คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน ช่วยกันลดการขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐ

somsaktalk-36


      

      ทุกคนคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับสภาพคล่องทางด้านการเงินของโรงพยาบาลของรัฐว่ามีสภาพขาดทุน มีทั้งขาดทุนหลายร้อยล้านบาท จนหลายต่อหลายคนกังวลใจว่าจะมีเงินจ่ายค่ายา ค่าวัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งเงินเดือนเจ้าหน้าที่หรือไม่ จะส่งผลต่อการรักษาพยาบาลหรือไม่ ในวันนี้ ตอนนี้ผมว่าเราลองมาช่วยกันคิดทั้งทีมผู้ให้การรักษา และประชาชน ผู้ป่วยว่าจะมีวิธีอะไรที่จะช่วยลดการขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐได้ ผมว่าเราคงมี 2 วิธีหลัก คือ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายรับ ลองมาช่วยกันครับ

      1. เพิ่มรายรับ ได้แก่ ผู้ป่วยที่พอจะมีรายได้ ไม่ลำบากในการร่วมบริจาคให้โรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ เช่น ไปโรงพยาบาลทุกครั้งก็ร่วมบริจาคเหมือนเราไปวัด ไหว้พระทุกครั้งเราก็ทำบุญกับทางวัดทุกครั้ง ผมอยากให้ทำเหมือนกันครับ ไปโรงพยาบาลก็ร่วมบริจาคทุกครั้ง มากน้อยตามกำลังทรัพย์และความเหมาะสมของแต่ละคน หรือการจัดงานวันเกิดก็ร่วมมาบริจาคให้โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเองก็อาจมีโครงการวันละบาท โรงพยาบาลอยู่ได้ เพื่อร่วมสนับสนุนงบประมาณของโรงพยาบาลและการมีส่วนร่วมของทุกคน ก็จะทำให้ทุกคนในสังคมเกิดความตะหนักในการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับด้านสุขภาพ นักศึกษาแพทย์ก็อาจมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์หาเงินบริจาคให้โรงพยาบาล โดยอาจผ่านสโมสรนักศึกษา หรือสมาคมผู้ปกครอง สมาคมศิษย์เก่าของแต่ละสถาบันก็ออกมาร่วมด้วยช่วยกันครับ บางคนอาจดูเหมือนว่าผมฟุ้งซ่านมากไป อะไรมันจะต้องขนาดนั้น แต่ผมเชื่อว่าเมื่อทุกคนมีส่วนร่วม นอกจากจะเกิดผลในด้านงบประมาณที่มีเพิ่ม อาจไม่มากนักแต่ก็ได้การมีส่วนร่วม ความตะหนักของสังคมต่อปัญหาสภาพคล่องด้านการเงินดังกล่าว ส่งผลให้ทุกคนมีความประหยัด และคิดถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ไม่ฟุ่มเฟื่อย ไม่ใช่ใครอยากได้อะไรก็ต้องได้ ผมหวังผลในด้านนี้ด้วยครับ

      2. ลดรายจ่าย เริ่มจาก ทุกโรงพยาบาลคงต้องหาทางประหยัดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ ถึงจะเป็นเงินที่ไม่มาก แต่ก็ทำให้ทุกคนเกิดนิสัยในการประหยัด รักองค์กร แค่คิดว่าโรงพยาบาลก็คือบ้าน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็คือเงินในครอบครัวของเราที่ต้องเสียไป ด้านผู้ป่วยก็ต้องเคารพการตัดสิ้นใจของแพทย์ในการวางแผนการรักษา เช่น แพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่มีความจำเป็นต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจังหวัด สามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลชุมชน ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดหรือการตรวจเพิ่มเติมอะไรทำนองนี้ ก็อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นในการตัดสินใจของแพทย์และทีมสุขภาพ มีการใช้ยาที่ได้ไปนั้นอย่างคุ้มค่า ต้องรักษาตัวเอง ทานยาให้ครบ หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ พูดง่ายๆ ก็คือ การดูแลตนเองให้ดี อย่าให้เกิดโรคที่เกิดจากการไปหามา เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การเกิดอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท การขาดยา การทานยาเกินขนาด การทำร้ายตนเอง และอื่นๆ ที่สามารถป้องกันหรือไม่ให้เกิดได้ ก็ไม่ควรเกิด การเคารพการตัดสินใจของแพทย์ในการเลือกการใช้ยาอย่างสมเหตุผล รวมทั้งการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (palliative care) ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีเป็นจำนวนมากขึ้น ทั้งผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ป่วยอวัยวะส่วนสำคัญล้มเหลวหมดแล้ว ผู้ป่วยไม่รู้สติ ผู้ป่วยไร้ญาติดูแล และอื่นๆ ที่ทางโรงพยาบาลต้องทุ่มเททรัพยากรลงไปเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ป่วยและญาติไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผมว่าถ้าเรามีความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างทีมผู้ให้การรักษาและผู้ป่วย ญาติ ประชาชนทั่วไปในสังคมประเทศไทย ผมเชื่อว่าเราก็จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ ก็จะช่วยลดปัญหาการขาดทุนไปได้

      องค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องคงต้องมาร่วมมือกันช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่าเหตุหลัก คืออะไร และค่อยๆ แก้ไขอย่างเป็นระบบร่วมกัน ไม่อยากให้แต่ละคนก็ออกมาบอกว่าไม่เกี่ยวกับตน เป็นเพราะระบบเป็นแบบโน้นแบบนี้ครับ ตอนนี้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้หรือไม่ได้คิดไว้ก็ตาม ถึงเวลาที่พวกเราคนไทยทุกคนต้องหันหน้ามาร่วมมือกันช่วยให้ระบบสุขภาพของประเทศนั้นมีการพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ สามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤติของปัญหานี้ไปได้ และผลจากการร่วมมือกันนี้ก็จะทำให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างถ้วนหน้าครับ เชื่อผมเถอะ