คุยกับหมอสมศักดิ์ เทียมเก่า ตอน: ห้องพิเศษ เตียงรวม หอผู้ป่วยเฉพาะโรค เราป่วยจะเข้ารักษาที่ไหน

talksomsak-12


เมื่อมีอาการเจ็บป่วยก็ต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ถ้าอาการไม่รุนแรง แพทย์ก็จะให้ยาสั่งการรักษากลับมาทาน รักษาต่อที่บ้านได้ แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรง หรือจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์ก็จะสั่งการรักษาให้นอนพักรักษาในโรงพยาบาล การนอนรักษาในโรงพยาบาลนั้นก็มีหอผู้ป่วยหลายๆ หอผู้ป่วย เช่น หอผู้ป่วยรวม หอผู้ป่วยพิเศษ หอผู้ป่วยวิกฤติหรือ ไอ ซี ยู (ICU: intensive care unit) หอผู้ป่วยโรคหัวใจ หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke unit) และอื่นๆ แพทย์มีหลักการให้ผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลที่หอผู้ป่วยไหน อย่างไร ลองติดตามดูครับ

1. หอผู้ป่วยไอ ซี ยู กรณีนี้ คือ ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก อาการรุนแรง ต้องมีการเฝ้าติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยสัญญาณชีพ (ความดันโลหิต การหายใจผิดปกติรุนแรง) หมดสติ ใส่ท่อและต้องใข้เครื่องช่วยหายใจ ชักต่อเนื่อง ภายหลังการผ่าตัดใหญ่ เป็นต้น

2. หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง กรณีนี้ คือ ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง แขน ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก แบบเฉียบพลันภายใน 72 ชั่วโมงแรก เป็นต้น

3. หอผู้ป่วยโรคหัวใจ กรณีนี้ คือ ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหัวใจโดยเฉพาะ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภายหลังการสวนหลอดเลือดหัวใจ ภายหลังการผ่าตัดหัวใจ หัวใจวายรุนแรง เป็นต้น

4. หอผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน กรณีนี้ คือ ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ อาการเจ็บป่วยที่เป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว อาการไม่รุนแรงมาก นอนรักษาในโรงพยาบาลไม่นานหลายวันก็สามารถกลับบ้านได้ เป็นต้น

5. หอผู้ป่วยรวม กรณีนี้ คือ ผู้ป่วยทั่วๆ ไป ที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล อาการรุนแรงระดับหนึ่ง มีการแบ่งแผนกต่างๆ ชัดเจน ตามอาการผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคทางอายุรกรรม(ผู้ป่วยผู้ใหญ่ทั่วไป ไม่ต้องผ่าตัด) ผู้ป่วยศัลยกรรม (ผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด) ผู้ป่วยโรคหู คอ จมูก ผู้ป่วยโรคทางตา ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยสูติ นรีเวช ผู้ป่วยเด็ก (อายุน้อยกว่า 15 ปี) เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ถ้ามีอาการรุนแรงมากขึ้น ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง ก็ต้องย้ายเข้าสู่หอผู้ป่วยไอ ซี ยู

6. หอผู้ป่วยพิเศษ กรณีนี้ คือ ผู้ป่วยข้างต้นทั้งหมด ยกเว้นหอผู้ป่วยไอ ซี ยู ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคหัวใจ ถ้าอาการไม่รุนแรง และช่วยเหลือตนเองได้ มีญาติดูแลได้ตลอดเวลา และต้องการความสะดวก จ่ายค่าห้องพิเศษได้ ก็สามารถเข้าพักในห้องพิเศษได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ อาการของผู้ป่วยต้องไม่รุนแรง สัญญาณชีพต่างๆ ปกติ ซึ่งหอผู้ป่วยพิเศษ มีทั้งพิเศษเดี่ยว พิเศษรวม

7. หอผู้ป่วยสังเกตอาการ กรณีนี้ คือ ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องสังเกตอาการนานประมาณ 6-8 ชั่วโมง ยังไม่สามารถให้กลับบ้านได้เลย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลนานหลายวัน หรือผู้ป่วยภายหลังการตรวจเพิ่มเติมที่ต้องรอสังเกตอาการ เป็นต้น

ผู้ป่วยจะเข้านอนรักษาในหอผู้ป่วยไหน แพทย์และทีมรักษาจะเป็นผู้ตัดสินใจตามความจำเป็น ตามอาการ ตามความรุนแรงของอาการ ถ้าผู้ป่วยหรือญาติต้องการสอบถาม เพื่อความเข้าใจและสบายใจ ก็ควรสอบถามแพทย์ พยาบาลเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจและสบายใจของทุกคนครับ