กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กรวยไตอักเสบ(Pyelonephritis)คือ โรคที่เกิดจากเนื้อเยื่อไต/กรวยไตติดเชื้อเฉียบพลัน ซึ่งเกือบทั้งหมดติดเชื้อจากแบคทีเรีย น้อยมากๆที่เกิดจากเชื้อไวรัส หรือเชื้อรา และมักเกิดจากเชื้อโรคจากกระเพาะปัสสาวะที่ลุกลามขึ้นมาถึงกรวยไต

กรวยไต (Renal pelvis) เป็นส่วนของไตที่มีลักษณะเป็นโพรง เป็นส่วนที่ต่อกับท่อไต (Ureter) มีหน้าที่ในการเก็บกักปัสสาวะที่กรองแล้วจากเซลล์ของไตก่อนปล่อยลงสู่ท่อไต

กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) เป็นโรคพบบ่อย พบได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบได้บ่อยในเด็กเล็ก ผู้หญิงวัยสาว และผู้สูงอายุ ทั้งนี้พบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชายประมาณ 4-5 เท่า

กรวยไตอักเสบ จัดเป็นการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะที่แพทย์มักเรียกย่อว่า ยูทีไอ (UTI หรือ Urinary tract infection หรือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) หรือบางคนเรียกเจาะจงลงไปอีกว่า ‘การติดเชื้อ/โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะตอนบน (Upper urinary tract infection)’ มักเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียชนิด อีโคไล (E. Coli) แต่พบติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆได้เช่นกัน เช่น เชื้อ สแตฟ (Staphylococcus) และเชื้อ สูโดโมแนส (Pseudomonas) แต่ในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ อาจเกิดจากติดเชื้อราได้

*อนึ่ง บทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ ‘กรวยไตอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรีย’ เท่านั้น

กรวยไตอักเสบ อาจเกิดเพียงกรวยไตข้างเดียวข้างใดข้างหนึ่ง (โอกาสเกิดในข้างซ้ายและข้างขวาใกล้เคียงกัน) หรือ เกิดพร้อมกันทั้งสองข้าง ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ

กรวยไตอักเสบ พบเกิดได้ทั้ง

  • การอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งอาการเกิดทันที และรุนแรง แต่เมื่อได้รับการรักษา จะหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ ที่เป็นการอักเสบที่พบได้บ่อยกว่า และ
  • การอักเสบเรื้อรัง คือ การอักเสบไม่รุนแรง แต่เป็นๆหายๆ เรื้อรัง มักเกิดจากรักษาควบคุมสาเหตุของโรคไม่ได้ เช่น ยังมีนิ่วในไตเรื้อรัง หรือ มีต่อมลูกหมากโต

โรคกรวยไตอักเสบเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?

กรวยไตอักเสบ

โรคกรวยไตอักเสบ เป็นการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย โดยการติดเชื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียเป็นได้ทั้งการเป็นสาเหตุและการเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรค ทั้ง นี้สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อย คือ

  • เป็นการอักเสบต่อเนื่องจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักพบเป็นสาเหตุในผู้หญิง หรือ ในผู้ป่วยที่ต้องนอนนานๆ และ/หรือต้องใช้สายสวนปัสสาวะ เช่น โรคอัมพฤกษ์/อัมพาต หรือ เมื่อได้รับการรักษาโรคต่างๆด้วยการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน และ/หรือมีการใส่สายสวนปัสสาวะ
  • จากมีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ซึ่งส่งผลให้ปัสสาวะแช่อยู่ในทางเดินปัสสาวะนานเกินปกติ จึงติดเชื้อได้ง่าย เช่น นิ่วในไต หรือทางเดินปัสสาวะตีบแคบในผู้ชายจากต่อมลูกหมากโต หรือ การกลั้นปัสสาวะนานๆ หรือ การดื่มน้ำน้อย
  • จากมีโรคของทางเดินปัสสาวะ อาจแต่กำเนิด เช่น มีปัสสาวะไหลย้อนกลับจากกระเพาะปัสสาวะเข้าในท่อไตและเข้าในไต/กรวยไตตามลำดับ จากหูรูดระหว่างท่อไตกับกระเพาะปัสสาวะหย่อน (Vesicoureteral reflux) ซึ่งมักพบเป็นสาเหตุในเด็กเล็ก
  • จากการติดเชื้อของกระดูก หรือผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อต่างๆ แล้วเชื้อโรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิต (เลือด) มายังกรวยไต
  • เป็นส่วนหนึ่งในการติดเชื้อทางกระแสโลหิตของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ /ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด)
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยโรคที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์
  • จากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะมีคู่นอนหลายคน (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
  • หญิงตั้งครรภ์ เพราะตัวครรภ์อาจกดเบียดทับท่อไต และ/หรือกระเพาะปัสสาวะ จึงก่อให้เกิดทางเดินปัสสาวะอุดกั้น หรือจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน จึงเป็นสาเหตุให้กรวยไตอักเสบได้ง่าย
  • อาจจากทางพันธุกรรม เพราะพบเกิดโรคได้บ่อยในคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคนี้

กรวยไตอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการพบบ่อยของกรวยไตอักเสบเป็นอาการไม่จำเพาะ พบได้คล้ายคลึงกับอาการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะในโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ) ซึ่งที่พบบ่อย คือ

  • มีไข้สูง อาจหนาวสั่นเมื่อเป็นการอักเสบเฉียบพลัน แต่อาจมีไข้ต่ำๆ หรือ ไม่มีไข้ เมื่อเป็นการอักเสบเรื้อรัง
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดหลัง/เอว ปวดเรื้อรังเมื่อเป็นการอักเสบเรื้อรัง
  • กดเจ็บในตำแหน่งไตข้างที่เกิดโรค
  • ปัสสาวะขุ่น อาจเป็นเลือด (อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือ ตรวจพบจากการตรวจปัสสาวะ) และอาจเป็นหนอง
  • อาจปัสสาวะ ปวดแสบ ขัด ปัสสาวะน้อย เมื่อมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบร่วมด้วย
  • อาจมีหนอง หรือ สารคัดหลั่งบริเวณอวัยวะเพศ เมื่อเกิดจากติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)

แพทย์วินิจฉัยกรวยไตอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยกรวยไตอักเสบได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติทางเพศสัมพันธ์ ประวัติการกลั้นปัสสาวะ อาชีพการงานที่ต้องกลั้นปัสสาวะเสมอ โรคประจำตัวต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจปัสสาวะ
  • และในรายรุนแรงอาจมีการตรวจเชื้อ และ/หรือการเพาะเชื้อจากปัสสาวะ และ/หรือจากเลือด
  • นอกจากนั้นอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การถ่ายภาพไตด้วยเอกซเรย์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรืออัลตราซาวด์
    • หรือ การส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ

รักษากรวยไตอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคกรวยไตอักเสบ คือ การให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งในรายที่รุนแรงอาจเป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำโดยรับผู้ป่วยไว้เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่รายที่อาการไม่มาก การรักษาจะเป็นผู้ป่วยนอก

นอกจากนั้น คือ

  • การรักษาสาเหตุ เช่น รักษาโรคต่อมลูกหมากโต เมื่อมีสาเหตุจากต่อมลูกหมากโต เป็นต้น
  • และ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น
    • การพักผ่อน
    • ยาลดไข้
    • ยาแก้ปวด
    • การดื่มน้ำสะอาดมากๆเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
    • และการไม่กลั้นปัสสาวะนาน

กรวยไตอักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?

ผลข้างเคียงจากกรวยไตอักเสบ คือ เมื่อได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง หรือ ไม่มีการรักษาสาเหตุด้วย จะกลายเป็นโรคเรื้อรัง ที่อาจก่อให้เกิดโรคไตอักเสบเรื้อรัง (โรคไตเรื้อรัง) จนกลายเป็นไตวายเรื้อรัง และเสียชีวิตได้

กรวยไตอักเสบรุนแรงไหม?

โดยทั่วไป โรคกรวยไตอักเสบ ไม่รุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้เสมอเมื่อพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตั้งแต่แรกมีอาการ

แต่ในเด็กเล็ก ในผู้สูงอายุ และในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ โรคอาจรุนแรงเป็นการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ /ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด) เป็นเหตุให้เสียชีวิต ได้

หรือเมื่อรักษาควบคุมสาเหตุไม่ได้ อาจกลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดไตวายเรื้อรัง (โรคไตเรื้อรัง) และเสียชีวิตได้เช่นกัน

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเอง/การพบแพทย์/การมาโรงพยาบาล คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ ไม่ควรดูแลตนเองด้วยการซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เพราะเป็นโรคไม่หายจากการดูแลตนเอง อาจดูว่าอาการดีขึ้น แต่แท้ที่จริง จะกลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง ทั้งนี้เพราะยาปฏิชีวนะมีหลากหลายชนิด การจะรักษาโรคได้ ต้องขึ้นกับชนิดของโรค อายุผู้ป่วย ชนิดและขนาดของยาปฏิชีวนะ ซึ่งต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

ส่วนภายหลังจากพบแพทย์ และได้ทราบว่าตนเองเป็นโรคกรวยไตอักเสบ การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ควรหยุดยาเองโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ต้องกินให้หมดตามแพทย์แนะนำ การหยุดยาเองก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา จนกลายเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรัง อาจถึงขั้นเกิดโรคไตเรื้อรังได้
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจล้มเหลว
  • ไม่กลั้นปัสสาวะนาน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆรวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น กลับมามีไข้
    • หรือ อาการต่างๆเลวลง เช่น เช่น ปัสสาวะเป็นเลือดมากขึ้น ปวดเอวมากขึ้น
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องเสียมากต่อเนื่อง
    • หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันกรวยไตอักเสบได้อย่างไร?

สามารถป้องกันโรคกรวยไตอักเสบได้โดย

  • เมื่อมีอาการผิดปกติทางปัสสาวะ หรือมีอาการดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้ออาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุและเพื่อได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ป้องกันการเกิดการอักเสบรุนแรง หรือการเกิดกรวยไตอักเสบเรื้อรัง
  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • ไม่กลั้นปัสสาวะนาน
  • รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เสมอ โดยเฉพาะการรู้จักดูแลตนเองเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และไม่ควรส่ำส่อนทางเพศ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Ramakrishnan, K., and Scheid, D. (2005). Diagnosis and management of acute pyelonephritis in adults. Am Fam Physician. 71, 933-942.
  3. http:// http://en.wikipedia.org/wiki/pyelonephritis [2019,March2]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/245559-overview#showall [2019,March2]