คุยกับหมอสมศักดิ์ เทียมเก่า ตอน: เมื่อไหร่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล

talksomsak-5


ทุกคนเมื่อมีอาการเจ็บป่วยก็จะไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาพยาบาล ส่วนใหญ่ก็จะได้ยาและให้กลับมารักษาตัวเองต่อที่บ้าน แต่ผู้ป่วยบางรายก็ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์เองก็จะมีแนวทางในการรักษาผู้ป่วยว่ากรณีใดต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ถ้าไม่มีความจำเป็นก็จะให้กลับบ้าน การรักษาต่อที่บ้าน ก็มีข้อดี คือ สะดวก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการรักษาถูกกว่ามาก ไม่เสียเวลา ไม่ต้องเสี่ยงการติดเชื้อโรคที่มีความรุนแรงในโรงพยาบาลจำนวนมาก บางครั้งกรณีที่ไม่รุนแรง แพทย์อาจจะให้สังเกตอาการเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง แต่ก็ให้กลับบ้านในภายหลัง เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

ปัจจุบันการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น บางโรงพยาบาลมีผู้ป่วยจำนวนมาก ก่อให้เกิดความแออัด ความไม่สะดวกในการนอนรักษาในรงพยาบาล และก่อให้เกิดการดูแลรักษาที่อาจไม่ทั่วถึงได้ ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็น แพทย์ก็จะให้ผู้ป่วยกลับบ้านเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็อาจก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อผู้ป่วยและญาติได้ เพราะด้านผู้ป่วยและญาติก็มักจะเห็นว่าอาการเจ็บป่วยนั้นมีความรุนแรง ต้องนอนโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก ผู้สูงอายุ บางครั้งก็เกิดการร้องเรียนกัน เพราะผู้ป่วยอาการทรุดลง อาการไม่ดีขึ้น ทำให้เกิดปัญหาในระบบการบริการเกิดขึ้น เราลองมาทำความรู้จักว่า เมื่อใดที่แพทย์จึงให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

1. อาการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU: intensive care unit) เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้น กล้ามเนื้อหัวใจตาย ติดเชื้อรุนแรงส่งผลต่อความดันโลหิตตก หรือภาวะหมดสติ ภาวะที่ต้องมีการเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

2. อาการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างสม่ำเสมอ ต้องให้ออกซิเจน ให้สารน้ำ (น้ำเกลือ) สารอาหาร ทางหลอดเลือดดำ

3. อาการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัด เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ เป็นต้น

4. อาการเจ็บป่วยที่ต้องให้นอนพักนิ่งๆ ห้ามทำกิจกรรม เพื่อให้ร่างกายได้รับการพักผ่อน และการเคลื่อนไหวอาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ภาวะกระดูกสะโพกหัก กระดูกไขสันหลังหัก เป็นต้น

5. อาการเจ็บป่วยที่มีการเสียเลือดอย่างมาก ต้องมีการเฝ้าระวังสัญญาณชีพ และต้องให้เลือด

6. อาการเจ็บป่วยที่ต้องมีการตรวจเพิ่มเติมที่ต้องมีการทำหัตถการหลายอย่าง เพื่อให้ได้ผลการตรวจยืนยันว่าเป็นโรคอะไรแน่

7. อาการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์หลายๆ แผนก และต้องเฝ้าสังเกตอาการเจ็บป่วยอย่างใกล้ชิด

8. อาการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย

9. อาการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการฉีดยาเคมีบำบัดและต้องระวัง ป้องกันการติดเชื้อ

10. อาการเจ็บป่วยที่เป็นโรคติดต่อ ต้องมีการแยกหรือกักตัวผู้ป่วย ผู้สงสัยเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อ

11. อาการเจ็บป่วยที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หมดสติ ไม่หายใจเองหรือหอบเหนื่อยมาก ต้องได้รับการดูแล เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ พยาบาล

12. อาการเจ็บป่วยที่ผู้ป่วยยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และต้องได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ พยาบาล ผู้ดูแลไม่สามารถให้การพยาบาลผู้ป่วยได้ ด้วยข้อจำกัดทางการแพทย์

13. อื่นๆ เช่น ภาวะหลังคลอด การให้เลือดหลายยูนิต ภายหลังการทำหัตถการที่ต้องเฝ้าสังเกตุภาวะแทรกซ้อน เช่น การเจาะตรวจเนื้อไต เนื้อตับ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ถ้าเราให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจในการวางแผนการรักษา โดยที่เราไม่ได้เข้าไปสร้างความสับสนในการวางแผนการรักษา (ญาติมีหลายคน หลากหลายความคิด มีข้อเสนอแนะมากมายและขัดแย้งกัน) หรือมีเหตุผลที่ไม่ใช่เหตุผลทางการแพทย์ เช่น ระบบการเบิกจ่ายเงินประกันสุขภาพ การทอดทิ้งผู้ป่วย การไม่อยากรับผู้ป่วยมาดูแลที่บ้าน ผมเชื่อมั่นว่าก็จะไม่มีปัญหาใดๆ ในการรักษาพยาบาล แต่ที่เป็นปัญหาบ่อยๆ ในปัจจุบัน คือ มีเหตุผลที่ไม่ใช่เหตุผลทางการแพทย์และเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมากเกินไป จนส่งผลเสียหายต่อระบบสุขภาพในบางครั้ง