คุยกับหมอสมศักดิ์ เทียมเก่า ตอน: ตอนยาฉีดหายเร็วกว่ายาทาน

talksomsak-15


ผู้ป่วยทุกคนเมื่อเจ็บป่วยหรือมีอาการเจ็บปวด ก็ต้องการให้แพทย์รักษาให้หายให้เร็วที่สุด เพื่อลดความทุกข์ทรมาน ก็จะบอกแพทย์ว่าให้ฉีดยารักษาด้วยนะ ขอยาดีๆ เลย เพื่อให้หายเร็วที่สุด และแพทย์เองก็ไม่สามารถทนความเรียกร้อง หรือความต้องการของผู้ป่วยได้ ก็เลยฉีดยาให้ผู้ป่วย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเวลาอธิบายยาวนาน เวลาแพทย์เองก็ยิ่งน้อยๆ อยู่ เหตุการณ์อะไรทำนองนี้เกิดขึ้นมากมาย มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีการรักษาว่าต้องใช้ยาฉีดเข้ากล้าม เข้าทางหลอดเลือดดำ จริงแล้วต้องอธิบายยาวหน่อยครับ ว่ายาฉีดไม่ได้มีประโยชน์ว่าหายเร็วกว่ายาทานครับ ทำไมต้องฉีดยา มีเหตุผลดังนี้ครับ

1. โรคนั้นๆ ไม่สามารถทานยาได้ เพราะโรคที่เป็นนั้นมีความรุนแรง ต้องใช้ยาฉีดก่อน เนื่องจากยาทานนั้นไม่สามารถดูดซึม หรือออกฤทธิ์ได้ในโรคดังกล่าว เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะติดเชื้อในสมอง เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น

2. ผู้ป่วยอาการหนัก ไม่รู้สึกตัว สัญญาณชีพไม่ดี ไม่สามารถทานยาได้ จึงต้องใช้ยาฉีดเท่านั้น

3. ยาบางชนิดไม่มีรูปแบบยาทาน ต้องฉีดเท่านั้น

4. ภาวะผิดปกตินั้น เป็นภาวะเร่งด่วนต้องใช้ยาฉีดเท่านั้น เพราะต้องการให้ยานั้นออกฤทธิ์เร็วที่สุด เช่น การชักต่อเนื่อง ภาวะหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น

5. ผู้ป่วยทานยาไม่ได้ เพราะไม่รู้สึกตัว หรือระบบทางเดินอาหารมีปัญหา ไม่สามารถดูดซึมยาได้

6. ผู้ป่วยภาวะหลังผ่าตัดช่องท้อง ลำไส้ ต้องให้งดน้ำ งดอาหาร ก็ต้องให้ยาฉีดเท่านั้น

7. ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาทาน ต้องเปลี่ยนเป็นยาฉีด เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ตอบสนองต่อยาเบาหวานชนิดทาน ต้องใช้อินซูลินชนิดฉีด

ดังนั้นการฉีดยาไม่ได้ทำให้โรคหรืออาการผิดปกติหายเร็วกว่ายาทานครับ ขึ้นกับความจำเป็นของการรักษามากกว่า การฉีดยานั้นอาจเกิดการแพ้ยาที่รุนแรงได้ง่ายกว่าการทานยา และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดยาได้ง่ายกว่าด้วย ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แพทย์จะไม่ฉีดยาครับ