คุยกับหมอสมศักดิ์ เทียมเก่า ตอน: เมื่อตรวจเสร็จแล้วไปไหนต่อ

talksomsak-31


      

      การพบแพทย์แต่ละครั้งนั้นใช้เวลาตั้งแต่ต้นจนกว่าจะได้พบแพทย์ก็ใช้เวลานานพอสมควร เมื่อตรวจกับแพทย์ในห้องตรวจแล้วก็ถือว่าผ่านขั้นตอนที่สำคัญที่สุดแล้ว แต่ยังไม่จบนะครับ เพราะอาจมีอีกหลายขั้นตอน ลองติดตามดูครับ ว่ามีขั้นตอนอะไรอีกบ้าง

1. แบบที่ 1 คือ ตรวจเสร็จก็ไปรับยากลับบ้าน กรณีนี้ คือ ไม่มีการตรวจเพิ่มเติม ไม่ต้องตรวจเอกซเรย์ ตรวจเลือด กรณีแบบนี้ คือ คนไข้ส่วนใหญ่ ทั้งคนไข้เก่า และคนไข้ใหม่ การไปรับยาที่ห้องยานั้นถ้าจะให้ดี เมื่อได้รับยาแล้ว ควรตรวจดูให้เรียบร้อยว่ามียากี่ชนิด ทานอย่างไร ยาที่ได้นั้นเพียงพอในการทานตลอดเวลาที่นัดมาอีกครั้งหรือไม่ และเข้าใจดีเกี่ยวกับวิธีการทานยาหรือไม่ ถ้ามีอะไรไม่เข้าใจก็ต้องสอบถามจากเภสัชกรให้มั่นใจ จึงค่อยกลับบ้าน ที่สำคัญอย่าลืมดูว่าการนัดครั้งต่อไปเราว่างหรือไม่ ถ้าไม่ว่างจะได้ขอเลื่อนนัดให้เรียบร้อย

2. แบบที่ 2 คือ หลังจากตรวจกับแพทย์เสร็จแล้วต้องไปตรวจเลือด หรือตรวจเอกซเรย์เพิ่มเติม แล้วกลับมาพบแพทย์ใหม่อีกครั้งในวันเดียวกัน กรณีนี้คือกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อใช้ประกอบการรักษา มักเป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้มีปัญหาอะไรรุนแรง เช่น สงสัยติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปอดอักเสบ เจ็บหน้าอกเล็กน้อย เป็นต้น

3. แบบที่ 3 คือ หลังจากแพทย์ตรวจเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้ป่วยไปรับการตรวจเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวด์ คอมพิวเตอร์ หรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยโรค และวางแผนการรักษา กรณีนี้ผู้ป่วยก็ต้องไปนัดการตรวจเพิ่มเติมดังกล่าว และมาตรวจตามนัดอีกครั้ง ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมนั้นมักต้องรอเวลาตรวจ และรอเวลาการอ่านผลการตรวจ จึงต้องดูวันนัดตรวจ วันรับผลการตรวจ และวันนัดที่จะมาพบแพทย์ครั้งต่อไปให้ดีว่าถูกต้องหรือไม่ เช่น วันนัดพบแพทย์ครั้งต่อไปก่อนวันที่จะได้ผลการตรวจเพิ่มเติม อาจทำให้ครั้งต่อไปที่มาพบแพทย์นั้นอาจไม่ได้รายละเอียดหรือผลการตรวจเพิ่มเติมเลย ต้องประสานกันให้ดี

4. แบบที่ 4 คือ ตรวจกับแพทย์เสร็จ ไม่มียาให้กลับบ้าน แต่แนะนำให้ไปรับการรักษาต่อใกล้บ้าน กรณีแบบนี้ คือ ผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการที่ไม่รีบด่วน แต่แพทย์โรงพยาบาลใกล้บ้านส่งตัวมารับการรักษาต่อ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคที่แน่ชัด และโรคนั้นเป็นโรคที่สามารถรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้

5. แบบที่ 5 คือ ตรวจกับแพทย์เสร็จจำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล คือ กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงต้องรีบรับการรักษาในโรงพยาบาล หรือ กรณีที่ต้องมีการนอนในโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจรักษาเพิ่มเติมอีกหลายๆ อย่าง จึงให้นอนรักษาในโรงพยาบาล

6. แบบที่ 6 คือ ตรวจกับแพทย์เสร็จแล้ว แพทย์ส่งตัวกลับไปนอนรักษาต่อโรงพยาบาลอื่นๆ อาจเป็นกรณีที่เตียงของโรงพยาบาลที่กำลังตรวจรักษาเต็ม หรือส่งกลับไปรักษาต่อที่ใกล้บ้าน หรือส่งต่อไปตรวจเพิ่มเติมอีกก็เป็นไปได้

      ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการตรวจกับแพทย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยต้องสอบถามข้อมูลให้ดีว่าเราอยู่ในกลุ่มแบบไหนครับ จะได้ไม่เกิดความสับสนและส่งผลเสียต่อการรักษา