คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน

somsaktalk-33


      

      ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลแพทย์ที่มาฝึกอบรมในคณะแพทย์แห่งหนึ่ง ผมได้สอบถามทางฝ่ายการเจ้าหน้าที่ว่าเงินเดือนที่หมอจะได้คือเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่บอกว่าประมาณ 24,000 บาท เงินเวรทั้งเดือน คือ 5000 บาท (8-12 เวรต่อเดือน) เงินค่าวิชาชีพขาดแคลนอีก 1250 บาทต่อเดือน รวมก็ประมาณ 31,250 บาทต่อเดือน ผมคงไม่กล้าสรุปว่าเหมาะสม มากไป น้อยไปหรือไม่ คราวนี้ลองมาดูว่าหมอทุกคนต้องทำงานอะไรกันบ้างในแต่ละวัน

      1. เริ่มทำงานในวันราชการ ก็เริ่มตั้งแต่ 6.00-6.30 น. หรืออย่างช้าก็ประมาณ 7.00 น. โดยการให้การรักษาคนไข้ในหอผู้ป่วยต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วก็จะให้การรักษาคนไข้จนถึงเวลา 8.30-9.00 น. หลังจากนั้น

      2. ก็มีการทำหัตถการรักษาผู้ป่วยต่อ เช่น การเจาะเลือด การใส่สายให้อาหาร สายสวนปัสสาวะ เจาะตรวจน้ำไขสันหลัง ย้อมเสมหะ ตรวจปัสสาวะ อุจจาระผู้ป่วย ถ้าอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤติหรือไอซียู ก็จะมีหัตถการที่ต้องทำกับผู้ป่วยหลายๆ อย่างที่ต้องใช้ทั้งเวลา และความชำนาญ เมื่อเสร็จภาระกิจช่วงนี้ ก็ต้องไปต่อในกิจกรรมอื่นๆ อีกต่อไป

      3. ต้องไปออกตรวจผู้ป่วยแผนกผู้ป่วยนอกอีก หรือไม่ก็ต้องเตรียมนำเสนอผู้ป่วยให้อาจารย์แพทย์ที่จะมาให้คำปรึกษาในการรักษาผู้ป่วย การเตรียมรายงานผู้ป่วยในที่ประชุม ตรงนี้เองที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถมาออกตรวจผู้ป่วยนอกได้ตรงเวลา เพราะถ้าให้การรักษาผู้ป่วยในหอผู้ป่วย หรือผู้ป่วยหนักไม่เรียบร้อย ก็ยังไม่สามารถมาออกตรวจผู้ป่วยนอกได้ ต้องบอกว่าส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะไม่ได้ทานอาหารเช้าเลยเป็นส่วนใหญ่ ด้วยภาระกิจที่ผมเล่าให้ฟัง

      4. ถ้าเป็นแพทย์ด้านการผ่าตัด ก็ต้องรีบมาเช้ากว่านี้อีก เพราะต้องรีบมาทำแผลผู้ป่วย ต้องรีบเข้าห้องผ่าตัดต่ออีก ซึ่งการผ่าตัดนั้นก็จะไม่รู้ได้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ เมื่อออกจากห้องผ่าตัด ก็ต้องมาดูแลผู้ป่วยช่วงเย็น หรือช่วงค่ำต่อ

      5. ย้อนกลับมาในแพทย์ที่ออกตรวจผู้ป่วยนอก ก็จะตรวจไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด ถ้าไม่หมดก็ไม่ได้ทานข้าวกลางวัน ตรวจไปจนกว่าจะเสร็จ บางครั้งระหว่างตรวจผู้ป่วยก็ต้องถูกตามขึ้นมาให้การรักษาผู้ป่วยในหอผู้ป่วยในที่มีอาการผิดปกติ หรือต้องมาเข้ากิจกรรมวิชาการ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยที่รักษายากให้มีผลการรักษาดีขึ้น

      6. การอยู่เวรนอกเวลาราชการของแพทย์ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ก็จะเริ่มการอยู่เวรนอกเวลาราชการตั้งแต่ 16.30-6.00 น. ของวันใหม่ และก็ต้องรีบกลับไปอาบน้ำ เพื่อพร้อมในการทำงานใหม่ทันที โดยไม่ได้หยุดพัก และการทำงานก็ต้องทำต่อเนื่องจนกว่าจะเสร็จงานในวันนั้น จึงได้กลับไปพัก กรณีวันหยุดราชการ แพทย์ก็ต้องมาทำงานตามปกติ แต่จะไม่มีการตรวจผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอก และเริ่มอยู่เวรนอกเวลาราชการตั้งแต่เวลา 10.30 น. เป็นต้นไปจนกระทั่งถึงเช้าวันใหม่ และก็ต้องทำงานต่อในวันต่อมาตามปกติ

      7. นอกจากการดูแลผู้ป่วยแล้ว ยังต้องมีการพัฒนาด้านความรู้ที่มีมากมาย เพื่อการเตรียมตัวการประเมินเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป รวมทั้งการทำวิจัย การประชุมวิชาการระหว่างการฝึกอบรมตลอด 3 ปี

      ที่ผมเล่าเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจได้อย่างถูกต้องว่า ระบบการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้น แพทย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมนั้นต้องทำงานอะไรบ้าง ทำงานอย่างไร ทำไมบางครั้งจึงลงตรวจผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอกไม่ตรงเวลา ทำไมถึงตรวจผู้ป่วยนอกแล้วก็ต้องวิ่งไปดูผู้ป่วยรายอื่นๆ ในหอผู้ป่วย และทำไมมาตรวจผู้ป่วยช่วงบ่ายล่าช้า เพราะต้องเข้าประชุม เพื่อปรึกษาหารือวางแผนในการรักษาผู้ป่วย

      ส่วนแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด ลักษณะการทำงานก็คล้ายคลึงกัน แต่จะมีเพิ่มงานบริหาร งานเยี่ยมบ้าน งานออกพื้นที่ชุมชนต่างๆ รวมทั้งงานด้านชันสูตรพลิกศพอีกด้วย

      แพทย์เราถูกฝึกมาตั้งแต่การเรียนเป็นนักศึกษาแพทย์ให้เป็นผู้มีความรับผิดชอบสูง อดทน และต้องมีความรู้ที่ดี มีการพัฒนาความรู้ ความสามารถอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพราะหน้าที่ของแพทย์เรา คือ ต้องรักษาคนไข้ให้หายจากความเจ็บป่วย หรือถ้าไม่หายก็ต้องไม่ให้กิดความเจ็บปวด ทุกข์ ทรมาน