คุยกับหมอสมศักดิ์ เทียมเก่า ตอน: ยาแต่ละโรงพยาบาลเหมือนหรือต่างกัน

talksomsak-14


โรคบางโรคต้องรักษาต่อเนื่องนานหลายต่อหลายปี หรืออาจต้องรักษาไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยบางรายต้องเดินทางไกลมาก เพื่อมารับยากับแพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ทั้งที่จริงแล้วโรงพยาบาลใกล้บ้านก็มียาชนิดเดียวกัน แพทย์ก็รักษาได้ แต่ผู้ป่วยก็ไม่มั่นใจ เนื่องจากยาที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านนั้นมีชื่อ สี กล่อง รูปร่างเม็ดยาที่แตกต่างกับยาที่โรงพยาบาลจังหวัด ทั้งๆ ที่จริงแล้วคือยาชนิดเดียวกัน เพียงแต่แตกต่างที่ยานั้นมียี่ห้อแตกต่างกันเท่านั้น

ในแต่ละโรงพยาบาลจะมีระบบการจัดซื้อยาที่ไม่เหมือนกัน เพราะระบบแตกต่างกัน สังกัดหน่วยงานที่ต่างกัน ส่งผลให้ยาที่ใช้ในแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกันในยี่ห้อต่างกัน โดยทั่วไปแล้วยาที่ใช้ในการรักษานั้นมียาต้นแบบ (original) ยาชื่อสามัญ (generic) ซึ่งยาต้นแบบและยาชื่อสามัญนั้นมีฤทธิ์ในการรักษาเหมือนกัน ไม่แตกต่างกันในด้านการดูดซึม การขับออก แต่ต่างกันที่ราคาอย่างมาก บางชนิดอาจต่างกันถึง 10-50 เท่า ด้วยเหตุผลนี้ที่ทำให้แต่ละโรงพยาบาลมียาต่างยี่ห้อกัน

การใช้ยาของแต่ละโรงพยาบาลนั้นก็มีนโยบายแตกต่างกัน บางแห่งใช้ยาต้นแบบ บางโรงพยาบาลใช้ยาชื่อสามัญ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการรักษา สิ่งสำคัญ คือ แพทย์ต้องอธิบายให้ผู้ป่วย ญาติมีความเข้าใจว่ายาที่ชื่อต่างกันนั้น รูปร่างต่างกันนั้น เป็นยาที่ออกฤทธิ์เหมือนกัน สามารถรักษาโรคได้เหมือนกัน ผลการรักษาเหมือนกัน ผู้ป่วยและญาติจะได้ไม่ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารักษาในโรงพยาบาลจังหวัด

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางคนก็ไม่สบายใจ ถึงแม้แพทย์จะอธิบายให้เกิดความเข้าใจ เกิดความเชื่อมั่น แต่ก็ยังไม่เข้าใจ ยังไม่กล้าใช้ยาที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน เราทุกคนต้องค่อยๆ ปรับตัว ปรับใจ ทำความเข้าใจกับสิ่งดังกล่าว ผมย้ำอีกครั้งว่ายาชื่อสามัญกับยาต้นแบบนั้นมีผลในการรักษาเหมือนกัน