การตรวจทางทวารหนัก (Rectal examination)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คืออะไร?

การตรวจทางทวารหนัก (Rectal examination) คือ การตรวจร่างกายวิธีหนึ่งที่แพทย์ใช้นิ้วสอดใส่เข้าในช่องทวารหนักในการตรวจคลำอวัยวะต่างๆในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย เพื่อช่วย วินิจฉัยหาสาเหตุโรคกรณีผู้ป่วยมีอาการเกี่ยวกับอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น อุจจาระเป็นเลือด  ท้องผูกเรื้อรัง หรือลำปัสสาวะไม่พุ่งเหมือนปกติเมื่อถ่ายปัสสาวะ  

อนึ่ง:

  • เนื้อเยื่อ/อวัยวะในอุ้งเชิงกราน ได้แก่ ทวารหนัก กระเพาะปัสสาวะ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และเฉพาะในเพศหญิงคือ ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก และรังไข่, ส่วนในเพศชาย คือ ต่อมลูกหมาก
  • ชื่ออื่นของการตรวจทางทวารหนัก เช่น  Per rectal examination เรียกย่อว่า 'พีอาร์/PR',  หรือ Digital rectal examination เรียกย่อว่า 'ดีอาร์อี/DRE'

การตรวจทางทวารหนักมีประโยชน์อย่างไร?

 

ประโยชน์ที่ได้จากการตรวจทางทวารหนัก ทั่วไป คือ

  • ช่วยวินิจฉัยโรคที่เกิดรอบๆปากทวารหนัก เช่น หูด, แผลรอยแยกขอบทวารหนัก, โรคฝีคัณฑสูตร
  • ช่วยคัดกรองโรค (การตรวจในขณะโรคยังไม่แสดงอาการ)ของทวารหนักและเนื้อเยื่อ/อวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น โรคต่อมลูกหมากโต โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้น บางโรงพยาบาล แพทย์จึงใช้เป็นวิธีการตรวจวิธีหนึ่งในการตรวจสุขภาพประจำปี
  • ช่วยวินิจฉัยโรคที่เกิดกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะในอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะการมีก้อนเนื้อ เช่น โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคเนื้องอกมดลูก เป็นต้น
  • ช่วยหาสาเหตุของการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เช่น มีแผลในทวารหนัก โรคริดสีดวงทวาร เป็นต้น
  • ช่วยวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอักเสบ
  • ช่วยวินิจฉัยหาสาเหตุของกลั้นอุจจาระไม่อยู่หรืออุจจาระเล็ด
  • ได้สารคัดหลั่งจากทวารหนักเพื่อการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น อุจจาระ และเมือกต่างๆ
  • ได้อุจจาระจากทวารหนักเพื่อการตรวจอุจจาระ และเพื่อการเพาะเชื้อจากอุจจาระ

ข้อบ่งชี้การตรวจทางทวารหนักมีอะไรบ้าง?

ข้อบ่งชี้ในการตรวจทางทวารหนัก ทั่วไป คือ

  • เมื่อผู้ป่วยมีอุจจาระผิดปกติ เช่น เป็นมูก มูกเลือด เป็นเลือด หรือลำอุจจาระเล็กผิดไปจากเดิม หรืออุจจาระเป็นเม็ดกระสุน
  • มีอาการผิดปกติทางการขับถ่ายอุจจาระ เช่น ปวดเบ่ง อาการคล้ายถ่ายอุจจาระไม่หมด กลั้นอุจจาระไม่อยู่ หรือ อุจจาระเล็ด เป็นต้น
  • หาสาเหตุปวดท้องน้อยเฉียบพลัน เช่น ไส้ติ่งอักเสบ หรือท้องนอกมดลูก
  • หาสาเหตุปวดท้องน้อยเรื้อรัง เช่น เนื้องอกต่างๆของเนื้อเยื่อ/อวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น เนื้องอกมดลูก  เนื้องอกรังไข่ ต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง
  • เมื่อมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
  • เพื่อตรวจหาระยะโรคมะเร็งของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไส้ตรง มะเร็งทวารหนัก มะเร็งต่อมลุกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก  มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก  มะเร็งรังไข่ เพราะโรคมะเร็งเหล่านี้ในระยะลุกลามจะลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆในอุ้งเชิงกรานได้
  • เมื่อมีก้อนเนื้อที่ปากทวารหนัก เช่น โรคริดสีดวงทวาร โรคมะเร็งทวารหนัก หรือโรคมะเร็งไส้ตรง
  • หาสาเหตุของท้องผูกเรื้อรัง
  • บางโรงพยาบาลใช้เป็นหนึ่งในการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อคัดกรองโรคระบบทาง เดินอาหาร

ข้อห้ามการตรวจทางทวารหนักมีอะไรบ้าง?

ไม่มีข้อห้ามการตรวจทางทวารหนัก เพราะการตรวจทางทวารหนัก เป็นการตรวจที่ง่าย ปลอดภัย ตรวจได้เลยเมื่อพบแพทย์ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ไม่ต้องใช้ยาชาหรือยาใดๆทั้งสิ้น และไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า

ข้อควรระวัง คือ เมื่อสงสัยมีการอักเสบของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย เพราะถ้าตรวจคลำแรงเกินไป อวัยวะนั้นอาจอักเสบมากขึ้น หรือเมื่อสงสัยมีแผลในทวารหนัก การตรวจคลำอาจก่อให้เกิดเลือดออกทางทวารหนักได้

เตรียมตัวอย่างไรในการตรวจทางทวารหนัก?

ไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวในการตรวจทางทวารหนัก ตรวจได้เลยเมื่อพบแพทย์ที่ห้องตรวจนอก ไม่จำเป็นต้องใช้ยาชาหรือยาอื่นใดทั้งสิ้น

มีขั้นตอนการตรวจทางทวารหนักอย่างไร?

ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนในการตรวจทางทวารหนัก เพียงแพทย์แจ้งให้ทราบถึงการตรวจและเหตุผลที่ตรวจ

การตรวจโดย ผู้ป่วยถอดกางเกง/กระโปรงออกทั้งหมด (รวมกางเกงในด้วย) นอนบนเตียงตรวจ โดยมักเป็นการนอนตะแคงด้านในก็ได้ขึ้นกับความสะดวกของแพทย์ในการตรวจโค้งงอตัวเต็มที่ โดยกอดเข่าไว้ เพื่อเปิดให้แพทย์สามารถมองเห็นปากทวารหนักได้ชัดเจน แพทย์จะใส่ถุงมือยางทางการแพทย์ และตรวจผิวหนังรอบๆปากทวารหนัก, เนื้อเยื่อบริเวณรอบๆปากทวารหนัก, หลังจากนั้น ใช้สารหล่อลื่นช่วยการสอดใส่นิ้วชี้ของแพทย์เข้าไปในช่องทวารหนักเพื่อตรวจคลำเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆที่อยู่ด้านหน้าและที่อยู่โดยรอบทวารหนัก ซึ่งในขณะตรวจแพทย์อาจสอบถามอาการที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยขณะตรวจ และมักแจ้งผลตรวจให้ผู้ป่วยทราบในขณะตรวจ

เมื่อตรวจเสร็จ แพทย์จะเช็ดทำความสะอาดสารหล่อลื่นที่ปากทวารหนักผู้ป่วย แล้วถอดถุงมือ ล้างมือ เป็นอันสิ้นสุดการตรวจ

พยาบาลจะแจ้งให้ผู้ป่วยลุกนั่ง ลงจากเตียงตรวจ และแต่งตัวให้เรียบร้อย แล้วค่อยพูด คุยปรึกษากับแพทย์ในเรื่องผลของการตรวจต่อไป

ได้ผลตรวจเมื่อไร?

ในขณะตรวจทางทวารหนัก แพทย์จะสอบถามอาการที่เกิดจากการตรวจคลำ และคอยอธิบาย และแจ้งผลการตรวจไปพร้อมกับการตรวจ ผู้ป่วยจึงทราบผลทันที

แปลผลตรวจทางทวารหนักอย่างไร?

แพทย์แปลผลจากการตรวจ โดยการสอบถามอาการจากผู้ป่วยโดยเฉพาะอาการเจ็บ/ปวดขณะแพทย์ตรวจคลำ นอกจากนั้นคือ การตรวจพบหรือตรวจคลำพบ แผล หรือก้อนเนื้อ, การได้สารคัดหลั่ง, และการได้เห็นลักษณะของอุจจาระและของสารคัดหลั่งที่ติดมากับนิ้วของแพทย์

การตรวจทางทวารหนักมีผลข้างเคียงไหม?

โดยทั่วไป ไม่มีผลข้างเคียงจากการตรวจทางทวารหนัก ยกเว้นอาจมีอาการเจ็บได้บ้างเล็กน้อยในขณะแพทย์ตรวจคลำ โดยมักเกิดในผู้ป่วยที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อ/อวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น ไส้ติ่งอักเสบ หรือมีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้บ้าง คือ ถ้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะในอุ้งเชิงกรานมีการอักเสบ การอักเสบอาจรุนแรงขึ้นได้เมื่อมีการตรวจคลำโดยแรง เช่น ในโรคต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ เป็นต้น, หรือในกรณีมีแผลในทวารหนัก การตรวจคลำอาจส่งผลให้มีเลือดออกทางทวารหนักได้บ้าง,  แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีแพทย์สงสัยมีการอักเสบของเนื้อเยื่อ/อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหรือมีแผล แพทย์จะใช้ความระมัดระวังในการตรวจคลำเสมออยู่แล้ว

หลังตรวจต้องปฏิบัติตนอย่างไร?

หลังตรวจ ผู้ป่วยอาจรู้สึกระคายเคืองที่ปากทวารหนักหรือในทวารหนักเล็กน้อย ซึ่งจะหายได้เองภายในระยะเวลาเป็นนาที นอกจากนั้น ทุกอย่างจะเป็นปกติ ดูแลตนเอง ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีข้อห้ามหรือข้อควรระวังใดๆทั้งสิ้น

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Rectal_examination   [2022,Oct15]
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK537356/  [2022,Oct15]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/1948001-overview#showall  [2022,Oct15]