กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette syndrome)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หลายคนคงเคยเห็นเด็กบางคนมีอาการขยับใบหน้า แขน ขา ไปมาโดยควบคุมไม่ได้ พร้อมกับมีเสียงพูด ร้อง บ่น หรือพูดคำไม่สุภาพออกมาเป็นระยะ เด็กคนนั้นตั้งใจหรือไม่ เป็นนิสัยหรือไม่ เป็นพฤติกรรมที่ไม่ปกติหรือไม่ หรือเป็นขึ้นมาเอง ควบคุมไม่ได้ และเกิดจากสาเหตุอะไร ถูกผีเข้าหรือไม่ ต้องติดตามหาคำตอบเหล่านี้จากบทความนี้ “กลุ่มอาการทูเร็ตต์ หรือ Tourette's syndrome หรือ Tourette's disorder ย่อว่า TS)”

อนึ่ง ชื่อกลุ่มอาการนี้ได้มาจากชื่อ นพ. Gilles de la Tourette อายุแพทย์ประสาทวิทยา ชาวฝรั่งเศสผู้ซึ่งได้ศึกษาและรายงานการศึกษาโรคนี้ในปี ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428)

กลุ่มอาการทูเร็ตต์คืออะไร?

กลุ่มอาการทูเร็ตต์

กลุ่มอาการทูเร็ตต์ คือ ความผิดปกติทางระบบประสาทชนิดหนึ่งประกอบด้วยอาการกระ ตุกของกล้ามเนื้อหลายๆมัดพร้อมกันร่วมกับมีการเปล่งเสียงออกมาจากลำคอหรือจากจมูก อาจมีความหมายหรือไม่มีก็ได้ บางครั้งเป็นคำไม่สุภาพ อาการจะเป็นๆหายๆ เกิดขึ้นเองอย่างเฉียบ พลันและหายได้เอง เกิดขึ้นเป็นเวลาสั้นๆเป็นแบบไม่รู้ตัวไม่ได้ตั้งใจไม่สามารถควบคุมได้ แต่ในบางรายก็สามารถควบคุมไม่ให้เกิดได้ในช่วงเวลาสั้นๆ มักพบอาการเกิดในทุกๆวัน

กลุ่มอาการทูเร็ตต์พบได้บ่อยหรือไม่?

การสำรวจความชุกของกลุ่มอาการทูเร็ตต์ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลชัดเจน ในต่างประเทศพบประมาณ 1% ของเด็กวัยเรียน(นิยามคำว่าเด็ก)เริ่มในช่วงอายุ 2 - 10 ปี (เฉลี่ยประมาณ 7 ปี) ส่วนใหญ่แล้วพบกลุ่มอาการนี้ก่อนอายุ 18 ปี

ใครมีโอกาสเป็นกลุ่มอาการทูเร็ตต์ได้บ่อย?

กลุ่มอาการทูเร็ตต์พบบ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 3 - 4 เท่า พบในเด็กวัยเรียนมากกว่าในวัยผู้ใหญ่ พบบ่อยในเด็กที่ป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ เด็กโรคสมาธิสั้น เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ คนที่มีความวิตกกังวลสูง ซึมเศร้า และมีปัญหาด้านการนอน

กลุ่มอาการทูเรตต์มีอาการผิดปกติอะไรบ้าง?

ผู้ป่วยกลุ่มอาการทูเร็ตต์จะมีอาการพบบ่อย เช่น

1. การเคลื่อนไหวผิดปกติของกล้ามเนื้อใบหน้า คอ ไหล่ มือ แขน ขา เช่น บิดคอ ยักไหล่ สะบัดมือ ต่อย เตะ กระโดด ร่วมกับส่งเสียงเช่น เสียงขากเสลด ถอนหายใจ เสียงฟึดฟัด ไอแบบติดคอ ไอกระแอม เสียงคราง เสียงเห่า คำด่า คำหยาบคาย

2. อาการอื่นพี่อาจพบได้เช่น กระพริบตาบ่อย ผงกหัว สั่นหัว งอนิ้ว งอแขน จับจมูก จับคนอื่น แลบลิ้น กระโดด

3. อาการต่างๆจะเป็นมากขึ้นถ้าเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆเช่น เครียด เหนื่อย อ่อนเพลีย

ดังนั้นแพทย์จะวินิจฉัยกลุ่มอาการทูเร็ตต์จากอาการข้างต้น แต่ที่สำคัญคือผู้ป่วยต้องไม่มีโรคอื่นๆที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกันกับกลุ่มอาการทูเร็ตต์ เช่น ผลข้างเคียงจากยารักษาทางจิตเวช เป็นต้น นอกจากนั้นผู้ป่วยกลุ่มอาการทูเร็ตต์จะต้องมีอาการเป็นๆหายๆนานเป็นปี และอายุที่เริ่มมีอาการมักต้องก่อน 18 ปี

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นกลุ่มอาการทูเร็ตต์?

แพทย์จะให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการทูเร็ตต์จากลักษณะทางคลินิก คือ

  • จากอาการผิดปกติที่พบดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้ออาการฯ’ โดยแพทย์เห็น/พบอาการเหล่านั้นได้ในขณะที่ตรวจร่างกายผู้ป่วยหรือจากการบันทึกภาพของผู้ป่วยของพ่อแม่/ผู้ปกครองที่นำมาให้แพทย์ดูก็ได้ ร่วมกับการสอบถามประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วย

การตรวจวินิจฉัยจำเป็นต้องเจาะเลือดหรือเอกซเรย์หรือไม่?

การวินิจฉัยกลุ่มอาการทูเรตต์ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจเลือดหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) หรือเอมอาร์ไอสมอง แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากลักษณะทางคลินิกคือ จากการที่เห็นอาการผู้ป่วยร่วมกับการสอบถามข้อมูลประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและจากผู้ปกครอง

สาเหตุของกลุ่มอาการทูเรตต์คืออะไร?

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทูเร็ตต์ที่ชัดเจน ถึงแม้จะพบว่าโรคอาจมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงได้จาก

  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • บางคนมีความผิดปกติของสมอง ส่วนธาลามัส, ส่วนเบซัลแกลเกลีย, และ/หรือ สมองส่วนหน้า
  • อาจมีความผิดปกติของสารสื่อประสาทชนิดโดปามีน (Dopamine) และ/หรือชนิด เซโรโทนิน (Serotonin)

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อผู้ปกครองหรือคนรอบข้างสังเกตพบอาการผิดปกติดัง กล่าวในหัวข้ออาการของเด็กหรือของผู้ป่วย

รักษากลุ่มอาการทูเรตต์อย่างไร?

การรักษากลุ่มอาการทูเร็ตต์ประกอบด้วย

1. การใช้ยาต่างๆที่เป็นยาจิตเวช เช่น ยา ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol), โคลนิดีน (Clonidine), โซเดียมวาวโปเอท (Sodium valproate), โคลนาซีแปม (Clonazepam) ซึ่งการจะเลือกยาชนิดใด ขนาดยาอย่างไร และรักษาใช้ระยะเวลานานอย่างไร ขึ้นกับ อายุผู้ป่วย, โรคร่วมต่างๆ, ความรุนแรงของอาการ, และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

2. การรักษาโดยไม่ใช้ยาด้วยวิธีการทางจิตเวช เพื่อช่วยปรับความคิดและพฤติกรรม เพื่อให้ความมั่นใจกับผู้ป่วย ให้การประคับประคองทางจิตใจ และการลดความวิตกกังวลให้ผู้ป่วย ที่เรียกว่า Psychotherapy and Behavior therapy

อนึ่ง: ในกรณีอาการรุนแรงมากและการรักษาวิธีต่างๆไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า (Deep brain stimulation)

กลุ่มอาการทูเร็ตต์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ส่วนใหญ่กลุ่มอาการทูเร็ตต์มีการพยากรณ์โรคที่ดี อาการต่างๆตอบสนองดีต่อการรักษา

อย่างไรก็ตามกลุ่มอาการทูเร็ตต์อาจส่งผลกระทบต่อ สติปัญญา ความจำ สมาธิ การเข้าสังคม และภาพลักษณ์ได้

กลุ่มอาการทูเร็ตต์มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากกลุ่มอาการทูเร็ตต์คือ ผู้ป่วยอาจมีผลกระทบด้านสติปัญญา สมาธิ การเข้าสังคม และภาพลักษณ์

พ่อแม่หรือคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยอย่างไร?

ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มอาการทูเร็ตต์ ครอบครัวเป็นส่วนที่สำคัญ นอกจากจะทำหน้าที่พาผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล การเข้าใจผู้ป่วย การให้กำลังใจ การช่วยให้คำแนะนำ และลดความกังวลใจ ไม่เพิ่มความเครียด ก็เป็นสิ่งสำคัญในการดูแล

กลุ่มอาการทูเร็ตต์นี้เป็นกลุ่มอาการที่สามารถรักษาให้หายได้ เพียงแค่เราเข้าใจ ไม่ล้อ เลียนหรือรังเกียจคนที่มีความผิดปกติ ควรแนะนำสนับสนุนให้ผู้ที่มีอาการเข้ารับการรักษากับแพทย์ ร่วมให้กำลังใจและช่วยให้ทุกคนรอบข้างเข้าใจว่า กลุ่มอาการทูเร็ตต์ไม่ใช่โรคทางจิต

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยด้วยโรคกลุ่มอาการทูเร็ตต์คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยา ที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง ไม่ขาดยา
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพกายและสุภาพจิตที่แข็ง แรงสมบูรณ์
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลงเช่น กล้ามเนื้อกระตุกรุนแรงขึ้น
  • มีอาการผิดปกติที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่น ชัก
  • มีผลข้างเคียงมากจากยาที่แพทย์สั่งหรือผลข้างเคียงนั้นกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ง่วงนอนมาก สับสน ประสาทหลอน
  • กังวลในอาการ

ป้องกันกลุ่มอาการทูเร็ตต์อย่างไร?

กลุ่มอาการทูเร็ตเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่แน่ชัด ปัจจุบันจึงยังไม่วิธีป้อง กันกลุ่มอาการนี้