คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอนโรงเรียนแพทย์กับระบบสาธารณสุขไทย

somsaktalk-39


      

      โรงเรียนแพทย์หรือคณะแพทย์ที่สังกัดมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยนั้นมีภาระกิจหลากหลายด้าน ผมพอจะสรุปได้เป็นภาระกิจด้านต่างๆ ดังนี้

      1. ด้านการผลิตบัณฑิตแพทย์ ซึ่งดูเสมือนเป็นหน้าที่หลักทั้งในระดับปริญญาตรี คือ แพทยศาสตร์บัณฑิต และระดับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะทางต่างๆ การผลิตแพทย์ในแต่ละสถาบันมีการผลิตบัณฑิตแพทย์ปีละหลายร้อยคน เพราะรัฐบาลมีโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม เพื่อให้เพียงพอต่อสถาณการณ์ขาดแคลนแพทย์ในปัจจุบัน (จริงแล้วอาจขาดแคลนไม่มาก แต่การกระจายตัวไม่เหมาะสมมากกว่า) ซึ่งการผลิตบัณฑิตแพทย์นั้นจะควบคู่ไปกับการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ตรงประเด็นนี้เองที่ทำให้บัณฑิตแพทย์มีเวลาเรียนโดยตรงกับอาจารย์แพทย์ลดลง แต่จะได้เรียนรู้จากพี่ๆ แพทย์ที่มาฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีตที่อาจารย์แพทย์จะสอนและฝึกการปฏิบัติให้นักศึกษาแพทย์โดยตรง แต่ในปัจจุบันอาจารย์แพทย์จะใช้เวลาไปกับการสอนแพทย์เฉพาะทาง การทำวิจัยมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นอีกภาระกิจหนึ่งที่คณะแพทย์ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ กำหนดให้ทำหน้าที่ส่วนนี้ ส่งผลให้นักศึกษาแพทย์ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากอาจารย์แพทย์ลดลงไป

      2. ด้านการวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ ภาระกิจนี้เองที่ทำให้อาจารย์ต่างๆ ต้องปรับตัว ปรับหน้าที่ใหม่ และใช้เวลาในส่วนนี้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน อาจารย์แพทย์ทุกคนต้องทำวิจัย เพื่อให้ผ่านการประเมินของหน่วยงาน ดังนั้นงานวิจัยในปัจจุบันก็จะมีมากกว่าแต่ก่อน แต่อาจไม่ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่มากนัก หรือสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาวิธีการรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคต่างๆ ได้ เพราะการวิจัยนั้นมีทั้งในส่วนของบริษัทยาข้ามชาติที่ได้มาจ้างให้อาจารย์แพทย์ทำวิจัยส่วนนี้เองใช้เวลาของอาจารย์แพทย์ไปเป็นอย่างมาก งานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ของสังคมเองกับมีไม่มากนัก เนื่องจากเมื่อทำแล้วก็อาจไม่สามารถนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติได้ เนื่องจากเป็นปัญหาเฉพาะของประเทศไทยหรือท้องถิ่นนั้นๆ โดยเฉพาะ จึงตีพิมพ์ได้เฉพาะวารสารในประเทศไทย ซึ่งก็มีผลต่อการประเมินค่าของผลงานน้อยมาก อาจารย์แพทย์ก็อาจไม่อยากทำการวิจัยรูปแบบนี้

      3. ด้านงานคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นงานคุณภาพด้านการศึกษา (QA) ด้านการบริการ (HA) และอื่นๆ อีกหลากหลายด้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ใช้เวลาของอาจารย์แพทย์ไปอย่างมาก และผมเองก็ไม่มั่นใจว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นชัดเจนมากน้อยเพียงใด เพราะการประเมินงานด้านคุณภาพที่เกิดขึ้นนั้น ดูเสมือนจะเน้นไปที่งานเอกสาร หลักฐานต่างๆ มากกว่าการทำงานจริงๆ เน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธิ์ที่เกิดขึ้น

      4. ด้านการบริการวิชาการ หรือการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ปัจจุบันต้องยอมรับว่าความสามารถในการรักษาผู้ป่วยของโรงเรียนแพทย์ต่างๆ นั้นอยู่ในมาตรฐานระดับนานาชาติทั้งสิ้น มีผู้ป่วยให้การยอมรับไว้ใจ และเลือกที่จะมารับการรักษาในโรงเรียนแพทย์ แต่ผู้ป่วยที่จะเข้าถึงระบบการรักษาของโรงเรียนแพทย์นั้นก็มีเฉพาะกลุ่มข้าราชการ คนที่มีญาติพี่น้องกับเจ้าหน้าที่หรืออาจารย์แพทย์ในคณะ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย โอกาสที่คนไข้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพจะเข้าถึงก็มีไม่มากนัก เพราะระบบสุขภาพของประเทศไทยที่มีการกำหนดให้ผู้ป่วยควรรับการรักษาในเขตบริการสุขภาพหรือโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนสิทธิ์การรักษาไว้ ระบบการส่งต่อและระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็เป็นอุปสรรคหนึ่งของการเข้าถึงระบบบริการของโรงเรียนแพทย์เช่นกัน

      คราวนี้ลองมาดูว่าเราจะมีแนวทางอย่างไรที่ทำให้โรงเรียนแพทย์มีส่วนร่วมในระบบบริการสุขภาพของประเทศให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมเองมีความเห็นดังนี้ครับ

      1. การผลิตบัณฑิตแพทย์นั้นต้องมีการพัฒนาร่วมกันกับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างบูรณาการในทุกระดับของการบริการ และเข้าใจ เข้าถึงปัญหาด้านสุขภาพของชุมชนจริง มิใช่เรียนตามหลักสูตรที่ทางคณะแพทย์เป็นผู้กำหนดว่าเหมาะสมเท่านั้น รวมทั้งต้องให้นักศึกษาแพทย์มีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติจริงในสถานบริการสุขภาพทุกระดับ และให้ทีมสุขภาพในทุกระดับได้มีโอกาสให้ความรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ตรงกับนักศึกษาแพทย์ มีการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

      2. ด้านการวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่นั้น ควรเน้นหนักไปที่ปัญหาของชุมชนจริงๆ และเป็นการศึกษาที่สามารถนำไปแก้ปัญหาด้านสุขภาพของชุมชนได้อย่างเป็นระบบและบูรณาการในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่การทำวิจัยเพียงมุมหนึ่งมุมใดของปัญหาเท่านั้น เน้นการทำวิจัยเป็นทีม เพื่อให้เกิดการมองปัญหาอย่างครอบคลุม ก่อให้เกิดการแก้ปัญหาและการทำงานอย่างบูรณาการ มหาวิทยาลัยเองก็ควรให้การประเมินผลงานวิจัยที่สามารถแก้ปัญหาของชุมชนให้มีคุณค่ามากกว่าการวิจัยที่ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ แต่มิได้แก้ปัญหาของชุมชน อย่าเน้นผลงานวิจัยเพียงแค่การตีพิมพ์ หรืออ้างอิงในระดับสากล เพื่อการจัดลำดับมหาวิทยาลัยของหน่วยงานต่างๆ ในระดับสากลเพียงอย่างเดียว ควรให้คุณค่าของการตีพิมพ์ในวารสารของมหาวิทยาลัย และวารสารระดับชาติด้วยเช่นกัน

      3. ด้านงานคุณภาพ ควรมีการพัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพที่เป็นของประเทศไทยเองจริงๆ เน้นการประเมินที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาจริงๆ มากกว่าการประเมินเอกสาร การนำเสนอ แต่ผลลัพธิ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย หรือการพัฒนาก็มีเฉพาะรอบเวลาที่มีการประเมินเท่านั้น เราต้องสร้างวัฒนธรรมด้านการพัฒนาคุณภาพแบบจริงจัง มิใช่การลอกเลียนแบบวิธีการประเมินของต่างประเทศเท่านั้น ผู้ประเมินก็ควรประเมินแบบสร้างสรร พร้อมมีข้อเสนอที่สามารถทำได้ มิใช่บอกแต่ว่ายังทำได้ไม่ดี ไม่ผ่านการประเมินให้ปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐาน แต่ไม่มีคำแนะนำที่สามารถทำได้จริง และเหมาะสมกับบริบทของหน่วยงานนั้นๆ ถ้าทำได้แบบนี้ก็จะเป็นการสร้างสรรและพัฒนา ผู้เกี่ยวข้องก็จะมีความสุขในการพัฒนางานด้านคุณภาพ

      4. ด้านการบริการวิชาการ เป็นด้านที่จะเกี่ยวข้องและมีผลต่อประชาชนคนไทยอย่างมาก โรงเรียนแพทย์ต้องเพิ่มโอกาสให้ประชาชนทั่วไป ผู้เจ็บป่วยสามารถเข้าถึงระบบบริการที่พัฒนาหรือให้บริการโดยโรงเรียนแพทย์มากขึ้นอย่างเป็นระบบ มิใช่เป็นไปตามโอกาสหรือระบบอุปถัมภ์ การปรับแนวคิดจากการที่ต้องรอผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการ เปลี่ยนเป็นทำอย่างไรให้ระบบบริการที่โรงเรียนแพทย์พัฒนาขึ้นนั้นให้สามารถเข้าถึงผู้ป่วยหรือประชาชนคนไทยได้ง่ายขึ้น ดังนั้นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ต้องร่วมกับสมาคมวิชาชีพ กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบการรักษา การพัฒนาแนวทางการรักษาที่ใช้ได้จริงในโรงพยาบาล และโรงเรียนแพทย์ควรเข้าร่วมการบริการด้านสุขภาพกับทุกโครงการของ สปสช. เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงประชาชน และผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญเป็นการสอนให้นักศึกษาแพทย์เรียนรู้ว่าหน้าที่ของแพทย์คืออะไร ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยเป็นอย่างไรตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ และได้เห็นตัวอย่างที่ดีจากอาจารย์แพทย์ และโรงเรียนแพทย์