โรคหัวใจ: การซ่อมรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary heart disease: Ballooning and bypass)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: หัวใจและหลอดเลือดหัวใจ

หัวใจ(Heart) เปรียบเสมือนปั๊มน้ำซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย และการที่หัวใจจะทำงานที่เป็นเสมือนปั้มน้ำให้ดีอยู่ได้นั้น จำเป็นต้องมีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ตามปกติ ซึ่งเลือดจะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจผ่านหลอดเลือดแดงที่เรียกว่า ‘หลอดเลือดโคโรนารี (Coronary artery) หรือ บางท่านเรียกว่า หลอดเลือดหัวใจ’

และโดยปกติจะมีหลอดเลือดโคโรนารีที่มีขนาดใหญ่ 3 เส้น (2 เส้นทางซ้าย และอีก1 เส้นทางขวา โดยทั้ง 3 เส้น ได้รับเลือดจากหลอดเลือดขั้วหัวใจ หรือท่อเลือดแดง หรือเอออร์ตา/Aorta) หลอดเลือดทั้ง 3 เส้นนี้จะแบ่งแยกเป็นหลอดเลือดแดงที่มีขนาดเล็กลงและเป็นหลอดเลือดฝอยในที่สุด ซึ่งนำเลือดสู่เนื้อเยื่อส่วนต่างของหัวใจรวมทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ

หลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตันได้อย่างไร?

การซ่อมรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ

หลอดเลือดแดงโคโรนารี ทำหน้าที่เหมือนท่อประปา ซึ่งเมื่อใช้ไปเป็นเวลานานๆก็จะมีเศษผง เศษผมเกาะตัวในท่อประปาเป็นตะกรันและทำให้ท่อตีบ ขวางการไหลของน้ำ ในหลอดเลือดโคโรนารีของหัวใจก็จะเกิดความเสื่อมหรือมีพยาธิสภาพขึ้นในลักษณะคล้ายกัน คือเกิดการสะสมของไขมันและหินปูนในผนังของหลอดเลือด เกิดเป็นก้อนคล้ายตะกรันทั่วๆไป แต่ในบางส่วนโดยเฉพาะส่วนต้นของหลอดเลือดจะมีการสะสมจนก้อนไข มันยื่นเข้ามาในรูของหลอดเลือด และทำให้รูภายในหลอดเลือดตีบ(โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ Coronary artery disease หรือย่อว่า ซีเอดี/แคด/CAD หรือ Coronary heart disease ซึ่งย่อว่า ซีเอชดี/CHD) ซึ่งเมื่อตีบมาก ก็จะขวางการไหลของเลือดไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนั้น หลอดเลือดโคโรนารียังมีการขยายและหดตัวได้ รวมทั้งก้อนไขมันที่สะสมที่ผนัง สามารถแตกหรือฉีกออกเป็นแผลและก่อให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งส่งผลให้เกิดหลอดเลือดอุดตันฉับพลัน หรือ เฉียบพลัน ทันทีได้

เมื่อหลอดเลือดโคโรนารีตีบมากขึ้นจากการสะสมของไขมันมากขึ้น หรือเกิดการหดตัวตีบมากขึ้นเป็นระยะๆ จะทำให้เกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลง และถ้าปริมาณเลือดที่ลดลงไม่พอกับความต้องการ (ไม่ว่าจะเป็นความต้องการตามปกติที่ร่างกายอยู่เฉยๆไม่มีการออกกำลัง/การออกแรง หรือ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการเพิ่มขึ้นเมื่อร่างกายมีการออกกำลัง/ออกแรง หรือในภาวะมีความเครียดสูง) จะทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ซึ่งอาการจะหายไปต่อเมื่อมีความสมดุลกลับมาใหม่ ระหว่างปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจกับภาวะความต้องการเลือด หรือ ออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งก็คืออาการดีขึ้น เมื่อผู้ป่วยหยุดออกกำลัง/ออกแรง หรือไม่ก็มีความเครียดคลายลง (หัวใจจึงทำงานลดลง)

ในบางโอกาส ก้อนไขมันที่สะสมตามส่วนต่างๆของหลอดเลือดโคโรนารี มีการแตกเป็นแผล ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด ทำให้ปริมาณเลือดขาดหายไปเลย ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับ พลัน หรือ เฉียบพลัน ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกมาก และเจ็บอยู่นาน ในบางราย เกิดการทำงานของหัวใจล้มเหลว หรือ หัวใจวาย(Heart failure) ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างฉับพลันทันทีได้ หรือไม่ก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ควรรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบเมื่อไร?

หลอดเลือดหัวใจโคโรนารีที่เสื่อมมาก จะส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วย มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง และบ่อยครั้งเป็นสาเหตุการเสียชีวิต อาการของการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น จะเป็นอาการแน่นและเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก อึดอัด นอนราบไม่ได้ ไม่สามารถใช้ชีวิตหรือทำงานได้ตามปกติ เช่นไม่สามารถออกกำลัง/ออกแรง เดินขึ้นลงบันได ทำสวน และ/หรืออาบน้ำได้ เพราะมีอาการเจ็บแน่นหัวใจ ดังนั้นจะต้องถึงเวลาซ่อมรักษาหลอดเลือดโคโรนารี ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมากและไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยเฉพาะเมื่อได้รับการรักษาทางยาแล้ว อาการที่กล่าวถึงไม่ดีขึ้นเลย หรือ ยังมีความจำกัดของการประกอบภารกิจในชีวิตประจำวัน รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูง เนื่องจากภาวะหลอดเลือดตีบหรือตันมาก จนมีการบีบตัวลดลงของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว

รักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างไร?

นอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว ยังมีการรักษาที่เปรียบเสมือนกับการซ่อมหลอดเลือดโคโรนารีอยู่ 2 วิถีทาง โดยมีหลักการคือ เพื่อเพิ่มเลือดไป สู่กล้ามเนื้อหัวใจให้พอเพียงกับความต้องการ ซึ่งการรักษา 2 วิถีทางนี้คือ การขยายหลอดเลือด และการทำผ่าตัดต่อทางเบี่ยง(ทางเลี่ยง)หลอดเลือด ซึ่งก่อนจะเลือกวิธีไหนนั้น จำเป็นจะต้องรู้ถึงลักษณะของหลอดเลือดโคโรนารีของผู้ป่วยแต่ละคนจากการสวนหัวใจและฉีดสี(สารน้ำชนิดหนึ่ง ซึ่งภาย หลังการฉีดเข้าหลอดเลือดต่างๆ จะช่วยให้เห็นหลอดเลือด และเนื้อเยื่อต่างๆได้ชัดเจนขึ้น) เพื่อใช้เป็นเครื่องตัดสินใจ

การสวนหัวใจและการฉีดสีเข้าหลอดเลือดโคโรนารี เป็นการวินิจฉัย โรควิธีหนึ่ง ซึ่งเอื้อประโยชน์หลายอย่างต่อการดูแลรักษา การวินิจฉัยวิธีนี้ อาศัยการสอดใส่ท่อสายพลาสติกขนาดเล็กที่ปราศจากเชื้อโรคเข้าสู่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ขาหนีบหรือที่ข้อพับแขน ย้อนเข้าไปสู่หัวใจ(เรียกว่าสวนหัวใจเพราะสวนทางเดินของเลือดกลับไปสู่หัวใจ) และไปจ่ออยู่ตรงทาง ออกของหลอดเลือดโคโรนารี จากนั้นฉีดสี ผ่านท่อนี้ พร้อมกับถ่ายรูปของหลอดเลือดโคโรนารี และของหัวใจ โดยใช้กล้องเอกซ์เรย์พิเศษ ซึ่งหัตถการ(การตรวจ)นี้จะทำในห้องปฏิบัติการเฉพาะที่เรียกว่าห้องสวนหัวใจ หรือ ห้องแคทแลบ(Cath lab, cardiac catheterization laboratory)

การวินิจฉัยโดยวิธีสวนหัวใจนี้ เอื้อประโยชน์มากกว่าโทษ (โทษ/ผล ข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ภาวะเลือดออกจากแผลบริเวณสอดสายท่อ ผนังหลอดเลือดหัวใจเกิดแผลจากสายสวน ภาวะหัวใจเต้นเสียจังหวะ/หัวใจเต้นผิดจังหวะ/ Arrhythmia และ/หรือไตทำงานได้น้อยลงอาจจากการแพ้สาร/สีที่ฉีดเข้าหลอดเลือด) ซึ่งในปัจจุบัน มีการทำหัตถการสวนหัวใจและฉีดสีอยู่เป็นประจำในประเทศไทย โดยในแต่ละปี มีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยวิธีนี้ มากกว่า 25,000 รายต่อปี ซึ่งมีผู้ป่วยน้อยกว่า 0.5% ที่อาจเกิดโทษ (น้อยกว่า 5 คนจากผู้ป่วย 1,000 คน) และการวินิจฉัยวิธีนี้ส่วนใหญ่ไม่ต้องค้างคืนอยู่โรงพยาบาล และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงเกินไปนัก

ข้อมูลที่ได้จากการสวนหัวใจและฉีดสีคือ ลักษณะการตีบตัน ตำแหน่ง จำนวนของหลอดเลือดที่มีปัญหา ลักษณะหลอดเลือด และการทำงานบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ แพทย์ต้องการเพื่อใช้ช่วยเลือกวิถีทางการรักษาว่า จะเป็นการรักษาทางยาต่อ หรือ จะใช้การขยายหลอดเลือด หรือจะต้องทำผ่าตัดต่อทางเบี่ยงหลอดเลือด

การรักษาด้วยบอลลูนหรือลูกโป่งคืออย่างไร?

การซ่อมรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดโคโรนารี มีปรัชญา หรือ หลักคิดคือ การทำให้รูภายในหลอดเลือดโคโรนารีมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเลือดสามารถไหลได้สะดวกเพิ่มขึ้น และอย่างเพียงพอแก่ความต้องการของกล้ามเนื้อหัวใจ การขยายหลอดเลือดไม่ได้ทำให้ก้อนไขมันหายไป แต่จะทำให้ลักษณะโครงสร้างในการตีบตันเปลี่ยนไป จึงมีรูไหลของเลือดใหญ่ขึ้น

การรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดโคโรนารี เริ่มขึ้นในในปี ค.ศ. 1977 โดยเป็นการสอดใส่ลูกโป่ง/บัลลูน(Balloon)ขนาดเล็กที่ยังแฟบอยู่ (และถ้าใช้แรงดันเป่าก็จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับของหลอดเลือดโคโรนารี)เข้าไปในหลอดเลือดโคโรนารี ผ่านท่อสายพลาสติกที่ใช้ฉีดสี และใช้แรงดันเป่าลูกโป่งให้ขยายขึ้น ส่งผลให้มีการเบียดดันก้อนไขมันให้ชิดกับผนังหลอดเลือดมากขึ้น รูท่อหลอดเลือดจึงมีขนาดใหญ่ขึ้น และใช้การฉีดสีเป็นตัวบ่งชี้ผลการรักษา ซึ่งในสมัยแรก(ตั้งแต่ปี 1977 ถึง 1995)ที่ใช้การขยายด้วยลูกโป่งเพียงอย่างเดียวเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นการรักษาที่ได้ผลดีมาก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและไม่เจ็บแน่นหัวใจ และ ผู้ป่วยหลายราย สามารถรอดชีวิตจากภาวะหลอดเลือดโคโรนารีอุดตันฉับพลันมากขึ้น

การรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดโคโรนารีได้มีการพัฒนาอย่างต่อ เนื่อง เพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการใช้ลูกโป่งเพียงอย่างเดียว อันได้แก่การฉีกขาดของหลอดเลือดโคโรนารี (ซึ่งในบางรายต้องได้รับการแก้ไขด้วยการทำผ่าตัดต่อหลอดเลือดทางเบี่ยงฉุกเฉิน) และการกลับมาตีบใหม่ของหลอดเลือด โดยได้มีการประดิษฐ์คิดค้นวิธีการเพิ่มเติม เช่น การใช้หัวกรอกากเพชร และการใช้พลังงานแสงเลเซอร์ เพื่อกัดกร่อนเอาก้อนไขมันหรือหินปูนออกบ้างเพื่อให้การขยายตัวของลูกโป่งง่ายขึ้น จนกระทั่งถึงปัจจุบัน สิ่งที่ทำร่วมไปกับการขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่งในคนไข้ส่วนใหญ่ที่ได้ รับการรักษาด้วยวิถีทางนี้ จะเป็นการใส่ขดลวดค้ำยันไว้ในหลอดเลือดโคโรนารีอย่างถาวร หรือที่เรียกว่าสะเตนท์(Stent)

การใส่ขดลวด ลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องจากการขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่งเพียงอย่างเดียวได้มาก การรักษาด้วยวิถีทางนี้มีอัตราความสำเร็จโดยไม่เกิดผลข้างเคียงมากกว่า 95% มีอัตราความสำเร็จแต่อาจเกิดผลข้างเคียงได้ประมาณ 3.5% มีอัตราเกิดผลข้างเคียงและต้องทำผ่าตัดทางเบี่ยงฉุกเฉินประมาณ 1% และมีอัตราเสียชีวิตจากหัตถการนี้น้อยกว่า 0.5% (หรือพูดให้ฟังง่ายขึ้นคือ คนไข้ 100 คนที่ได้รับการขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่งและขดเลือด คาดหวังได้ว่า 95 คนจะได้ผลดี อยู่โรง พยาบาลโดยเฉลี่ย 2 วันโดยไม่เกิดผลข้างเคียง และอาการเจ็บแน่นหน้าอกลดลงมากหรือหายไป มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีก 3-4 คนอาจเกิดผลข้าง เคียงได้ คือ เลือดออกบริเวณที่เจาะหลอดเลือด และภาวะการทำงานของไตแย่ลง ผู้ป่วย 1 คน อาจได้รับการผ่าตัดต่อหลอดเลือดทางเบี่ยงฉุกเฉิน หรือเสียชีวิต) และยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งเมื่อออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว(ประมาณ 5-10 %) อาจต้องกลับมาขยายหลอดเลือดใหม่เพราะเกิดการตีบซ้ำใหม่

การทำผ่าตัดบายพาสหัวใจคืออะไร?

การซ่อมรักษาภาวะหลอดเลือดโคโรนารีตีบอีกวิถีทางหนึ่งคือ การทำผ่าตัดต่อหลอดเลือดทางเบี่ยง บางครั้งก็เรียกว่าการผ่าตัดบายพาส (Bypass) โดยมีหลักคิดดังนี้คือ หลอดเลือดที่เสื่อมตีบตัน แต่มีลักษณะหลอดเลือดส่วนปลายที่ดี ศัลยแพทย์สามารถเอาหลอดเลือดดำที่ขาหรือหลอดเลือดแดงที่ผนังหน้าอก (ที่ธรรมชาติมีเผื่อไว้และไม่ได้ใช้) มาทำเป็นหลอดเลือดบายพาสเส้นใหม่ข้ามส่วนที่ตีบตันไปต่อกับหลอดเลือดส่วนปลายที่ยังดีอยู่ เลือดก็สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากกว่าเดิม

การทำผ่าตัดบายพาส หรือ ผ่าตัดต่อหลอดเลือดทางเบี่ยง เป็นการรักษาที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เช่นจากเดิมที่ใช้หลอดเลือดดำที่ขาเพียงอย่างเดียว ก็ปรับเปลี่ยนมาใช้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงผนังหน้า อกแทน ส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้ประโยชน์ทั้งในแง่ที่ทำให้อาการแน่นหน้าอกดีขึ้นมาก จนผู้ป่วยสามารถมีชีวิตได้ตามปกติ และในผู้ป่วยบางรายสามารถต่อชีวิตให้ยืนยาว เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยยา

โดยทั่วไป การผ่าตัดบายพาส เป็นการรักษาที่ดีและปลอดภัย โดยมักมีอัตราการทำผ่าตัดที่สำเร็จและปราศจากผลข้างเคียงถึง 95% กล่าวคือผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยการทำผ่าตัดชนิดนี้ 100 คน 95 คนจะใช้เวลาอยู่โรงพยาบาล 7-10 วันและสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้หลังจากพักฟื้นที่บ้านอีก 4-6 อาทิตย์ อีก 4-5 คนอาจจะมีปัญหาทางไต ทางปอด ทางสมอง หรืออื่นๆที่อาจจะต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น และมีอัตราเสีย ชีวิตจากการผ่าตัดเพียงน้อยกว่า 1%

เลือกวิธีรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างไร?

การตัดสินเลือกวิธีการซ่อมหรือการรักษาภาวะหลอดเลือดโคโรนารีตีบนั้นแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย และในบางรายมีความซับซ้อนมากในการตัดสินใจ แต่โดยทั่วไป มักอยู่บนพื้นฐานของ อายุ ลักษณะอาการการเจ็บป่วยของหัวใจ และของหลอดเลือดโคโรนารี ภาวะความผิดปกติของอวัยวะอื่นๆ ภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม ความเชื่อทางศาสนา และของแต่ละบุคคล แต่ในหลักทางวิชาคือ ถ้ามีความเสื่อมตีบตันในหลอดเลือดเป็นเฉพาะส่วน และเป็นที่หลอดเลือดเส้นเดียวซึ่งเป็นหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่(มากกว่า 3 มิลลิเมตร) ก็มักใช้รักษาด้วยการขยายหลอดเลือดเป็นหลัก และมักมีการใส่ขดลวดค้ำยัน หรือ สะเตนท์ร่วมด้วยเสมอ แต่ถ้ามีความเสื่อมตีบตันหลายเส้น และเป็นการตีบเป็นทางยาว(ไม่ได้เป็นเฉพาะส่วน) ก็มักจะแนะนำให้รักษาด้วยการทำผ่าตัด

อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางรายซึ่งสามารถรักษาได้ทั้งสองวิธี กล่าว คือ ถ้ามีการเสื่อมตีบตันเป็นที่หลอดเลือดสองเส้น และเป็นเฉพาะที่ ก็ สามารถเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งได้ ซึ่งก็จะมีข้อดีข้อเสียต่างกัน การรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจ จะใช้เวลาไม่นานนัก ไม่ต้องเจ็บตัวจากการมีแผลมากนัก อยู่โรงพยาบาลสั้นกว่า และอาจจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาด้วยการทำผ่าตัดบายพาส แต่ก็อาจจะมีปัญหาเกิดการตีบซ้ำใหม่หลังการขยายด้วยลูกโป่งในระยะแรกๆ(ภายใน 1-2 ปีแรก) หลังจากที่รักษาไปแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับการทำผ่าตัดบายพาส การทำผ่าตัดจะเกิดโอกาสหลอดเลือดที่ต่อใหม่นั้นเสื่อมตามธรรมชาติในระยะแรกๆนั้นน้อยกว่า

นอกเหนือไปจากลักษณะหลอดเลือดที่เห็นจากการฉีดสี ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกเช่น อายุ และโรคแทรกอย่างอื่น ถ้าเป็นผู้ป่วยสูงอายุ และมีหลอดเลือดหลายเส้นตีบ แต่มีภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะอื่นร่วมไปด้วย (ไม่ได้เป็นโรคหัวใจเพียงโรคเดียว) ก็อาจจะให้การรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดเส้นสำคัญที่เป็นปัญหามากเพียงเส้นเดียว และให้การรักษาทางยาร่วมด้วยต่อไป เพื่อเลี่ยงผลข้างเคียงของการทำผ่าตัดซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงกว่าในผู้ป่วยสูงอายุ พูดในภาษาชาวบ้านก็คือ หัวใจที่ชำรุดก็เหมือนรถที่เก่าแล้ว ต้องเอาเข้าอู่ บางครั้งสามารถซ่อมนิดซ่อมหน่อยไม่ยุ่ง ยากนัก ให้วิ่งไปสบายๆถึงแม้ไม่สามารถวิ่งได้เร็วนักก็ยังดีกว่า แต่ในบาง ครั้งโดยเฉพาะในรถที่ยังไม่เก่ามากนักก็จะให้ยกเครื่องซ่อมใหญ่(ทำผ่าตัดต่อหลอดเลือดทางเบี่ยง)ไปเลยจะดีกว่า

การตัดสินใจเลือกวิธีการซ่อมรักษานั้นจะเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย และ ญาติ ซึ่งแพทย์จะอธิบายถึงความหนักหนาของโรค พยาธิสภาพของหลอดเลือดโคโรนารีที่เห็นจากการฉีดสี โรคอื่นๆที่ผู้ ป่วยมีร่วมด้วย ผลดี ผลเสียของการรักษาแต่ละวิธี และอาจต้องขอความเห็นศัลยแพทย์หัวใจร่วมไปด้วยว่า สามารถผ่าตัดบายพาสในผู้ป่วยรายนี้ได้หรือไม่ และมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดเป็นอย่างไร มาก หรือ น้อย

ทั้งนี้และทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมรักษาวิถีทางไหน แพทย์ผู้ให้คำแนะนำมักระลึกเสมอว่า พยาธิสภาพและความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แพทย์มีโอกาสและความสามารถที่จะทำให้พยาธิสภาพและความเจ็บป่วยดีขึ้น โอกาสนั้นถึงแม้จะสูงเพียงไรในตัวเลขก็ไม่ได้เป็น 100 % ในผู้ป่วยบางราย แพทย์ผู้รักษามีความตั้งใจดีที่จะทำให้สถาน การณ์ดีและประเมินว่าผลการรักษาจะออกมาดี แต่ผลข้างเคียงจากการวินิจฉัย หรือจากการรักษาก็อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีใครอยากทำให้เกิด

สรุปเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบ

ผนังหลอดเลือดโคโรนารี บ่อยครั้งมีการสะสมของไขมันในส่วนต้นของหลอดเลือด และก่อเป็นก้อนยื่นเข้ามาในรูท่อหลอดเลือด ขวางการไหลของเลือด และเมื่อก้อนไขมันแตกเป็นแผลก็ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน การขาดเลือดไปเลี้ยงของกล้ามเนื้อหัวใจจากหลอดเลือดโคโรนารีตีบตันทำให้เกิดทุพพลภาพและเสียชีวิต

การซ่อมรักษาหลอดเลือดโคโรนารีทำได้ด้วยการขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่ง และการผ่าตัดต่อหลอดเลือดทางเบี่ยง ซึ่งจะซ่อมรักษาก็ต่อ เมื่อมีคุณภาพของชีวิตที่แย่ลงเพราะเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยบ่อยๆ หรือตัวหลอดเลือดมีการตีบตันสูง หลายตำแหน่ง และ/หรือ หลายๆหลอดเลือดโคโรนารี

การเลือกวิธีซ่อมรักษาหลอดเลือดโคโรนารีนั้น ต้องอาศัยลักษณะของหลอดเลือดที่เห็นจากการฉีดสีเป็นหลัก รวมไปถึงสุขภาพร่างกายจากโรคร่วมต่างๆของผู้ป่วย ซึ่งเมื่อผู้ป่วยได้รับการซ่อมรักษาหลอดเลือดแล้วก็ยังจำเป็นต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมตามแพทย์ และพยาบาลแนะนำร่วมไปด้วยเพื่อลดโอกาสโรคกลับเป็นซ้ำอีก

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ 1

นายใจดี(นามสมมุติ)อายุ 54 ปี เป็นชาวสวนจากภาคใต้ สูบบุหรี่และใบจากเป็นนิสัย มีประวัติว่าบิดาเป็นโรคหัวใจเสียชีวิต ในสมัยก่อนโน้น ไปพบแพทย์ที่จังหวัดชุมพรด้วยอาการแน่นหน้าอกเมื่อต้องออกแรงทำสวน อาการมักจะดีขึ้นเมื่อพัก และมักจะเป็นใหม่เมื่อออกแรงมาก แพทย์ที่ชุมพรให้ยาไปทานก็มีอาการดีขึ้นสักระยะหนึ่ง โดยสามารถกลับไปทำงานได้ดีแต่ไม่เท่าเดิม ในระยะปีที่ผ่านมา อาการมักเป็นบ่อยขึ้น ต้องใช้ยาอมใต้ลิ้นบ่อยครั้ง และบางครั้งต้องใช้ต่อกันถึง 2 เม็ด บางครั้งอาการแน่นหน้าอกก็เป็นตอนกลางคืนต้องตื่นขึ้นมาอมยา แพทย์ที่ชุมพรจึงส่งผู้ป่วยต่อมายังกรุงเทพเพื่อรักษาต่อเพิ่มเติม

แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ ได้ทำการสวนหัวใจและฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เวลาในการตรวจ 1 ชั่วโมงโดยไม่เกิดผลข้างเคียง และพบว่าหลอดเลือดสำคัญส่วนต้นขั้วข้างซ้ายตีบมาก แต่หลอดเลือดส่วนปลายยังดีอยู่ การบีบตัวของหัวใจยังเป็นปกติ แพทย์ผู้ทำการสวนหัวใจได้แสดงภาพของหลอดเลือดหัวใจให้นายใจดีและญาติดู พร้อมกับอธิบายความเป็นไปของโรค ถ้าไม่ให้การรักษาที่นอกเหนือไปจากยาที่ใช้อยู่แล้วผู้ป่วย 50% มักจะเสียชีวิตภายใน 6-12 เดือนข้างหน้า ยังได้บอกว่าการรักษาทางการผ่าตัดต่อหลอดเลือดทางเบี่ยงเป็นการรักษาที่นายใจดีควรจะได้รับ โดยมีโอกาสรักษาสำเร็จ 95% หมายถึงผู้ป่วย 100 คนแบบนี้เป็นที่คาดหวังได้ว่า 95 คนมักจะออกมาดี อยู่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลา 7-10 วัน และพักฟื้นที่บ้านอีก 4-6 อาทิตย์ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ โดยมีอัตราอยู่รอดถึง 10 ปีมากกว่า 80%

นายใจดีและญาติเห็นตามที่แพทย์แนะนำและได้รับการผ่าตัดต่อทางเบี่ยงของหลอดเลือดหัวใจ ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่นายใจดีได้รับการผ่าตัด และสามารถกลับไปทำงานในสวน ออกแรงได้ตามปกติโดยไม่เคยได้ใช้ยาอมใต้ลิ้นอีกเลย อย่างไรก็ตามนายใจดีได้หยุดสูบบุหรี่อย่างถาวร เลือกอาหารที่เหมาะสม(ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ) ตามแพทย์ และพยาบาลแนะนำ และมาพบแพทย์เพื่อรับยาอยู่เป็นประจำ

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ 2

นางหทัยรัตน์(นามสมมุติ)เป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 75 ปี มีประวัติความดันโลหิต และไขมันในเลือด สูง แต่ไม่ได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง นาง หทัยรัตน์อาศัยอยู่กับลูกสาวในกรุงเทพฯและไม่ได้ทำงาน แต่มีกิจกรรมตามธรรมดาของผู้สูงอายุโดยยังใส่บาตร เข้าวัดทำบุญ ไปตลาดอยู่เป็นประจำ

นางหทัยรัตน์เริ่มมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกในราว 2-3 ปีที่ผ่านมา โดย เฉพาะเวลาต้องยกสำรับกับข้าวที่หนัก อาการเจ็บหน้าอกมักจะมาเสมอถ้าต้องทำอะไรรีบๆหรือเร็วๆ บางครั้งก็เป็นตอนขึ้นบันได

นางหทัยรัตน์ได้ไปพบแพทย์ และแพทย์ได้ทำการตรวจด้วยการเดินสายพาน พบว่าหัวใจของนางหทัยรัตน์ขาดเลือดในระดับปานกลางเพราะหลอดเลือดโคโรนารีเสื่อมและตีบ ให้เริ่มรักษาด้วยการใช้ยา แต่ นางหทัยรัตน์ก็ยังมีอาการแน่นหน้าอกอยู่บ่อยครั้ง แพทย์จึงแนะนำให้ได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเพื่อดูลักษณะของหลอดเลือดโคโรนารีด้วยการฉีดสี ซึ่งนางหทัยรัตน์และญาติเห็นด้วยกับแพทย์

ผลการฉีดสีพบว่า นางหทัยรัตน์มีหลอดเลือดโคโรนารีที่เสื่อมและตีบจริง ส่วนที่ตีบมากเป็นที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนหน้าของหัวใจ และหลอดเลือดอีกสองเส้นตีบบ้างพอสมควร แต่คิดว่าการตีบของหลอดเลือดส่วนหน้าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอาการมาก แพทย์ได้ลงความเห็นว่าลักษณะของพยาธิสภาพดังกล่าวสามารถรักษาได้ทั้งการทำผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือด หรือ จะเป็นการขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่งก็ได้ หลังจากที่ได้คุยกับนางหทัยรัตน์และญาติเกี่ยวกับทางเลือก และผลดี ผลเสียของแต่ละทาง เลือกของการรักษา ทั้งแพทย์และผู้ป่วยก็ตกลงเลือกการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจโคโรนารีด้วยลูกโป่ง ซึ่งได้ทำการขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่งพร้อมสอดใส่ขดลวดไว้ในหลอดเลือด โดยใช้เวลาทำการรักษาประมาณ 45 นาทีต่อจากที่ได้ฉีดสีไว้ นางหทัยรัตน์มีอาการแน่นหน้าอกเล็ก น้อยขณะได้รับการขยายหลอดเลือด แต่อาการหายไปในเวลาต่อมา

หลังจากขยายหลอดเลือดหัวใจแล้ว นางหทัยรัตน์ได้รับการดูแลต่อในหอผู้ป่วย และได้มีการเอาท่อตรวจที่ขาหนีบออกในเวลาต่อมา ผู้ป่วยสามารถทานอาหารได้ทันทีหลังการทำหัตถการ และสามารถลุกเดินเข้าห้องน้ำได้ใน 8 ชั่วโมงหลังจากที่เอาท่อที่ขาหนีบออก นางหทัยรัตน์สามารถกลับบ้านในวันรุ่งขึ้น และกลับไปใช้ชีวิตตามแบบผู้ป่วยสูงอายุที่ยังมีคุณภาพที่ดีได้ตามปกติ ไม่มีอาการเจ็บหน้าอกและไม่ต้องใช้ยาอม

อย่างไรก็ตาม นางหทัยรัตน์ ยังต้องปฏิบัติตัวดีในเรื่องของอาหาร ออกกำลังกายตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ และพบแพทย์อยู่เป็นประจำถึงแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาก กว่า 2 ปีหลังรับการรักษาด้วยการสวนหัวใจ ฉีดสี และขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่งและขดลวดแล้วก็ตาม