คุยกับหมอสมศักดิ์ เทียมเก่า ตอน: รักษาโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลจังหวัดดี?

talksomsak-13


ผมพบผู้ป่วยทุกวันที่ต้องการมารับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เพราะผู้ป่วยและญาติมีความเชื่อมั่นในระบบการรักษา เชื่อมั่นตัวแพทย์ที่โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ผมเองต้องคอยอธิบายเหตุผลว่ากรณีไหนมีความจำเป็นที่ต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งต้องบอกว่าส่วนใหญ่แล้วสามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ผมขอแชร์แนวคิดของผมส่วนตัว ดังนี้

1. ความรุนแรงและอาการผิดปกติของผู้ป่วยว่าสามารถให้การวินิจฉัยและรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้หรือไม่ ถ้าอาการผิดปกตินั้นไม่รุนแรง และสามารถให้การรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ก็ควรรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ ไม่ต้องเดินทางไกล เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย

2. ความจำเป็นต้องการตรวจเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้ามีความจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอ็ม อาร์ ไอ ซึ่งไม่มีในโรงพยาบาลชุมชน กรณีนี้ก็จำเป็นที่ทางโรงพยาบาลชุมชนต้องส่งตัวมารับการตรวจต่อที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพื่อรับการตรวจดังกล่าวเพิ่มเติม เมื่อตรวจเพิ่มเติมเสร็จแล้ว และทราบว่าเป็นโรคอะไร สามารถรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านได้หรือไม่ ถ้าได้ก็รักษาใกล้บ้าน แต่ถ้าไม่พร้อมที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ก็ต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย

3. กรณีโรงพยาบาลชุมชนไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ จึงส่งต่อมาที่โรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เมื่อให้การวินิจฉัยได้แล้ว และสามารถรักษาต่อเนื่องได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ ก็ควรรรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้

4. กรณีรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านและอาการทรุดลงหรือไม่ดีขึ้น จึงส่งตัวมารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัด เมื่ออาการดีขึ้น สามารถส่งตัวกลับมารักษาที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านได้ ก็ควรรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องมารับการรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย

5. กรณีแพทย์โรงพยาบาลชุมชนสามารถให้การรักษาได้ดี แต่ไม่มียาที่โรงพยาบาลชุมชน กรณีนี้ก็น่าจะรับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนได้ แต่ต้องมีการประสานกับทางโรงพยาบาลจังหวัด เพื่อมีการส่งยาจากโรงพยาบาลจังหวัดมายังโรงพยาบาลชุมชน หรือพบแพทย์ที่โรงพยาบาลจังหวัดปีละ 1-2 ครั้ง และพบแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนเป็นประจำก็ได้

การรักษาและวินิจฉัยโรคในปัจจุบัน แพทย์มีระบบการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาได้ โดยผู้ป่วยมีความสะดวก ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยตนเอง การรักษาก็มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้การรักษานั้นเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ถึงแม้จะรักษาในสถานพยาบาลแตกต่างกัน แพทย์แตกต่างกัน โปรดมั่นใจในระบบสาธารณสุขไทยด้วยครับ เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง