คุยกับหมอสมศักดิ์ เทียมเก่า ตอน: ควรพบแพทย์ทั่วไปใกล้บ้าน หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดี

talksomsak-2


ดูเหมือนคำถามนี้น่าจะตอบได้ไม่ยากครับ การพบแพทย์เฉพาะทาง การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ย่อมจะดีกว่าการพบแพทย์ทั่วไปแน่นอน ถ้าเรามองหรือคิดแบบตรงไปตรงมา คำตอบก็อาจเป็นแบบนั้น แต่ผมอยากบอกว่า จริงๆ แล้วการเจ็บป่วยทั้งหมดนั้นที่เกิดขึ้น มีความจำเป็นที่ต้องพบหรือรักษากับแพทย์เฉพาะทางไม่น่าจะถึงร้อยละ 10 ก็ว่าได้ ลองดูครับว่าทำไมผมถึงพูดแบบนี้

1. การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเกิดจากสาเหตุอะไร จะพบหมอเฉพาะทางด้านไหน เช่น อาการลืมตาไม่ขึ้น ลืมตาลำบาก อาจเกิดจากสาเหตุที่ตา สาเหตุในสมอง สาเหตุจากระบบกล้ามเนื้อ เป็นต้น การพบแพทย์เฉพาะทางผิด อาจทำให้ท่านเสียเวลา หลงทางในการตรวจรักษาก็ได้ ถ้าเราพบแพทย์ทั่วไปเพื่อคัดกรองก่อน หรือให้การรักษาได้เลยถ้าไม่ซับซ้อน ก็น่าจะเหมาะสมกว่า

2. การเจ็บป่วยทั่วไปแล้วนั้น มีสาเหตุที่ไม่รุนแรง สามารถหายเองได้เป็นส่วนใหญ่ หรือเพียงการทานยารักษาตามอาการ พักผ่อนเพียงพอก็หายดี เช่น อาการไข้ น้ำมูก ปวดศีรษะเล็กน้อย ควรพบแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์หู คอ จมูก อายุรแพทย์ เป็นต้น เราอาจเพียงนอนพัก ทานยาลดไข้ ลดน้ำมูกอาการก็ดีขึ้น ไม่ต้องพบแพทย์เลย ถ้าอาการดีขึ้นหลังการดูแลตนเอง

3. การพบแพทย์เฉพาะทาง ทำให้ท่านเสียเวลา และอาจเสียโอกาสในการรักษาภาวะที่เร่งด่วนได้ เช่น โรคอัมพาตหลอดเลือดสมองนั้น ระบบการรักษาที่ดีที่สุด คือ การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลที่มีระบบการรักษาที่ครบถ้วน ซึ่งอาจไม่ได้มีแพทย์เฉพาะทางก็ได้ เนื่องจากมีการพัฒนาระบบบริการและความสามารถของแพทย์ พยาบาล เครื่องมือในการรักษาเบื้องต้นที่เพียงพอ เพราะต้องรีบให้การรักษาที่รวดเร็วที่สุด ผลการรักษาดีที่สุด ดังนั้นถ้าเราจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ท่านก็อาจเสียโอกาส เลยช่วงเวลาที่สำคัญ เวลาที่จะสามารถให้การรักษาได้ผลดี เนื่องจากโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางอยู่ไกลมาก เกินระยะเวลาที่จะสามารถให้การรักษาได้ทันเวลา

4. การพบแพทย์เฉพาะทางต้องรอคิวยาว เนื่องจากแพทย์เฉพาะทางมีจำนวนจำกัด มีเฉพาะในจังหวัดที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น อาจส่งผลให้ความรุนแรงของโรคเป็นมากขึ้น การรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลใกล้บ้านก็สามารถทำได้ ก่อนที่จะพบแพทย์เฉพาะทาง ก็ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ช่วยทำให้อาการดีขึ้น

5. การรักษากับแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลขนาดใหญ่นั้น ก็ทำได้ยาก เพราะแพทย์ก็จะมีคิวในการเข้ารับบริการมากอยู่แล้ว การเดินทางมาพบแพทย์เฉพาะทางโดยตรงมักทำได้ยาก พอมาถึงโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทาง เราก็ต้องเริ่มเข้ารับบริการตามขั้นตอนของระบบบริการในโรงพยาบาลนั้นๆ เช่น ต้องเริ่มตรวจกับแพทย์ทั่วไปก่อน ต้องตรวจตามขั้นตอน กว่าจะได้พบแพทย์เฉพาะทางก็เสียเวลาไปนานมาก ต้องมาหลายต่อหลายรอบจึงจะได้พบ แล้วจะทำอย่างไรดี

ผมแนะนำว่าเมื่อเรามีอาการผิดปกติใดๆ ก็ตาม ควรพบแพทย์ที่อยู่ใกล้เรามากที่สุดก่อนเสมอ พูดง่ายๆ ก็คือแพทย์ประจำครอบครัวเรา ไม่ว่าใครๆ ที่เจ็บป่วยก็พบแพทย์ท่านนี้ก่อน เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจประเมินและให้การรักษา ถ้าแพทย์ที่เราพบบอกว่าไม่สามารถให้การรักษาได้ ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง ต้องส่งตรวจอื่นๆ ต่ออีก กรณีนี้ในทางระบบทางการแพทย์ก็จะแนะนำเรา พร้อมมีจดหมายหรือจดหมายส่งตัว เพื่อให้การรักษาต่อในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือ มีหมอที่เชี่ยวชาญกว่า ก็จะทำให้เราสามารถเข้าถึงระบบการรักษากับแพทย์เฉพาะทางได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะในระบบการรักษานั้นจะมีระบบการส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชนมายังโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งถ้าเรามารักษาตามระบบ คือ เรื่องสิทธิ์การรักษาที่ถูกต้องตามขั้นตอน ทำให้ท่านไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้วางแนวทางด้านการส่งต่อ การรักษาพยาบาลไว้เป็นอย่างดี ผมอยากบอกอีกครั้งว่า การรักษากับแพทย์ใกล้บ้านเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดครับผม