คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน ถึงน้องหมอในยุค THAILAND 4.0

somsaktalk-34


      

      ปัจจุบันนโยบายการพัฒนาประเทศไทยระยะ 20 ปีต่อจากนี้ไป จะดำเนินไปตามแนวทางการพัฒนาประเทศ ประเทศไทยยุด 4.0 เพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศไทย และมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น รายได้เฉลี่ยต่อประชากรสูงขึ้น โดยหวังว่าคนไทยจะมีความสุขมากขึ้น แต่สิ่งที่ผมเป็นห่วง คือ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจอาจจะส่งผลต่อระบบสุขภาพ ผมเลยลองนั่งคิดจากประสบการณ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน พอจะคาดการณ์ได้ดังนี้

      1. โรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในยุครีบเร่ง มุ่งหวังด้านเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCD) เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง โรคอัมพาต โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไต โรคจากการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น โรคตับ อุบัติเหตุ เพิ่มสูงขึ้น

      2. โรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม โรคกระดูกพรุน กระดูกหัก และผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยระยะสุดท้ายสูงมากขึ้น

      3. ผู้ป่วยเข้าถึงระบบสุขภาพได้สูงขึ้น และจะนอนรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น นอนนานขึ้น เนื่องจากโรคเรื้อรัง และภาวะการนอนติดเตียง ครอบครัวเดี่ยวจึงไม่สามารถรับผู้ป่วยกลับไปดูแลที่บ้านได้

      4. ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงปั้นปลายของชีวิต

      5. การร้องเรียน ความไม่พึงพอใจต่อการบริการ บริบาลของทีมสุขภาพสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากความต้องการที่สูงขึ้น ปริมาณงานที่มากขึ้น การขาดแคลนบุคลากรที่เพิ่มมากขึ้น ขาดแคลนทรัพยากรมากขึ้น รวมทั้งความอดทนของบุคลากรด้านสุขภาพที่เปลี่ยนไปจากอดีต และปัจจุบัน เนื่องจากสภาพของสังคมและทัศนคติที่เปลี่ยนไป

      6. ค่านิยมในการทำงานด้านสุขภาพของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป อาจเกิดสภาพขาดแคลนพยาบาล และแพทย์มากขึ้น โดยเฉพาะในเขตชนบท ส่วนในเขตเมืองก็อาจมีแพทย์จำนวนมากเกินความเหมาะสม

      7. การแพทย์จะมุ่งเน้นในการใช้เทคโนโลยีมากกว่าความสามารถด้านทักษะการซักประวัติและตรวจร่างกาย การคิดอย่างมีเหตุผล เพราะด้วยค่านิยมของคนไทย และวงการแพทย์ที่คิดตามแนวทางการแพทย์แบบอเมริกา รวมทั้งอิทธิพลจากการสื่อสารที่ง่าย รวดเร็ว ทำให้คนไทยเห็นว่าคนในต่างประเทศใช้เทคโนโลยีช่วยในการวินิจฉัยมาก และเห็นว่าเราน่าจะต้องทำตามด้วย พูดง่ายๆ คือ การได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์สูงขึ้น

      8. การทำงานของทีมสุขภาพจะไม่ง่ายเหมือนในปัจจุบัน เพราะทุกอย่างจะเริ่มต้นจากการดูว่ามีค่าตอบแทนที่พอใจหรือไม่ การทำงาน เพราะอยากทำ เพราะเห็นว่าควรทำ ต้องทำจะลดลงไปเรื่อยๆ แต่จะทำตามตัวชี้วัด ทำเพื่อผลงาน และค่าตอบแทน ประเด็นนี้ผมเห็นว่าน่าเป็นห่วงมาก

      9. เนื่องจากความต้องการของสังคมไทยที่ต้องการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก โดยไม่ไว้ใจแพทย์เวชปฎิบัติทั่วไป ถึงแม้นโยบายของรัฐจะพยายามสนับสนุนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ตรงนี้เองที่อาจส่งผลให้แพทย์ส่วนใหญ่ต้องการศึกษาต่อเฉพาะทางและทำงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะมีความพร้อมด้านเครื่องมือ และทีมมากกว่าในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก จึงอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการกระจายตัวของแพทย์เกิดมากขึ้นในอนาคต

      สิ่งที่ผมอยากฝากน้องๆ หมอยุค 4.0 ว่าเราควรย้อนกลับไปในวันสอบสัมภาษณ์ตอนเข้าเรียนแพทย์ว่าเราตอบกับกรรมการสอบสัมภาษณ์ว่าอย่างไร “อยากช่วยเหลือคนไข้” “อยากช่วยเหลือคนยากจน” “เราชอบวิชาชีพหมอ เพราะได้ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน”