คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน พบหมอต้องเตรียมตัวอย่างไร

somsaktalk-9


      

      ทุกคนคงไม่อยากไปหาหมอ เพราะการไปหาหมอก็คือมีอาการเจ็บป่วย การไปหาหมอแต่ละครั้งก็เสียทั้งเวลา เหนื่อย อาจหงุดหงิดอารมณ์เสียได้ เพราะเราไม่คุ้นเคยกับระบบบริการ และบางครั้งรอพบหมอนานมาก แต่พอเข้าไปพบหมอกลับไม่ได้รับการรักษาที่ควรได้รับ เพราะความไม่พร้อม เนื่องจากเราไม่เคยทราบมาก่อนว่า เราต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง วันนี้เรามาพูดคุยกันให้ละเอียดเลยครับว่า การเตรียมตัวพบหมอนั้นต้องเตรียมตัวอย่างไร เตรียมเอกสารอะไรบ้าง

      1.การเตรียมเอกสารให้พร้อม เอกสารที่สำคัญ คือ บัตรประชาชน หรือเอกสารที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก เอกสารที่บอกถึงสิทธิ์การรักษาพยาบาล เช่น บัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการ เอกสารการส่งตัวเพื่อรับการรักษาต่อ และเอกสารการยืนยันการส่งต่อพร้อมสิทธิ์การรักษาว่าทางโรงพยาบาลที่ส่งตัวมานั้น พร้อมในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล (กรณีสิทธิ์บัตรทอง ประกันสังคม) นอกจากเอกสารการระบุตัวบุคคล การยืนยันเรื่องสิทธิ์การรักษาแล้ว เอกสารด้านการรักษาพยาบาล ประวัติการรักษาที่แพทย์สรุปให้ หรือเวชระเบียนที่ทางโรงพยาบาลเตรียมสำเนาเอกสารให้ ต้องนำมาให้พร้อม รวมทั้งประวัติด้านการใช้ยา การรักษาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

      ปัญหาที่พบบ่อยเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์การรักษาหรือเอกสารการส่งตัว คือ ผู้ป่วยหรือญาติไม่ได้นำเอกสารมาด้วย หรือไม่นำเอกสารดังกล่าวให้ทางโรงพยาบาล เพราะกังวลใจว่าจะได้รับการรักษาที่ไม่ดี ถ้าใช้สิทธิ์การรักษาบัตรทอง หรือประกันสังคม ต้องบอกว่าวิธีการรักษาของหมอเกือบทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิทธิ์การรักษา มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่การรักษาขึ้นกับสิทธิ์การรักษา นอกจากนี้เมื่อท่านได้เอกสารการส่งตัวพร้อมสิทธิ์การรักษามานั้น ต้องอ่านให้เรียบร้อยว่าสิทธิ์การรักษานั้นครอบคลุมถึงวันไหน เพราะบางครั้งใช้สิทธิ์ได้เพียง 1 ครั้ง บางครั้งก็ใช้ได้ 3 ครั้ง หรือถูกกำหนดระยะเวลา 3, 6, 12 เดือน เป็นต้น

      2.ประวัติการรักษา ข้อมูลส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญในการพบหมอ เพราะหมอจะพิจารณาข้อมูลการรักษาจากประวัติการรักษาที่ผ่านมาร่วมกับข้อมูลที่หมอจะสอบถามจากผู้ป่วย ญาติอีกครั้งในการพบหมอครั้งนี้ โดยจะนำมารวมการตรวจร่างกายครั้งนี้ ข้อมูลจากหมอที่สรุปหรือเอกสารทั้งหมดที่โรงพยาบาลก่อนหน้านี้ให้มานั้น หมอจะนำมาพิจารณาร่วมกันทั้งหมด เพื่อให้การวินิจฉัยและวางแผนในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

      ปัญหาที่พบ คือ ผู้ป่วย ญาติไม่ได้นำประวัติการรักษาที่เคยได้รับมา เพราะอยากรู้ว่าหมอที่โรงพยาบาลใหม่นั้น ให้การวินิจฉัยเหมือนกับหมอก่อนหน้านี้หรือไม่ ซึ่งการคิดแบบนี้ไม่ถูกต้องอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าหมอจะใช้ข้อมูลการรักษาที่ผ่านมา ประกอบการวินิจฉัยด้วยเสมอ

      3.ยา ผลการตรวจต่างๆ ที่เคยได้รับมาด้วยเสมอ ยิ่งมีข้อมูลมากที่สุดเท่าไหร่ ก็มีผลดีต่อการวินิจฉัย การรักษาครั้งใหม่มากเท่านั้น กรณีที่มีข้อมูลจำนวนมาก ควรเรียงลำดับมาให้ดี เพื่อความถูกต้อง และสะดวกในการทบทวนของหมอ

      ปัญหาที่พบบ่อยเกี่ยวกับยา คือ นำแต่เม็ดยามา แต่ไม่ได้นำซองยามา ทำให้หมอไม่รู้จริงๆ ว่ายาที่ได้มานั้นคือยาอะไร ดังนั้นควรนำทั้งซองยา เม็ดยา และถึงแม้ยาจะหมด ก็ควรนำซองยามาด้วย กรณีที่ไม่รู้ชื่อยาที่เคยทาน แต่ถ้ามีการจดบันทึกชื่อยาไว้ทั้งหมด ก็ไม่จำเป็นต้องนำเม็ดยามาก็ได้

      4.ผู้ป่วยควรมากับญาติด้วยเสมอ ยกเว้นจะรู้แน่ชัดว่าจะไม่ได้ทำหัตถการอะไร ไม่ได้ตรวจอะไรเพิ่มเติม และสุขภาพแข็งแรง ไปไหนมาไหนคนเดียวได้ แต่ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย ไข้ วิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง สับสน ความจำไม่ดี พูดไม่ชัด และอื่นๆ ที่ไม่มั่นใจว่าจะเดินทางคนเดียวได้ ก็ควรมีญาติมาด้วยเสมอ

      5.การมาโรงพยาบาลเวลาไหน ก็ต้องสอบถามจากโรงพยาบาลที่ส่งต่อมาว่าให้มาพบหมอเวลาไหน ต้องทำอะไรบ้าง ต้องงดอาหารในวันที่มาพบหมอหรือไม่ แต่ถ้าไม่รู้ก็ควรสอบถามมาที่โรงพยาบาลที่จะมารักษา เพื่อจะได้เตรียมตัวได้ถูกต้อง แต่ถ้าไม่รู้หรือไม่แน่ใจ ก็ควรมาตอนเช้า งดอาหารไว้ก่อน และเมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็รีบสอบถามจากเจ้าหน้าที่อีกครั้งหนึ่ง ทำแบบนี้ก็จะลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้บ้าง

      6.ถ้าไม่เคยมาโรงพยาบาลมาก่อน เมื่อมาถึงก็ต้องสอบถามที่แผนกประชาสัมพันธ์ว่าจะต้องเริ่มต้นที่จุดไหนก่อน เพราะแต่ละโรงพยาบาลอาจมีระบบและขั้นตอนที่แตกต่างกัน

      7.ขั้นตอนสำหรับผู้ป่วยใหม่ ก็เริ่มจากการทำบัตรประจำตัวผู้ป่วย ต่อด้วยการตรวจสอบสิทธิ์การรักษา และรอพบหมอที่หน้าห้องตรวจตามโรคหรืออาการผิดปกติที่นำผู้ป่วยมาโรงพยาบาล แต่ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินนั้น ก็ต้องไปตรวจที่แผนกฉุกเฉิน

      8. เมื่อได้พบหมอแล้ว หมอก็จะเริ่มจากการสอบถามข้อมูลการเจ็บป่วย ทบทวนประวัติการรักษาเก่าที่ผ่านมา การตรวจร่างกาย และให้การวินิจฉัยเบื้องต้น ถ้าจำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์หรืออื่นๆ เพื่อประกอบการวินิจฉัย การวางแผนการรักษา หรือการผ่าตัด แต่ถ้าไม่จำเป็นก็สั่งการรักษาได้เลย

      9.ถ้าไม่มีการตรวจเพิ่มเติมก็ไปรับยา และติดต่อแผนกการเงิน เพื่อจัดทำเอกสานด้านการเงิน กลับบ้านได้ และมาพบหมอตามนัดอีกครั้งตามระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งหมอหรือพยาบาลจะเป็นผู้แจ้งกับผู้ป่วยว่าควรนัดมาตรวจรักษาอีกเมื่อไหร่ แต่ถ้ามีการตรวจเพิ่มเติม ก็ไปตรวจหรือนัดตรวจ พร้อมกับมาพบหมอตามนัดอีกครั้ง

      10. การมาพบหมออีกครั้ง ก็ต้องเตรียมตัวเหมือนกับครั้งแรก แต่จะง่าย สะดวก รวดเร็วขึ้นมาก เพราะขั้นตอนของผู้ป่วยเก่าจะน้อยกว่าผู้ป่วยรายใหม่ การมาพบหมอครั้งนี้ถ้าดี ก็ควรโทรศัพท์มาสอบถามว่าหมอที่นัดออกตรวจหรือไม่ เพราะบางครั้งก็อาจมีการเลื่อนนัดได้ เมื่อพบหมอก็จะต้องบอกหมอด้วยว่าที่ผ่านมานั้นอาการดีขึ้น ไม่ดี แย่ลง มีผลข้างเคียงของยาที่ได้ทานหรือไม่ ปัญหาที่พบบ่อย คือ พออาการไม่ดีก็ไม่บอก มีอาการข้างเคียงของยาก็ไม่บอกหมอ แต่จะหยุดยาไปเอง หรือไม่มาพบหมอตามนัดอีก เปลี่ยนหมอไปที่อื่นๆ อีก ทำให้การรักษาไม่มีความต่อเนื่อง การรักษาแล้วไม่หาย ไม่ดี ก็ควรบอกหมอเพื่อให้การปรับเปลี่ยนการรักษาที่เหมาะสม ดีขึ้นต่อไป

      การเตรียมตัวที่พร้อมทั้งเอกสาร ข้อมูลด้านการรักษาและเตรียมใจให้พร้อมก็จะทำให้การพบหมอนั้นเป็นไปด้วยความราบรื่นครับ