กล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง (Sleep myoclonus)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ผมมั่นใจว่า หลายต่อหลายคนต้องเคยเกิดอาการรู้สึกมีความผิดปกติที่ ขา นิ้ว และกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆของร่างกายระหว่างนอน ไม่ว่าจะรู้สึกเหมือนมีแมลงมาไต่ ขากระตุก ขาขยับไปมา ต้องลุกขึ้นเดินเพราะปวดขา หรือเหมือนมีใครมาจับขาเราให้เคลื่อนไหว เป็นต้น อาการเหล่านั้น เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะตรวจไม่พบความผิดปกติอะไร จะบอกใครก็บอกไม่ถูกว่าเป็นอะไร แต่อาการเหล่านั้นส่งผลต่อการนอนหลับของเราแน่ๆ ทางการแพทย์เรียกอาการที่เกิดแบบนี้ว่า “โรค/ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง/กล้ามเนื้อกระตุกที่ไม่รุนแรงขณะหลับ(Sleep myoclonus)” มาทำความรู้จักกับภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงนี้กันดีกว่าครับว่า มีรายละเอียดโรค/ภาวะนี้เป็นอย่างไร ติดตามดูครับ

ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงพบบ่อยหรือไม่?

กล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง

ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลทางการศึกษาอย่างเป็นระบบที่แน่ชัดว่า ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง พบได้บ่อยมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากการพบภาวะดังกล่าวนั้น พบได้หลากหลายสาเหตุจนทำให้ยากต่อการศึกษาความบ่อย/ความชุกที่แน่ชัดของการเกิดโรคนี้/ภาวะนี้ได้ แต่เป็นภาวะพบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย พบได้ทุกวัยตั้งแต่ทารกจนกระทั่งผู้สูงอายุ มีบางการศึกษาพบความชุกประมาณร้อยละ 4(4%) ของประชากร พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ บางการศึกษาที่ศึกษาเฉพาะในผู้สูงอายุ พบได้มากกว่าร้อยละ25(25%) ของผู้สูงอายุ เป็นต้น

ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงมีลักษณะอาการอย่างไร?

ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง จะมีอาการหดตัวหรือกระตุกของกล้ามเนื่อบริเวณ นิ้วมือ นิ้วเท้า ขา ริมฝีปาก กล้ามเนื้อรอบตา ก็ได้ เป็นการกระตุกหรือหดตัวในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนการนอนหลับลึก หรือช่วงแรกๆของการนอน แต่อาการนั้นจะไม่รุนแรงจนรบกวนการนอนมากนัก

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงได้สูง?

ผู้มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงนั้น ได้แก่

  • ผู้ที่มีโรคทางระบบประสาท(โรคสมอง) เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรค พาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม โรคลมชัก
  • โรคหัวใจวาย
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคโลหิตจาง
  • ผู้สูงอายุ

ภาวะภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงต้องแยกจากโรคใดบ้าง?

อาการของภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง มีลักษณะคล้ายกับ อาการของ โรค/ภาวะ/กลุ่มอาการ ขาอยู่ไม่สุข (Restless leg syndrome : RLS) และโรค/ภาวะขากระตุกขณะหลับ (Periodic limb movement disorder : PLMD)

อาการจากโรค RLS นั้น จะพบว่ามีอาการช่วงแรกของการนอน ยังนอนไม่หลับ หรือเกิดในช่วงค่ำของวัน หรือมีอาการขณะนั่งเล่นตอนค่ำๆ หรือมีกิจกรรมที่ต้องนั่งนานๆ เช่น นั่งดูทีวี ภาพยนตร์ หรือประชุมก็ได้ มีอาการรู้สึกเหมือนมีแมลงมาไต่ที่ขา ปวดที่น่อง ที่ขาจนกระทั่งรบกวนการนอน ต้องลุกขึ้นมาเดิน

ส่วนโรค PLMD นั้น มีอาการขาขยับ/กระตุกขณะนอนหลับไปแล้ว แต่ไม่มีอาการรู้สึกว่ามีแมลงมาไต่ที่ขา หรืออยากขยับขาเหมือน RLS แต่จะได้ประวัติขาขยับ กระตุกจากผู้ที่นอนอยู่ด้วยกัน และมักเกิดอาการช่วงครึ่งแรกของการนอน

แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงอย่างไร?

แพทย์จะให้การวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง จากอาการที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟัง และการตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท ไม่พบความผิดปกติอื่นๆ แพทย์ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือตรวจเอมอาร์ไอสมอง และไม่จำเป็นต้องตรวจการนอนด้วย แต่อย่างใด อาจเพียงส่งตรวจเลือดเพื่อหาภาวะ/โรคร่วมที่อาจพบได้ เช่น ภาวะไตเสื่อม/โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน เป็นต้น

ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงเกิดขึ้นได้อย่างไร? อะไรเป็นสาเหตุ?

ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง ยังไม่ทราบกลไกการเกิดที่แน่ชัด แต่แพทย์สันนิษฐานว่า มีควาผิดปกติในสมอง และมีความเกี่ยวข้องกับสาเหตุภายนอกอื่นๆ เช่น ดื่มกาแฟ/เครื่องดื่มกาเฟอีน กินยาต้านเศร้า ยาลิเที่ยม(Lithium) ยาแก้อาเจียน ยากันชัก ภาวะซีด ภาวะไตเสื่อม/โรคไตเรื้อรัง หัวใจวาย มีน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น

ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงสามารถติดต่อได้หรือไม่?

ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงไม่สามารถติดต่อกันได้ และยังไม่มีข้อมูลด้านพันธุกรรมที่ถ่ายทอดสู่คนในครอบครัว

เมื่อไรควรไปพบแพทย์?

โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการของกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง จะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ไม่รบกวนคุณภาพการนอนมากนัก

ดังนั้นควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการที่รุนแรงจนรบกวนการนอน หรือส่งผลให้นอนไม่หลับจนเกิดการง่วงเวลากลางวันจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือเมื่อกังวลในอาการ

ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงรักษาอย่างไร?

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง คือ การอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าอาการนั้นไม่รุนแรง ไม่มีอันตรายอะไร แต่ถ้าอาการรุนแรงจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยา ยาที่ได้ประโยชน์ เช่น ยาโคลนาซีแพม(Clonazepam) กาบาเพ็นติน(Gabapentin) เป็นต้น

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงได้ผลดีหรือไม่?

การรักษากล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงส่วนใหญ่ได้ผลดี/มีการพยากรณ์โรคที่ดี แต่ต้องรักษาควบคุมโรคร่วม/โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดีด้วยกรณีที่มีโรคร่วมดังกล่าวข้างต้น

ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงนั้น ถ้าอาการรุนแรงขึ้นก็อาจมีการดำเนินโรค/ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนไปเป็นอาการโรคขาอยู่ไม่สุข (Restless leg syndrome : RLS) และ/หรือ ภาวะขากระตุกขณะหลับ (Periodic limb movement disorder : PLMD) ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต จนอาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้ด้วย

การดูแลตนเองควรทำอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง จะโดย

  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการนี้ คือ การดื่มกาแฟ/สารกาเฟอีน แอลกอฮอล์ และ
  • รักษาควบคุมโรคร่วม/โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะนี้กรณีมีโรคเหล่านั้นให้ได้ดี ถ้าแพทย์ให้ทานยา ก็ต้องทานยาให้สม่ำเสมอ และ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

เมื่อมีภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • มีอาการที่รุนแรงมากขึ้น จนส่งผลต่อการนอนหลับ
  • มีผลแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)จากยาที่แพทย์ใช้รักษาจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เวียนศีรษะมาก เป็นต้น
  • เมื่อกังวลในอาการ

สามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงได้หรือไม่?

กรณีมีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมดังกล่าวในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ” ต้องรักษาดูแลควบคุมโรคเหล่านั้นอย่างดี ซึ่งจะเป็นการป้องกันการเกิดภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรงได้

สรุป

อาการแปลกๆ ระหว่างนอนนั้น เป็นภาวะผิดปกติอย่างหนึ่งของร่างกายเรา ไม่ได้เกิดจากสิ่งเร้นลับนะครับ โปรดดูแลสุขภาพด้วยครับ