คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน โรงเรียนแพทย์กับระบบสุขภาพประเทศไทย

somsaktalk-40


      

      ผมทำงานที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอาจารย์แพทย์มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน รวม 23 ปี เกิดความสงสัยว่าตนเองได้ทำหน้าที่ของอาจารย์แพทย์สมบูรณ์หรือไม่ เพราะหน้าที่หลักของโรงเรียนแพทย์ คือ การสร้างบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการดูแลผู้ป่วยให้หายจากโรค และความทุกข์ทรมาน ดังนั้นอาจารย์แพทย์ก็ต้องมีหน้าที่สอน และปฏิบัติหน้าที่อย่างดี เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับนักศึกษาแพทย์ แพทย์ฝึกหัด แพทย์ที่เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง แต่ผมเริ่มมีความสงสัยว่าสิ่งที่อาจารย์โรงเรียนแพทย์ทำอยู่ตอนนี้เป็นไปตามหน้าที่หลักของเราหรือไม่

      ทางมหาวิทยาลัยได้กำหนดให้อาจารย์แพทย์ทำหน้าที่ 4 ด้าน คือ 1. การเรียนการสอน 2. การบริการวิชาการ คือ ตรวจรักษาผู้ป่วย 3. การวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิจัย 4. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเองก็ต้องผลักดันให้แต่ละคณะมีผลงานระดับนานาชาติ สร้างองค์ความรู้ใหม่ เผยแพร่ผลงานในระดับนานาชาติ เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับโลกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะคณะแพทย์ซึ่งมีจำนวนอาจารย์มาก ก็ต้องสร้างผลงานระดับนานาชาติจำนวนมาก ตรงนี้เองอาจทำให้งานที่ต้องทำกับหน้าที่หลักไม่สอดคล้องกันทีเดียว

      ผมพยายามทบทวนว่าแล้วส่วนไหนที่เราทำหน้าที่สร้างบัณฑิตแพทย์ที่เหมาะสมกับระบบสาธารณสุขของประเทศ ผมเองไม่เคยมีความรู้มาก่อนเลยว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องการแพทย์แบบไหน ควรมีความรู้เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขมากน้อยแค่ไหน ผมลองทบทวนว่าผมเคยสอนอะไรเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขให้นักศึกษาแพทย์ และแพทย์บ้าง ซึ่งก็ได้คำตอบว่าไม่ค่อยได้สอนเลยเกี่ยวกับระบบสุขภาพ แล้วทำไมไม่ได้สอน ก็เพราะเราเองก็ไม่รู้เรื่องของระบบสุขภาพ

      แล้วใครจะสอนนักศึกษาแพทย์ แพทย์เหล่านั้น เมื่อผมไม่ได้สอน ตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นโอกาสพัฒนาอย่างยิ่งที่ทางคณะแพทย์ต้องพยายามพัฒนา หารูปแบบการเรียนการสอนในประเด็นนี้ การมอบหมายให้ภาควิชาใด ภาควิชาหนึ่งสอนเรื่องระบบสุขภาพก็อาจเป็นวิธีหนึ่ง แต่ถ้าเราทำให้อาจารย์แพทย์ทุกคนทราบเรื่องนี้ และมีการพูดให้นักศึกษาแพทย์ฟัง คิด วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนความเห็นเป็นประจำในกรณีที่มีประเด็นเกี่ยวกับระบบสุขภาพในผู้ป่วยแต่ละราย ก็น่าจะดีกว่ามิใช่หรือ

      อาจารย์แพทย์ส่วนหนึ่งก็ชอบบ่น หรือต่อว่าระบบสุขภาพของประเทศไทยว่าไม่ดี มีปัญหา หรือไม่พอใจระบบหลักประกันสุขภาพ บัตรทองว่าเป็นตัวสร้างปัญหาให้เกิดปัญหาสภาพคล่องด้านการเงิน ทำให้การรักษาไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ชอบออกแนวทางการรักษามากำหนด หรือบังคับให้แพทย์ต้องรักษาตามแนวทางที่กำหนดมาเท่านั้น ทำให้แพทย์ไม่สามารถปรับเปลี่ยนการรักษาได้

      ที่สำคัญ คือ คณะแพทย์ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างไรบ้าง การสอนให้นักศึกษาแพทย์เข้าใจระบบสุขภาพอย่างไร มีทัศนคติที่ดีต่อระบบสุขภาพ ระบบหลักประกันสุขภาพอย่างไร มีความพร้อมและยินดีในการบริการรักษาผู้ป่วยบัตรทองอย่างไรบ้าง

      การกำหนดหน้าที่หรือภาระกิจของคณะแพทย์ ของมหาวิทยาลัยนั้นจะเป็นเข็มทิศที่คอยนำทางให้อาจารย์แพทย์ทุกคนได้สร้างแพทย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับระบบสุขภาพของประเทศไทย

      อีกประการหนึ่ง คือ อาจารย์แพทย์ที่เห็นว่าระบบสุขภาพของประเทศมีปัญหา ระบบบัตรทองมีปัญหา แต่ก็ไม่เคยเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวเลย แล้วจะทำอย่างไรกับระบบสุขภาพ ระบบบัตรทอง เพราะท่านทั้งหลาย คือ ระดับหัวกระทิของระบบสุขภาพประเทศไทย

      ผมเองมีความเชื่อมั่นว่าถ้าอาจารย์โรงเรียนแพทย์ได้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง จริงใจและมุ่งมั่นที่จะร่วมกันพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย เพื่อการไปต่อของระบบสุขภาพของประเทศไทย ก็น่าจะเป็นการคืนความสุขให้กับคนไทยทั้งประเทศ และเป็นการสอนอย่างดี หรือเป็นตัวอย่างที่ดีต่อนักศึกษาแพทย์ แพทย์ฝึกหัดต่างๆ สร้างแพทย์ให้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับระบบสุขภาพของประเทศไทย

      ที่มาของเรื่องราวนี้ เพียงแค่ผมสงสัยว่า ผมในฐานะอาจารย์แพทย์ สังกัดคณะแพทย์ มหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษานั้น ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยอย่างไรบ้าง