที่เป็นโรคนี้บางราย อาจมีอาการปวดประจำเดือนมาก ปวดท้องน้อย หรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นในผู้ที่เป็นโรคนี้และไม่ต้องการมีบุตรแล้ว อาจเลือกรักษาโดยการตัดมดลูก
  5. มะเร็งของระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก มะ เร็งท่อนำไข่ หรือมะเร็งรังไข่

ในหลายๆโรคหรือภาวะที่กล่าวไปข้างต้น การรักษาอาจเริ่มต้นด้วยการใช้วิธีการรักษาอื่นที่ไม่ ใช่การผ่าตัดก่อน หากไม่ได้ผล การตัดมดลูกเป็นสิ่งที่จำเป็น ยกเว้นในเรื่องของมะเร็งที่การผ่าตัดมักเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำในลำดับแรก การเลือกวิธีการรักษาโรคนั้น แพทย์และผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์จำเป็นที่จะต้องมีการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาร่วมกัน โดยผู้เข้ารับการรักษาควรมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ถึงผลดีผลเสียของการรักษาในแต่ละวิธี

ดังนั้น หากท่านได้รับคำแนะนำให้รักษาโดยการตัดมดลูก ควรจะสอบถามแพทย์ในสิ่งที่ท่านยังไม่เข้าใจหรือมีความวิตกกังวล คำถามที่พบบ่อยมีดังนี้

  • หากยังไม่ต้องการผ่าตัด มีการรักษาด้วยวิธีอื่นหรือไม่?
  • อาการและปัญหาที่พบในขณะนี้ เป็นมากจนมีความจำเป็นต้องรักษาโดยการตัดมดลูกใช่หรือไม่?
  • หากยังต้องการมีบุตร มีการรักษาอื่นที่ไม่ใช่การตัดมดลูกหรือไม่?
  • การตัดมดลูก จะทำให้ไม่มีประจำเดือนและทำให้ผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนใช่หรือไม่?

การตัดมดลูกมีกี่วิธี?

การตัดมดลูกมีหลายวิธี ดังนี้

  • การตัดมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด (Total hysterectomy) เป็นการผ่าตัดที่ทำกันเป็นส่วนใหญ่
  • การตัดมดลูกแต่เหลือปากมดลูกไว้ในร่างกาย (Subtotal hysterectomy) ในปัจจุบันมักจะไม่ค่อยทำการผ่าตัดวิธีนี้ ยกเว้นในกรณีที่มีพังผืดมาก หรือแพทย์ผู้ผ่าตัดพิจารณาว่าการผ่า ตัดเอาปากมดลูกออกอาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียงอื่น
  • การตัดมดลูกแบบถอนราก (Radical hysterectomy) เป็นการผ่าตัดเพื่อตัดมดลูก ปากมด ลูกและส่วนหนึ่งของช่องคลอดออกจากร่างกาย เป็นการผ่าตัดที่ให้การรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง

การตัดมดลูกออกจากร่างกายนั้น อาจจะทำผ่านทางหน้าท้อง หรือผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด การผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องนั้น อาจลงแผลผ่าตัดในแนวกลางลำตัวหรือในแนวบิกินี/Bikini (แบบขวางลำตัว) ดังนั้นอาจมีแผลเป็น ปรากฎที่หน้าท้อง ในขณะที่การผ่าตัดเอามดลูกออกทางช่องคลอดนั้น จะไม่เห็นแผลเป็น

ในปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อตัดเอามดลูกออกได้ ซึ่งทำได้ในหลายๆโรง พยาบาลในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การเลือกว่าจะทำการผ่าตัดวิธีใดดี ขึ้นอยู่กับโรคและความรุนแรงของโรค ตลอดจนความชำนาญและความพร้อมของแพทย์และโรงพยาบาลในแต่ละแห่ง ดังนั้นหากท่านจำ เป็นต้องตัดมดลูกเพื่อการรักษาโรค ควรขอคำแนะนำถึงรายละเอียดของวิธีการผ่าตัดจากแพทย์ผู้ รักษาจะเหมาะสมที่สุด

ควรผ่าตัดรังไข่ออกด้วยหรือไม่?

ในการผ่าตัดเอามดลูกออกนั้น แพทย์อาจทำการผ่าตัดเอารังไข่ทั้งสองข้างออกด้วย การตัด สินใจที่จะผ่าตัดเอารังไข่ออกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

  • ชนิดโรคหรือความรุนแรงของโรคที่เป็น
  • ความผิดปกติของรังไข่ที่พบขณะผ่าตัด
  • หรือผ่าตัดเอารังไข่ออกเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเอารังไข่ออก อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์หรือในวัยที่ยังมีประจำเดือน การตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง จะทำให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เพราะขาดฮอร์โมนเพศที่สร้างจากรังไข่ อันจะนำมาซึ่งอาการต่างๆของวัยหมดประจำเดือน และอาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน โรคหลอดเลือดหัวใจ โดย เฉพาะผู้ที่ตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างก่อนอายุ 45-50 ปี ดังนั้นผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดจึงควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของการตัดเอารังไข่ออก เพื่อนำมาซึ่งการตัดสินใจเลือกการผ่าตัดที่เหมาะสม

ในกรณีที่ตัดมดลูกออก แต่ยังเหลือรังไข่ไว้ พบว่าหนึ่งในสามของผู้หญิงที่ได้รับการตัดมด ลูก รังไข่จะหยุดการทำงานภายในสองปีหลังจากการตัดมดลูก ดังนั้น ในผู้ที่ตัดมดลูกควรเฝ้าสัง เกตุอาการต่างๆของวัยหมดประจำเดือน อันได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก หรือการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ เป็นต้น ซึ่งหากต้องประสบกับอาการดังกล่าว ควรขอเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์

เมื่อผ่าตัดรังไข่ออก ควรได้ฮอร์โมนเพศชดเชยหรือไม่?

ในการผ่าตัดรังไข่ออก ถ้าผู้ป่วยอยู่ในวัยหมดประจำเดือน ไม่จำเป็นต้องมีการให้ฮอร์โมนเพศชดเชยการทำงานของรังไข่

ส่วนในหญิงวัยเจริญพันธุ์ เมื่อตัดรังไข่ออกเพียงข้างเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ฮอร์โมนเพศชดเชย เพราะรังไข่อีกข้างสามารถสร้างฮอร์โมนชดเชยได้ แต่ถ้าผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง แพทย์ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีและผลเสียของการให้ฮอร์โมนชดเชย เพราะฮอร์โมนชดเชย อาจก่อผลข้างเคียงได้ เช่น เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม หรือเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำได้ นอกจากนั้น ยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆอีก เช่น ชนิดโรคที่ทำให้ต้องตัดมดลูก อายุใกล้หมดประจำ เดือนหรือยัง และโรคร่วมอื่นๆของผู้ป่วย

การตัดมดลูกออก มีผลต่อเพศสัมพันธ์หรือไม่?

ภายหลังการผ่าตัดเอามดลูกออกนั้น คุณยังสามารถที่จะมีความสุขกับการมีเพศสัมพันธ์ได้ มีงานวิจัยที่พบว่าผู้หญิงหลายคนมีความพึงพอใจในการมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นภายหลังการตัดมด ลูก อาจเป็นเพราะการตัดมดลูกนั้นเป็นการรักษาโรคที่เคยนำมาซึ่งความเจ็บปวด ทนทุกข์ทรมาน ความผิดปกติของประจำเดือน หรืออาการอื่นๆ ในทางตรงข้ามผู้หญิงบางรายอาจรู้สึกว่าการตัดมด ลูกทำให้ความสุขทางเพศลดลง โดยเฉพาะในผู้ที่รู้สึกว่าความรู้สึกถึงจุดสุดยอดมีการเปลี่ยนแปลงไป หรือมีความรู้สึกว่าความสามารถที่จะถึงจุดสุดยอดนั้นเป็นไปได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือความต้องการทางเพศที่จะยังคงอยู่เหมือนเดิม ยกเว้นในรายที่รังไข่ทั้งสองข้างถูกตัดออกไปด้วย เพราะฮอร์โมนเพศจากรังไข่จะหมดไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้ความต้องการทางเพศลดลง

การมีเพศสัมพันธ์ จะเริ่มมีได้ตามปกติประมาณ 6-8 สัปดาห์ภายหลังการผ่าตัดมดลูก และไม่จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดใดๆอีกตลอดไปไม่ว่าจะผ่าตัดรังไข่ออกด้วยหรือไม่ เพราะจะไม่มีทั้งการตั้งครรภ์ และประจำเดือน จากไม่เหลือมดลูกเพื่อการเหล่านี้แล้ว

ความรู้สึกหลังผ่าตัดมดลูกเป็นเช่นไร?

ความรู้สึกปวดแผลเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในช่วง 2-3 วันแรกหลังผ่าตัด และอาจมีความจำ เป็นต้องใช้ยาระงับปวด ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดจะเริ่มจิบน้ำได้ภายหลังที่ลำไส้เริ่มทำงาน ซึ่งโดยทั่ว ไปมักไม่เกินหนึ่งวันหลังผ่าตัดเสร็จ และเมื่อไม่มีอาการอึดอัดแน่นท้อง คุณก็จะสามารถรับประ ทานอาหารเหลว อาหารอ่อนและอาหารปกติได้ในมื้อถัดๆไป ตามลำดับ ตามคำแนะนำของแพทย์

หลังการผ่าตัด คุณอาจจะพบว่ามีสายที่ให้น้ำเกลือ และสายสวนปัสสาวะ โดยทั่วไปแล้ว แพทย์มักจะเอาสายที่ให้น้ำเกลือ และสายสวนปัสสาวะออกภายใน 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามขึ้น กับวิธีการผ่าตัดและภาวะสุขภาพหลังผ่าตัดของคุณด้วย

การที่มีเลือดออกจากช่องคลอดภายหลังการผ่าตัดนั้น เป็นเรื่องที่พบได้ตามปกติ และอาจคงอยู่ได้นานเป็นเดือน อย่างไรก็ตาม ปริมาณควรลดลงเรื่อยๆ และสีควรจางลง หรือมีลักษณะเป็นเลือดเก่าๆตามระยะเวลาที่ผ่านไป และไม่ควรมีกลิ่นเหม็น

แผลผ่าตัดทางหน้าท้องที่เย็บด้วยไหมที่ไม่สามารถละลายได้เอง แพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะ นำให้ตัดออกในวันที่ 7 หลังการผ่าตัด และแผลผ่าตัดทางหน้าท้องที่เย็บด้วยไหมละลาย แพทย์มักจะนัดตรวจดูแผลในวันที่เจ็ดหลังผ่าตัดเช่นกัน

กรณีที่มีแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง และปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดจะสามารถอาบน้ำได้เลย แต่ในผู้ที่ได้รับการปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ที่ไม่สามารถกันน้ำได้ หากต้อง การอาบน้ำต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างสูงที่จะไม่ให้แผลถูกน้ำก่อนถึงวันที่แพทย์นัดเปิดแผลผ่าตัดเพราะแผลจะติดเชื้อได้ง่าย

อาการหรือความผิดปกติที่ต้องพบแพทย์ก่อนนัดมีอะไรบ้าง?

อาการปวดแผลผ่าตัดมักจะเป็นมากในช่วงสองถึงสามวันแรก หากท่านมีอาการปวดแผลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเพิ่งเริ่มมีอาการปวดภายหลังผ่าตัดไปแล้วสองถึงสามวัน ควรรีบปรึกษาแพทย์

อาการอื่นๆที่ต้องพบแพทย์ก่อนวันนัดได้แก่ มีเลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเลือดที่ออกทางช่องคลอดมีกลิ่นผิดปกติ เป็นไข้ หรือปวดท้องมากขึ้น การขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะผิดปกติไปจากเดิม หรือแผลผ่าตัดแยก หรือติดเชื้อ เช่น มีกลิ่นเหม็น มีหนอง บวม แดง และ/หรือเจ็บมากขึ้น

จะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เมื่อไหร่?

ระยะเวลาที่จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติภายหลังการผ่าตัดมดลูกในแต่ละบุคคลนั้นแตกต่างกัน โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ในการฟื้นฟูร่างกายให้สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ บางรายอาจใช้เวลานานถึง 3 เดือน ผู้ที่ได้รับการตัดมดลูกออกโดยการใช้กล้องช่วยผ่าตัดหรือได้รับการผ่าตัดมดลูกออกทางช่องคลอดมักจะใช้เวลาในการกลับคืนสู่สภาพปกติได้เร็วกว่าการผ่าตัดออกทางหน้าท้อง

โดยทั่วไปผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมดลูก จำเป็นต้องลาพักงานประมาณ 2-4 สัปดาห์ ทั้งนี้แล้ว แต่วิธีการผ่าตัด แพทย์มักจะแนะนำให้เริ่มออกกำลังกาย หรือเริ่มงานทีละน้อย และค่อยๆเพิ่มขึ้นตามสภาพความพร้อมของร่างกาย

ในเรื่องของการขับรถนั้น ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดจะสามารถขับรถได้ก็ต่อเมื่อมีความสามารถเบรครถได้อย่างปลอดภัยในช่วงเวลาที่คับขัน (คือไม่เจ็บแผลผ่าตัดจนส่งผลกระทบต่อการเหยียบเบรค) โดยทั่วไปคือประมาณ 6 สัปดาห์

จำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกภายหลังการตัดมดลูกหรือไม่?

โดยทั่วไปมักไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกภายหลังการตัดมดลูก ยกเว้นในบางกรณี เช่น การตัดมดลูกโดยที่ยังเหลือปากมดลูกบางส่วนไว้ หรือการตัดมดลูกสาเหตุจากป่วยเป็นมะเร็ง ที่จำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรองมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำเป็นระยะๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

บรรณานุกรม

  1. Heavy menstrual bleeding, NICE Clinical Guideline (January 2007)
  2. Orozco LJ, Salazar A, Clarke J, et al; Hysterectomy versus hysterectomy plus oophorectomy for premenopausal women. Cochrane Database Syst Rev. 2008 Jul 16;(3):CD005638.
  3. Falcone T, Walters MD; Hysterectomy for benign disease. Obstet Gynecol. 2008 Mar;111(3):753-67.
  4. Kluivers KB, Johnson NP, Chien P, et al; Comparison of laparoscopic and abdominal hysterectomy in terms of quality of life: a systematic review. Eur J ObstetGynecolReprod Biol. 2008 Jan;136(1):3-8. Epub2007 Dec 11.
  5. Roovers JP, van der Bom JG, van der Vaart CH, et al; Hysterectomy and sexual wellbeing: prospective observational study of vaginal hysterectomy, subtotal abdominal hysterectomy, and total abdominal hysterectomy. BMJ. 2003 Oct 4;327(7418):774-8.