คุยกับหมอสมศักดิ์ เทียมเก่า ตอน: ขั้นตอนการเข้ารับบริการในโรงพยาบาล

talksomsak-6


การเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลนั้น สำหรับคนที่คุ้นเคยก็ไม่ยาก ไม่กังวลใจ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยเข้ารับการรักษาเลย เป็นครั้งแรกของการมาโรงพยาบาล ยิ่งไม่ใช่คนในพื้นที่นั้นๆ แล้ว ทุกอย่างดูจะไม่ง่ายเลย มีความเจ็บป่วยทางกายแล้วยังต้องมากังวลอีกในเรื่องขั้นตอนต่างๆ กลัวจะผิดพลาดไม่ได้รับการรักษา กลัวล่าช้าด้วย สารพัดปัญหาที่จะเกิดขึ้น วันนี้เรามาลองทำความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับระบบการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลของรัฐกันดีกว่า

ก่อนอื่นก็ต้องเริ่มด้วยการทำบัตรโรงพยาบาลใหม่ เพราะระบบจะเริ่มได้ต้องมีหมายเลขบัตรโรงพยาบาล หรือ HN: hospital number การทำบัตรก็ต้องไปที่แผนกเวชระเบียน ถ้าเป็นผู้ป่วยนอกทั่วไป ก็ไปที่แผนกเวชระเบียนผู้ป่วยนอก ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉิน นอกเวลาราชการก็ต้องไปที่แผนกเวชระเบียน แผนกฉุกเฉิน ซึ่งต้องเตรียมเอกสารที่สำคัญก็คือบัตรประชาชน เพราะจะเป็นสิ่งที่ทำให้ทางโรงพยาบาลทราบว่ามีสิทธิ์การรักษาอะไรได้ทันที ถ้ามีบัตรโรงพยาบาลแล้วก็เพียงยื่นบัตรโรงพยาบาล และแสดงความจำนงค์กับเจ้าหน้าที่ว่ามีอาการผิดปกติอะไร หรือมาตามนัด เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ต่อจากนั้นก็มานั่งรอรับการบริการที่หน้าห้องตรวจที่เจ้าหน้าที่แนะนำ เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่หน้าห้องตรวจนั้นชี้แจงขั้นตอนการบริการ การตรวจวัดสัญญาณชีพ ได้แก่ ความดันโลหิต จำนวนครั้งการหายใจต่อนาที อุณหภูมิร่างกาย และการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เป็นต้น ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เรียกชื่อและให้เรานั่งรอ เพื่อเตรียมเข้าพบแพทย์ ในระหว่างรอนั้น ผมแนะนำว่าเราควรเตรียมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเจ็บป่วยของเรา เช่น มีอาการอะไรบ้าง เป็นมานานเท่าไหร่ เข้ารับการรักษาที่ไหนมาก่อน ได้ยาอะไรมาบ้าง มีโรคประจำตัวอะไร ประวัติการแพ้ยา และเราต้องการจะสอบถามอะไรจากแพทย์บ้าง ถ้าสามารถจดบันทึกไว้เลยก็จะดี เพราะบางครั้งเราจะลืมสิ่งที่อยากสอบถามแพทย์

เข้ารับการตรวจกับแพทย์ แพทย์ก็จะสอบถามอาการผิดปกติ สอบถามจากผู้ป่วยก่อนและจึงสอบถามจากญาติ การตรวจร่างกาย เพื่อให้การวินิจฉัยโรค สาเหตุการเจ็บป่วยของเรา ส่วนใหญ่แล้วแพทย์ก็มักจะสามารถให้การวินิจฉัยและรักษาโรคได้เลย แต่มีบางครั้งต้องส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ ตรวจปัสสาวะ อุจจาระ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ

การส่งตรวจบางอย่างก็สามารถทำได้ในทันทีและทราบผลได้เลย แต่การตรวจบางอย่างก็ต้องรอการนัดตรวจอีกภายหลัง ยังไม่ทราบผลทันที กรณีที่ต้องนัดมาฟังผลการตรวจเพิ่มเติม หรือนัดมาติดตามการรักษาอีก แพทย์ พยาบาลก็จะออกใบนัดหมายมาให้เรา ตรงนี้สำคัญครับ ถ้าเราไม่สะดวกวันไหน ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลด้วยว่าไม่สะดวก เพื่อที่จะได้ปรับเปลี่ยนวันนัดครั้งต่อไปให้ตรงกับวันที่สะดวกและเหมาะสมทั้งสองฝ่าย (ผู้ป่วยและแพทย์)

เมื่อทำการตรวจเสร็จ ถ้าไม่มีตรวจเพิ่มเติม มียาที่ต้องใช้ก็ไปรอรับยาที่ห้องยาได้ ตรงขั้นตอนนี้ก็จะประกอบด้วยการไปติดต่อเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิ์การรักษา เจ้าหน้าที่การเงิน เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็กลับบ้านได้ ถ้ามีข้อสงสัยด้านการใช้ยาก็ควรสอบถามจากเภสัชกรทันที ดูจำนวนชนิดของยา การใช้ยาให้ดีว่าเข้าใจหรือไม่

ก่อนกลับควรศึกษาว่าถ้าต้องมาตรวจรักษาก่อนนัด ควรทำอย่างไร หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อเมื่อมีข้อสงสัยคือหมายเลขอะไร ถ้ามีปัญหาตรงจุดไหนจะติดต่อใคร ทั้งหมดนี้เพื่อความถูกต้อง สะดวกสบายของเราทั้งสิ้น การเข้ารับบริการในโรงพยาบาลของรัฐอาจมีผู้รับบริการจำนวนมาก ดังนั้นต้องใจเย็นๆ ไม่รีบร้อนนะครับ การหงุดหงิดก็อาจทำให้เรามีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้นได้