การช่วยคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ (Vacuum extraction)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

การช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศคืออะไร?

การช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศ/การช่วยการคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ/การช่วยการคลอดด้วยเครื่องดึงสุญญากาศ (Vacuum extraction ย่อว่า VE หรือ Vacuum delivery หรือ Ventouse หรือ Vacuum-assisted vaginal delivery หรือ Vacuum assisted delivery) เป็นหัตถการที่ช่วยการคออดทางช่องคลอดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีการใช้มาเป็นเวลานาน สตรีตั้งครรภ์ส่วนใหญ่สามารถคลอดทารกคลอดได้ตามปกติ แต่จะมีสตรีตั้งครรภ์กลุ่มหนึ่งที่ไม่มีแรงเบ่งเพียงพอที่จะช่วยดันทารกออกมาจากมดลูก (โดยที่ทารกในครรภ์ไม่มีผิดสัดส่วนของขนาดทารกและช่องเชิงกราน) หรือทารกในครรภ์มีหัวใจเต้นผิดจังหวะ จึงมีความจำเป็นที่แพทย์ต้องรีบให้คลอด จึงต้องมีหัตถการเพื่อช่วยให้คลอดทางช่องคลอดได้ ซึ่งวิธีการนี้จะใช้ถ้วยโลหะสแตนเลส(Stainless steel) หรือเป็นถ้วยยางซิลิโคน(Silicone rubber cup)เล็กๆไปครอบที่ศีรษะทารกฯ แล้วมีการต่อสายเข้ากับเครื่องที่เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะสุญญากาศที่ศีรษะทารก เมื่อได้ระดับสุญญากาศที่เหมาะสม แพทย์จะทำการดึงสายที่ต่อกับถ้วย พร้อมๆกับการเบ่งของมารดาขณะมีมดลูกหดรัดตัว เป็นการช่วยเสริมแรงกันกับแรงเบ่งมารดา ซึ่งสามารถช่วยให้ทารกคลอดออกมาได้

อนึ่ง ในการคลอดทั่วไป อัตราการช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศจะต่างกันในแต่ละโรงพยาบาลและในแต่ละประเทศ ซึ่งมีรายงานในสหรัฐอเมริกาจะมีการช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศประมาณ 2.6% ของการคลอดทั่วไป

สตรีตั้งครรภ์กลุ่มใดที่เสี่ยงต่อการต้องช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศ?

การช่วยคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ

สตรีตั้งครรภ์กลุ่มที่เสี่ยง/มีปัจจัยเสี่ยงต่อการต้องช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศ ได้แก่

1. อายุมาก

2. ตัวเตี้ย

3. ครรภ์แรก

4. ไม่มีแรงเบ่ง

5. ทารกอยู่ผิดท่า เช่น ท่าตะแคง นอนหงายหน้า เป็นต้น ทำให้การดำเนินการคลอดยาวนานกว่าปกติ จึงต้องมีการช่วยคลอด ให้สามารถคลอดได้ทางช่องคลอด

6. มีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องลดการเบ่งของมารดาเพื่อลดอันตรายที่จะเกิดกับมารดา เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์

7. มารดามีภาวะหัวใจเต้นไม่ปกติ แพทย์จึงต้องรีบช่วยคลอด

แพทย์จะทำการช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศเมื่อไหร่หรือมีข้อบ่งชี้อย่างไร?

แพทย์จะทำการช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศเมื่อมีข้อบ่งชี้ ดังนี้

ก. ข้อบ่งชี้ทางมารดา: ได้แก่

1. มารดาไม่มีแรงเบ่งพอ ทำให้ระยะเวลาการคลอดที่เนิ่นนานเกินปกติ แต่ต้องไม่มีภาวะผิดสัดส่วนของขนาดทารกกับขนาดของอุ้งเชิงกรานมารดา

2. มารดามีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องลดการเบ่งของมารดาเพื่อลดอันตรายที่จะเกิดกับมารดา เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ และไม่มีภาวะผิดสัดส่วนของขนาดทารกกับขนาดของอุ้งเชิงกรานมารดา

ข. ข้อบ่งชี้ด้านทารกในครรภ์: ได้แก่

1. ทารกมีหัวใจเต้นในจังหวะไม่ปกติ จึงต้องรีบช่วยคลอด

2. ทารกอยู่ผิดท่า เช่น ท่าตะแคง นอนหงายหน้า เป็นต้น ทำให้การดำเนินการคลอดยาวนานกว่าปกติ จึงต้องมีการช่วยคลอด

มีข้อห้ามใช้การช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศหรือไม่?

แพทย์จะ ไม่ทำการช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศในกรณีดังนี้

1. ทารกมีอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อสมองทารกได้

2. มีแผลบริเวณหนังศีรษะทารก

3. มีการผิดสัดส่วนระหว่างขนาดทารกและขนาดของอุ้งเชิงกรานแม่

4. ทารกอยู่ในท่าหน้า/ทารกท่าหน้า(Face presentation)

5. ศีรษะทารกยังไม่เข้าสู่อุ้งเชิงกราน

6. แพทย์ไม่สามารถบอกท่าทารกได้ชัดเจน

มารดาที่ต้องช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศต้องเตรียมตัวอย่างไร?

สตรีตั้งครรภ์ไม่สามารถรับรู้ก่อนล่วงหน้าว่าจะคลอดปกติทางช่องคลอดไม่ได้ การพิจารณาช่วยคลอดด้วยการใช้เครื่องดูดสุญญากาศ ขึ้นกับการตัดสินใจของแพทย์เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในขณะทำการคลอดบุตร แพทย์จะแนะนำให้สตรีเบ่งคลอดตอนมีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก พร้อมกับการช่วยดึงศีรษะทารกด้วยเครื่องดูดสุญญากาศเป็นการเสริมแรงกัน ก็จะช่วยให้ศีรษะทารกคลอดออกมาได้ ต่อจากนั้นจะถอดเครื่องดูดสุญญากาศออก และจะทำคลอดตัวทารกต่อไป

แพทย์ช่วยคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศอย่างไร?

เมื่อแพทย์ตัดสินใจที่จะทำการช่วยคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ ศีรษะทารกต้องอยู่ต่ำลงมาในช่องคลอด ถุงน้ำคร่ำแตกเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะเลือกถ้วย ซึ่งอาจเป็นถ้วยซิลิโคน หรือ ถ้วยโลหะฯ ขนาดที่เหมาะสมที่จะทำการครอบที่ศีรษะทารก หลังจากครอบถ้วยแล้วจะเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะสุญญากาศ ทำให้ถ้วยติดกับหนังศีรษะทารก จะมีสายต่อสำหรับให้แพทย์ดึงช่วยให้ทารกคลอด การดึงจะทำพร้อมๆกับการเบ่งของมารดาขณะที่มีการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้ทารกเคลื่อนต่ำลงมาและคลอดได้สำเร็จ การดึงแพทย์มักจะดึงไม่เกิน 3 ชุด หรือใช้เวลาประมาณ 15- 30 นาที แต่หากไม่สำเร็จต้องหยุดหัตถการช่วยคลอดนี้ และ รีบทำการผ่าตัดคลอดต่อไป

ข้อด้อยของการช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศมีอะไรบ้าง?

มีโอกาสช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศไม่สำเร็จได้ 10-20% ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น มีการผิดสัดส่วนของอุ้งเชิงกราน การเลือกใช้ถ้วยดูดหนังศีรษะขนาดที่ไม่เหมาะ เทคนิคการดึงไม่เหมาะสม เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนจากการช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศมีอะไรบ้าง?

การช่วยคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศอย่างถูกวิธี จะทำให้เกิดอันตรายต่อมารดาและต่อทารก/ภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)น้อย แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น

ก. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับมารดา: มีได้ดังนี้

1. มีการฉีกขาดของช่องทางคลอดเพิ่มมากขึ้น หรือการฉีกขาดของปากมดลูก หากวางถ้วยดูดสุญญากาศไม่เหมาะสม

2. มีโอกาสติดเชื้อที่แผลฝีเย็บมากขึ้นหาก แผลฯมีขนาดใหญ่ และ/หรือเนื้อเยื่อฝีเย็บชอกช้ำมาก

3. ตกเลือดหลังคลอด ซึ่งอาจเกิดจาก ทารกตัวโตจึงทำให้เกิดปัญหาคลอดยากจึงต้องใช้เครื่องดูดสุญญากาศช่วยการคลอด

ข. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับทารก: ได้แก่

1. ศีรษะปูดบวมตามรอยที่วางถ้วยดูดสุญญากาศ แต่อาการจะดีขึ้นเป็นปกติในเวลาไม่กี่วัน

2. หนังศีรษะทารกถลอกหรือเกิดแผล หากมีการไถลเลื่อนหลุดของถ้วยดูดสุญญากาศ

3. มีเลือดออกใต้หนังศีรษะ ซึ่งเลือดจะค่อยๆถูกร่างกายดูดซึมหายไปได้เองในระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์

ทารกที่เกิดการช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศมีปัญหาหรือไม่?

หากมีการประเมินขนาดทารก ขนาดช่องเชิงกรานได้ถูกต้อง การเลือกใช้อุปกรณ์ได้เหมาะสมส่วนมากไม่มีปัญหาในการช่วยคลอด ยกเว้นในกรณีที่ทารกตัวโตที่อาจมีอาการชอกช้ำมากจากการดึงหลายครั้ง หรือเลือกขนาดถ้วยดูดสุญญากาศไม่เหมาะสม ทำให้ถ้วยดูดที่ศีรษะทารกหลุดบ่อย ก็ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อมารดาและทารกได้ตามที่กล่าวมาแล้ว

ในครรภ์ต่อไปต้องมีการช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศอีกหรือไม่?

ในครรภ์ครั้งต่อไป มารดามีโอกาสต้องมีการช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศ หากยังมีปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ”

หลังคลอดด้วยการช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศนานเทาไหร่ จึงจะตั้งครรภ์ ครั้งใหม่ได้?

เหมือนสตรีหลังคลอดทั่วไป มารดาควรเว้นระยะการมีบุตรไป 2-3 ปี เพื่อสามารถเลี้ยงดูบุตรคนแรกได้เต็มที่

ดูแลตนเองอย่างไรหลังคลอดด้วยการดูดสุญญากาศ?ควรมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่?จึงจะตั้งครรภ์ ครั้งใหม่ได้?

ภายหลังคลอดด้วยการดูดสุญญากาศ การดูแลตนเองเหมือนสตรีระยะหลังคลอดทั่วไป ที่รวมถึงการรักษาความสะอาดของแผลที่ฝีเย็บ การรับประทานอาหารมีประโยชน์ 5หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน และปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาล

นอกจากนั้น หากมี ความชอกช้ำของแผลฝีเย็บมาก เสียเลือดมากขณะคลอด ต้องระวังการติดเชื้อแผลฝีเย็บ ดังนั้นจึงควรรับประทานยาปฎิชีวนะตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ส่วนการมีเพศสัมพันธ์หลังคลอด ควรให้แผลฝีเย็บหายสนิทก่อน รวมถึงให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง โดยทั่วไปสามารถมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดได้ประมาณ 6 สัปดาห์ และหากต้องการคุมกำเนิด ควรต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อขอคำแนะนำถึงวิธีคุมกำเนิดก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์

หลังคลอดด้วยการดูดสุญญากาศ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?จึงจะตั้งครรภ์ ครั้งใหม่ได้?

หลังคลอดด้วยการดูดสุญญากาศ โดยทั่วไปแพทย์จะนัดตรวจหลังคลอด ประมาณ 4-6 สัปดาห์

แต่หากมีภาวะการติดเชื้อ จะมีอาการปวดแผลฝีเย็บมากผิดปกติ ตกขาวเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น มีไข้ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด

ส่วนคนที่ผ่าตัดคลอด ควรสังเกตว่า ถ้ามีไข้ แผลปวดผ่าตัดผิดปกติ มีหนองไหลจากแผล มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเช่นกัน

ป้องกันการคลอดด้วยการดูดสุญญากาศได้หรือไม่?

การป้องกันการช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศ บางกรณีอาจป้องกันได้ คือ การป้องกันไม่ให้ทารกในครรภ์มีขนาดตัวใหญ่เกินไป โดยต้องมีการเพิ่มน้ำหนักตัวมารดาขณะตั้งครรภ์อย่างพอดี และหากมารดาเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ดี เพราะการช่วยคลอดด้วยวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่แพทย์จำเป็นต้องรีบช่วยคลอดทารก

อนึ่ง ในกรณีที่ครรภ์แรกต้องมีการช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศเนื่องจากแรงเบ่งมารดาไม่เพียงพอ ก็มีโอกาสเกิดซ้ำได้ในครรภ์ต่อมา ซึ่งแพทย์ผู้ดูแลมักมีการเตรียมพร้อมไว้เสมอ แต่อย่างไรก็ตามในครรภ์ต่อมา อาจไม่ต้องใช้การช่วยคลอดด้วยการดูดสุญญากาศ เพราะแม่มีประสบการณ์ในการช่วยเบ่งคลอดคลอดแล้วก็ได้

บรรณานุกรม

  1. http://www.aafp.org/afp/2000/0915/p1316.html[2017,Sept2]
  2. https://www.uptodate.com/contents/procedure-for-vacuum-assisted-operative-vaginal-delivery?[2017,Sept2]
  3. https://www.uptodate.com/contents/operative-vaginal-delivery[2017,Sept2]