คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน ฉุกเฉินรักษาฟรี

somsaktalk-37


      

      การเจ็บป่วยไม่สามารถเลือกเวลาได้ ไม่สามารถเลือกสถานที่ได้ว่าจะเจ็บป่วยเวลาไหน ที่ใด และถ้าเป็นการเจ็บป่วยที่รุนแรง หรืออยู่ในภาวะฉุกเฉินก็ต้องรีบเข้ารับการรักษาพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อให้ชีวิตปลอดภัย โดยในเวลานั้นไม่สามารถเลือกได้ว่าจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชน เพราะทุกคนต้องรีบให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ปลอดภัยไว้ก่อน ดังนั้นนโยบาย ภาวะฉุกเฉินรักษาฟรี ในทุกโรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชนจึงเป็นสิ่งที่ผมเห็นด้วย สนับสนุนเต็มที่ และคนไทยทุกคนต้องได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้แน่นอน แต่ก็มีหลายสิ่ง หลายอย่างที่ผมเห็นว่าทุกคน ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกันอย่างดี ในการแก้ไขปัญหาที่จะต้องพบอย่างแน่นอน เช่น

      1. เหตุการณ์การเจ็บป่วยนั้นเป็นภาวะฉุกเฉินในมุมของผู้ป่วยกับญาติ แต่ทางการแพทย์บอกว่าไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน เพราะวิธีการคิดของผู้ป่วยกับญาติ มักมีแนวโน้มว่าการเจ็บป่วยใดๆ ที่รุนแรง ทรมาน ก็จะคิดว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน แต่ทางการแพทย์ก็จะมีแนวทางการประเมินว่าเป็นภาวะฉุกเฉินหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้คงต้องทำความเข้าใจกับสังคมเป็นอย่างดี

      2. โรงพยาบาลเอกชนอาจจะมีแนวโน้มไม่รับผู้ป่วยที่ไม่มีหลักประกันใดๆ เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล เช่น ประกันชีวิต เศรษฐานะไม่ดี เพราะการเบิกค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานของรัฐอาจไม่คุ้มทุน

      3. เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน เมื่อเกินระยะเวลา 72 ชั่วโมง แล้วยังไม่สามารถหาเตียงรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐได้ การรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 72 ชั่วโมง เพราะค่าใช้จ่ายนั้นจะสูงมากขึ้น เพราะอาจไม่ได้ใช้ค่ารักษาพยาบาลที่ตกลงกันไว้ใน 72 ชั่วโมง

      4. กรณีที่ผู้ป่วยระบุว่าต้องการนอนรักษาต่อในโรงพยาบาลเอกชน เพราะเห็นว่านอนรักษาต่ออีกเพียง 1-2 วัน แล้วตัดสินใจว่าจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินเอง แต่ปรากฏว่าอาการเจ็บป่วยนั้นไม่ดีขึ้นตามที่คาดไว้ ผู้ป่วยต้องนอนรักษาต่อในโรงพยาบาลเอกชนเป็นระยะเวลานาน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก็จะเป็นปัญหาว่าใครจะรับผิดชอบ ก็เกิดการโต้แย้งแน่นอน

      5. ใครจะเป็นผู้ประสานกับโรงพยาบาลของรัฐในการจัดหาเตียง เพื่อรับย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเอกชนไปยังโรงพยาบาลของรัฐตามสิทธิ์การรักษา ระหว่างสถานพยาบาลที่เป็นเจ้าของสิทธิ์ โรงพยาบาลเอกชน ผู้ป่วยกับญาติ หรือองค์กรส่วนกลาง เพราะการหาเตียงไม่ใช่เรื่องง่าย

      6. ผู้ป่วยที่เป็นภาวะฉุกเฉินจริง และเมื่อพ้นวิกฤติแล้ว แต่ยังอยู่ภายใน 72 ชั่วโมงและรู้สึกไม่ได้รับความสะดวกสบายในการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ อยากไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนและจะขอใช้สิทธิ์ฉุกเฉิน 72 ชั่วโมงได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าจะมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น

      7. การรักษาในโรงพยาบาลเอกชนจะเป็นแพทย์เฉพาะทางหรือแพทย์เวร เพราะปกติในโรงพยาบาลเอกชนก็จะมีการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางให้มาร่วมดูแลด้วยเสมอ แต่ถ้ากรณีผู้ป่วยใช้สิทธิ์ฉุกเฉิน จะมีการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางมาร่วมดูแลหรือไม่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

      8. กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน และต่อมามีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจเป็นผลจากการรักษาที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด แล้วมีภาวะเลือดออกในเนื้อสมองวันที่ 3 ของการรักษา ซึ่งจะพ้น 72 ชั่วโมงหลังการเจ็บป่วย ต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดสมอง เหตุการณ์แบบนี้จะผ่าตัดในโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนที่ให้การรักษาตอนแรก

      9. กรณีที่รักษาในโรงพยาบาลเอกชนด้วยอาการที่หนักมากๆ เมื่อพ้นช่วง 24 ชั่วโมงอาการดีขึ้นมาก จนพ้นภาวะวิกฤติแล้ว ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก จะให้ประสานการย้ายไปโรงพยาบาลของรัฐเลย เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่ญาติไม่พอใจ ต้องการให้รักษาครบ 72 ชั่วโมง แบบนี้จะทำอย่างไร

      10. การรับย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเอกชนมาในโรงพยาบาลของรัฐ ก็ต้องมีการเรียงลำดับคิวก่อนหลัง แล้วถ้ามีผู้ป่วยที่จองคิวมาก่อนหลายวันแล้ว แต่ไม่ได้ย้ายมา แต่พอมีกรณีผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์ฉุกเฉินต้องย้ายมาตัดหน้าก่อน เพราะเกินระยะเวลา 72 ชั่วโมง แบบนี้จะคุยกับทางผู้ป่วยรายที่รอคิวมาก่อนอย่างไร ใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยรายนั้นที่ไม่สามารถย้ายมาได้ เพราะถูกคิวพิเศษตัดหน้าก่อน

      ที่ผมคิดตัวอย่าง 10 กรณีข้างต้น เพื่ออยากให้ทางผู้รับผิดชอบคิดหาทางออกให้ผู้ปฏิบัติงาน ที่อยู่หน้างาน เช่น ศูนย์รับส่งต่อ แพทย์ห้องฉุกเฉิน ต้องเผชิญหน้ากับการถูกกดดันทั้งจากญาติผู้ป่วย โรงพยาบาลเอกชน กฏระเบียบต่างๆ ผมไม่มีเจตนาชี้โพรงให้กระรอก แต่อยากให้คิดวางแผนแก้ปัญหาล่วงหน้าให้ด้วยครับ