กลุ่มอาการลืมชั่วคราว (Transient Amnesic Syndrome)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

“ฉันมาทำอะไรบนเวทีนี้ และพวกเธอมาทำอะไรกัน ฉันงงหมดแล้ว” เหตุการณ์แบบนี้เกิด ขึ้นได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็ทำให้ผู้ที่มีอาการและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เกิดความตกใจและสับสนว่าเป็นอะไรไป เป็นอาการของโรคสมองเสื่อม หรืออาการของโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาตหรือไม่ ซึ่งแพทย์เรียกลักษณะอาการแบบนี้ว่า “กลุ่มอาการลืมชั่วคราว (Transient amnesic syndrome)” เรามาทำความรู้จักความผิดปกตินี้กันดีกว่าครับ

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวคืออะไร?

กลุ่มอาการลืมชั่วคราว

 กลุ่มอาการลืมชั่วคราว คือ กลุ่มอาการที่ผู้ป่วยมีอาการลืมเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งในส่วนเหตุการณ์ปัจจุบันและเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งอาการเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็วและหายได้เองโดยไม่มีอาการผิดปกติอย่างอื่นๆเกิดร่วมด้วย

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวมีสาเหตุจากอะไร?

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวมีสาเหตุได้ 3 สาเหตุหลักคือ

  1. Transient global amnesia (TGA) หรือกลุ่มอาการลืมเหตุการณ์ทั้งหมดชั่วคราว
  2. Transient epileptic amnesia (TEA) หรือกลุ่มอาการลืมชั่วคราวเหตุจากการชัก
  3. Psychogenic amnesia หรือกลุ่มอาการลืมชั่วคราวเหตุทางจิตเวช

อ่านคำอธิบายเพิ่มเติมในหัวข้อ “กลุ่มอาการลืมชั่วคราวมีลักษณะความผิดปกติอย่างไร?”

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวมีกลไกการเกิดได้อย่างไร?

กลไกการเกิดกลุ่มอาการลืมชั่วคราวยังไม่ทราบแน่ชัด โดยอาจเกิดจาก

  • สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack)
  • โรคปวดศีรษะไมเกรน (Migraine variant)
  • ผลจากโรคลมชักเหตุสมองกลีบขมับ (Temporal lobe epilepsy)
  • การคั่งของเลือดดำ (Venous congestion) ในสมองเนื่องจากมีการขัดขวางการไหลเวียน ของเลือดดำ (Cerebral venous outflow) ทำให้มีการขาดเลือดบริเวณสมองส่วนธาลามัส (Thalamus)หรือสมองส่วนกลีบขมับ (Mesial temporal lobe) ซึ่งสมองส่วนดังกล่าวทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ
  • รวมทั้งยังมีการศึกษาที่พบว่าอาจเกิดจากสมองส่วนฮิปโปแคมพัส (Hippocampus) มีการขาดเลือด ตรวจ พบได้จากการตรวจสมองด้วยเอมอาร์ไอ/MRI เทคนิคเฉพาะคือ MRI with DWI/MRI with diffusion weight ingredient

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวพบบ่อยหรือไม่?

ไม่มีข้อมูลการศึกษาที่แน่ชัดถึงสถิติการเกิดกลุ่มอาการลืมชั่วคราว ในสหรัฐอเมริกาพบประมาณ 5.2 รายต่อประชากร 100,000 ราย แต่จะพบบ่อยในผู้มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปโดยพบสูงเป็น 5 - 10 เท่าของประชากรกลุ่มอื่นๆ พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวมีลักษณะความผิดปกติอย่างไร?

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวมีลักษณะความผิดปกติดังนี้

  1. กลุ่มอาการ Transient global amnesia (TGA) หรือกลุ่มอาการลืมเหตุการณ์ทั้ง หมดชั่วคราว: เป็นกลุ่มอาการที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน พบบ่อยในผู้สูงอายุ มีอาการสูญเสียความจำอย่างเฉียบพลัน จะสูญเสียความจำแบบไปข้างหน้าเป็นหลัก (Anterogradeamnesia) คือไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วงเกิดกลุ่มอาการฯได้ร่วมกับการสูญเสียความจำแบบย้อนหลัง (Retrograde amnesia) คือลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเกิดกลุ่มอาการนี้ไม่นาน เช่น ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะเริ่มมีอาการครั้งนี้ประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นต้น และมักจะเรียกชื่อคนไม่ถูกจึงทำให้เกิดความกังวลอย่างมาก ผู้ป่วยจึงมักถามซ้ำๆว่า มาทำอะไร ใครเป็นใคร อยู่ที่ไหน วันนี้วันอะไร และเมื่อบอกไปแล้วก็ยังจำไม่ได้ จึงถามซ้ำ แต่จะไม่สูญเสีย ความจำส่วนที่เกิดขึ้นมานานแล้ว (Remote memory) และพฤติกรรม ความรู้ ความสามารถอื่นๆ ปกติดี บางรายอาจมีอาการปวดหัวร่วมด้วย อาการดังกล่าวจะเป็นอยู่ชั่วคราวไม่นานมากกว่า 4 - 6 ชั่วโมงและจะหายดีภายใน 24 ชั่วโมง และเมื่อหายดีก็จะจำเหตุการณ์ต่างๆได้ทั้งหมด แต่ก็ยังอาจจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วงเกิดอาการไม่ได้สมบูรณ์ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง(EEG) ในกรณีของ TGA นั้นจะไม่พบความผิดปกติ
  1. กลุ่มอาการ Transient epileptic amnesia (TEA) หรือกลุ่มอาการลืมชั่วคราวเหตุจากการชัก: พบในผู้ป่วยวัยกลางคนถึงสูงอายุ มีอาการขึ้นมาทันทีในขณะเดินหรือทำกิจกรรม ส่วนใหญ่จะสูญเสียความจำทั้งส่วนไปข้างหน้า (Anterograde amnesia) และสูญเสียความจำส่วนย้อนหลัง (Retrograde amnesia) ไปมากกว่ากลุ่มอาการ TGA โดยอาจเสียความจำย้อน หลังไปเป็นหลายชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นเดือนก็ได้ ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และอาการที่เกิดขึ้นเป็นอยู่ไม่นาน เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆน้อยกว่า 1 ชั่วโมง อาจพบร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆเช่น การถูมือไปมา (Hand automatism) การเคี้ยวปาก (Lip smacking) การได้กลิ่นผิด ปกติ (Olfactory hallucination) การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองจะพบความผิดปกติ และผู้ป่วยจะตอบสนองดีต่อยากันชักทั้งนี้กลุ่มอาการนี้เป็นการชักรูปแบบหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มการชักแบบ Complex partial seizure ที่มีจุดกำเนิดจากสมองส่วน Temporal lobe (สมองกลีบขมับ)
  2. กลุ่มอาการ Psychogenic amnesia (กลุ่มอาการลืมชั่วคราวเหตุทางจิตเวช): พบในกลุ่มวัยรุ่น อายุไม่มาก พบการสูญเสียความจำแบบรุนแรงแม้กระทั่งชื่อตนเอง ประวัติต่างๆ แต่การเรียนรู้เป็นปกติ ไม่มีการถามซ้ำ มักเกิดจากมีความเครียดอย่างรุนแรงในชีวิตเช่น ถูกให้ออกจากการเรียน หมดสภาพนักศึกษา และในกลุ่มอาการนี้การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองไม่พบความผิดปกติ

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการลืมชั่วคราวอย่างไรและอะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ?

แพทย์ให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการลืมชั่วคราวจาก

ก.  สอบถามประวัติอาการของผู้ป่วยตามรายละเอียดอาการผิดปกติที่กล่าวในหัวข้อ “ลักษณะ ความผิดปกติเป็นอย่างไร” นอกจากนี้แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์อื่นที่มีความสำคัญเพิ่มเติมได้แก่

  • ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ: เช่น การสัมผัสอุณหภูมิเย็นๆเช่น การลงแช่น้ำเย็นมาก การมีเพศสัมพันธ์ การออกกำลังกายหนักๆ ความเจ็บปวด และการทำ Valsalva maneuver (เบ่งหายใจออกโดยปิดปากปิดจมูกเช่น เบ่งอุจจาระ) เป็นต้น โดยปัจจัยกระตุ้นเหล่านี้ทำให้เกิดการเพิ่มการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก (Sympathetic activity) หรือเพิ่มความดันในช่องอก (Intrathoracic pressure) ทำให้เกิดความดันย้อนกลับไปยังหลอดเลือดดำชื่อ จูกูล่าร์ (Jugular venous system) ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปที่สมองลดลงและเกิดการคั่งของเลือดดำบริเวณสมองส่วนความจำ
  • ประวัติการใช้ยานอนหลับและการดื่มแอลกอฮอล์: การใช้ยานอนหลับ Midazolam ที่แพทย์ให้ก่อนการผ่าตัด การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักจนเกิดอาการลืมชั่วคราวที่เรียกว่า “Blackout” ที่มักเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการ TEA
  • ประวัติการมีความเครียดหรือความผิดหวังอย่างรุนแรงที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการ Psychogenic amnesia

ข. การตรวจร่างกายทั่วไปมักไม่พบความผิดปกติ

ค. การตรวจร่างกายทางระบบประสาท: มักไม่พบความผิดปกติอย่างอื่นยกเว้นการสูญเสียของความจำเท่านั้น

ง. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน)สมองจะไม่พบความผิดปกติ, การตรวจเลือดต่างๆก็ไม่พบความผิดปกติ

ทั้งนี้แพทย์วินิจฉัยยืนยันว่าเป็นกลุ่มอาการลืมชั่วคราว TGA โดยการวินิจฉัยดังกล่าวข้าง ต้นร่วมกับวินิจฉัยเพิ่มเติมตามเกณฑ์วินิจฉัยที่ได้แนะนำโดย Hodges และ Warlow (ประสาทแพทย์ชาวอังกฤษ) ที่ได้เสนอเกณฑ์การวินิจฉัย 7 ข้อในการให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการลืมชั่ว คราว TGA ได้แก่

  1. ต้องมีผู้พบเห็นเหตุการณ์ที่สามารถเล่าประวัติอาการที่เกิดขึ้นที่เชื่อถือได้
  2. ผู้ป่วยมีการสูญเสียความจำแบบไปข้างหน้า (Anterograde amnesia) ในระหว่างเกิดอาการ
  3. ผู้ป่วยต้องรู้สติดี ไม่มีอาการง่วงซึม และต้องรู้ว่าตนเองคือใคร และต้องไม่มีการพูดสับ สน พูดจาชัดเจน
  4. แพทย์ไม่ควรตรวจพบความผิดปกติอื่นๆทางระบบประสาทในระหว่างและหลังเกิดอา การ
  5. ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่แสดงว่าผู้ป่วยมีการชักเกร็งกระตุก
  6. อาการหายเองภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง
  7. ไม่มีประวัติอุบัติเหตุกระทบกระแทกศีรษะในช่วงใกล้กับการเกิดอาการ หรือมีประวัติโรคลมชักที่ควบคุมไม่ได้ รวมถึงสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการลืมเช่น โรคสมองเสื่อม

 ส่วนการวินิจฉัยกลุ่มอาการลืมชั่วคราว TEA นั้นนอกจากดังกล่าวในตอนต้นแล้ว ต้องมีรายละเอียดของอาการที่ชัดเจนดังกล่าวในหัวข้อ ลักษณะความผิดปกติและมีประวัติเป็นๆหายๆ ที่ต่างจากกลุ่มอาการลืมชั่วคราว TGA ที่มักจะไม่เป็นซ้ำ โดยกลุ่มอาการฯ TEA มีเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้

  1. มีประวัติความผิดปกติที่ชัดเจน ถ้าจะให้แม่นยำควรต้องมีผู้เห็นเหตุการณ์นั้นบอกเล่าประวัติด้วย
  2. มีความผิดปกติด้านความจำเพียงอย่างเดียวโดยหน้าที่อื่นๆไม่มีอาการผิดปกติ ยก เว้นพบลักษณะของการเคลื่อนไหวผิดปกติที่ไม่สามารถควบคุมได้ (Automatism) ดังได้กล่าวข้างต้นในหัวข้อ ลักษณะความผิดปกติ
  3. มีหลักฐานทางการแพทย์ที่แน่ชัดเช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองพบความผิดปกติที่เรียกว่า "คลื่นชัก (Seizure wave)”, พบลักษณะ Automatism และผู้ป่วยจะตอบสนองดีต่อยากันชัก

ส่วนการวินิจฉัยกลุ่มอาการลืมชั่วคราวจากเหตุจิตเวช Psychogenic amnesia การวินิจฉัย ที่ช่วยยืนยันเพิ่มเติมจากการวินิจฉัยกลุ่มอาการโดยรวมที่กล่าวในตอนต้นคือ มีเหตุหรือปัจจัยกระ ตุ้นที่ชัดเจนทางด้านอารมณ์/จิตใจเช่น เครียดมากหรือผิดหวังรุนแรง

*อนึ่ง

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง: ในกรณีผู้ป่วยมีอาการลืมชั่วคราวนั้นโดยทั่วไปแล้วไม่มีความจำเป็นต้องส่งตรวจ ยกเว้นแพทย์คิดถึงสาเหตุจากกลุ่มอาการ TEA ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการลืมชั่วคราวแบบไปข้างหน้า และเป็นซ้ำ เป็นไม่นาน หรือมีลักษณะอื่นๆที่บ่งว่าน่าจะเป็นการชักรูปแบบหนึ่ง
  • การส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองและ/หรือเอมอาร์ไอสมอง: ควรส่งตรวจเพื่อหาว่ามีรอยโรคในสมองหรือไม่ทั้งในกรณีกลุ่มอาการ TGA และกลุ่มอาการ TEA ยกเว้นกรณีที่มีประวัติและลักษณะอาการชัดเจนว่ามีอาการลืมชั่วคราวจากเหตุจิตเวช และตรวจไม่พบ ความผิดปกติอื่นๆทางระบบประสาทที่ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และ/หรือเอมอาร์ไอสมอง

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

กรณีที่ผู้ป่วยเกิดกลุ่มอาการลืมชั่วคราวทุกครั้งควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทุกครั้ง เพราะ มีสาเหตุที่ต้องแยกโรคหลายประการเช่น สมองเสื่อมหรือโรคหลอดเลือดสมอง

การรักษากลุ่มอาการลืมชั่วคราวทำอย่างไร?

แนวทางการรักษากลุ่มอาการลืมชั่วคราวได้แก่

ก. การรักษากลุ่มอาการลืมชั่วคราวTGA: ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาอะไรเพราะอาการต่างๆหายเองได้ และส่วนใหญ่หายเป็นปกติไม่มีความผิดปกติเหลืออยู่ จึงมีการพยากรณ์โรคที่ดีและมักไม่เกิดเป็นซ้ำ

ข. การรักษากลุ่มอาการลืมชั่วคราวTEA: จะให้การรักษาที่สาเหตุชัก แพทย์จึงต้องตรวจหาสาเหตุและยืนยันว่าอาการลืมชั่วคราวนั้นเกิดจากอาการชัก รักษาด้วยยากันชัก และแก้ไขสาเหตุ

ค. การรักษากลุ่มอาการลืมชั่วคราวเหตุจากจิตเวช: ต้องแก้ไขรักษาที่สาเหตุทาง ด้านอารมณ์/จิตใจ และการรักษาทางจิตวิทยาจากจิตแพทย์

การรักษากลุ่มอาการลืมชั่วคราวต้องติดตามระยะยาวหรือไม่?

 การรักษากลุ่มอาการลืมชั่วคราวแพทย์จะต้องติดตามรักษาระยะยาวหรือไม่นั้นขึ้นกับกลุ่ม อาการเช่น

ก. กลุ่มอาการลืมชั่วคราว TEA ต้องรักษาระยะยาวตามธรรมชาติของโรคลมชัก แนะนำ อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคลมชัก

ข. กลุ่มอาการลืมชั่วคราว TGA นั้นมักไม่เป็นซ้ำจึงไม่มีความจำเป็นในการรักษาระยะยาว ยกเว้นผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการหลอดเลือดสมองขาดเลือดชั่วคราว (Tran  sient ischemic attack: TIA) แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack)

ค. กลุ่มอาการลืมชั่วคราวเหตุจากจิตเวชนั้นต้องรักษากับจิตแพทย์อย่างต่อเนื่อง

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยกลุ่มอาการลืมชั่วคราวควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • กรณีที่มีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “ลักษณะความผิดปกต” เกิดเป็นซ้ำ
  • มีอาการผิดปกติอื่นๆเพิ่มขึ้น
  • เกิดผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากยาที่แพทย์สั่งเช่น ง่วงซึมมาก เดินเซ ผื่นแพ้ยา

ป้องกันกลุ่มอาการลืมชั่วคราวได้ไหม?

การป้องกันกลุ่มอาการลืมชั่วคราวยังไม่มีการศึกษาระบุถึงวิธีที่ได้ผลขัดเจน แต่จากกลไกการเกิดโรค/กลุ่มอาการนี้พบว่า การหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆเหล่านี้คือ ความเครียด, การใช้ยานอนหลับ และการดื่มแอลกอฮอล์หนัก จะป้องกันได้ระดับหนึ่ง

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวมีผลข้างเคียงไหม?

ผลข้างเคียงจากกลุ่มอาการลืมชั่วคราวได้แก่

  • กลุ่มอาการลืมชั่วคราว TGA: ผลข้างเคียงไม่มียกเว้นเสียความมั่นใจ
  • กลุ่มอาการลืมชั่วคราว TEA: ผลข้างเคียงคือการจำเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ได้ และมีการเสียความจำย้อนหลังไปมาก แต่ก็จะหายดี แต่ถ้าเป็นบ่อยๆก็ทำให้เสียหน้าที่การงานได้
  • กลุ่มอาการลืมชั่วคราว Psychotic amnesia: ผลข้างเคียงคือการสูญเสียความจำในทุกอย่างแม้กระทั่งตัวตนจึงส่งผลในการใช้ชีวิตช่วงที่มีอาการ และทำให้เสียความมั่นใจและ อาจเกิดอันตรายได้เพราะจำตัวตนไม่ได้

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวนั้นเป็นอาการที่ไม่ได้ร้ายแรงและไม่ใช่โรคสมองเสื่อม ไม่ใช่โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพาต จึงไม่ต้องกังวล ซึ่งโดยทั่วไป

  • กลุ่มอาการฯ TGA: มีการพยากรณ์โรคดี หายดีเป็นปกติ ไม่ค่อยเกิดเป็นซ้ำ
  • กลุ่มอาการฯ TEA: การพยากรณ์โรคดีไม่เท่ากลุ่มอาการ TGA เพราะมีโอกาสเกิดเป็นซ้ำได้สูง และขึ้นกับตรวจพบสาเหตุหรือมีรอยโรคในสมองหรือไม่ และรอยโรคนั้นเกิดจากอะไร เช่น เนื้องอกสมอง
  • กลุ่มอาการฯ Psychotic amnesia: การพยากรณ์โรคดี ถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะ สมและไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการอีก แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นกับบุคลิกส่วนบุคคลของผู้ป่วยก่อนมีอาการ

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นกลุ่มอาการลืมชั่วคราว?

โดยทั่วไปการดูแลตนเองเมื่อมีกลุ่มอาการลืมชั่วคราวได้แก่

  • กลุ่มอาการฯTGA: ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตนเองได้เพราะจำอะไรไม่ได้ ผู้ที่พบเห็นควรพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล และคอยพูดคุยให้กำลังใจ อธิบายสิ่งต่างๆให้ผู้ป่วยฟัง ไม่เบื่อหน่ายและตกใจเพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีความกังวลใจมากยิ่งขึ้น
  • กลุ่มอาการฯTEA: การดูแลตนเองคือ ผู้พบเห็นควรพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล และคอยให้กำลังใจเช่นเดียวกันกับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มอาการ TGA และต้องคอยแนะนำให้หลีก เลี่ยงปัจจัยกระตุ้นและทานยารักษาให้สม่ำเสมอ
  • กลุ่มอาการฯ Psychotic amnesia: การดูแลตนเองคือ การพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล คอยให้กำลังใจ อธิบายเหตุการณ์ ค่อยๆทบทวนเรื่องราวต่างๆให้ผู้ป่วยทราบ หลีก เลี่ยงปัจจัยกระตุ้นและให้ออกห่างจากสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีกลุ่มอาการดังกล่าว

อนึ่ง: ทั้ง 3 กลุ่มอาการลืมชั่วคราวนั้นการดูแลตนเองที่สำคัญคือ ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงความ เครียด การอดนอน การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยานอนหลับ และควรรักษาสุขภาพกายสุขภาพจิตให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) รวมถึงการออกกำลังกายสม่ำ เสมอตามควรกับสุขภาพ