คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน แพทย์ไทยเพียงพอจริงหริอเปล่า

somsaktalk-3


      

      จากตัวเลขของจำนวนแพทย์ไทยต่อประชากรทั่วทั้งประเทศพบว่าอัตราส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากรมีค่าประมาณ แพทย์ 1 คนดูแลประชากรประมาณ 2000 คน ซึ่งดูดีมากๆ เป็นไปตามมาตรฐานระดับโลก แต่ทำไมประชาชนเวลาพบแพทย์ถึงต้องลำบาก รอคิวนานมาก เข้าถึงระบบการบริการด้านสุขภาพยากมาก ทำไมจึงเป็นแบบนี้ ผมพอจะนึกสาเหตุที่เกิดภาพแบบนี้ได้ ดังนี้

      1. จำนวนแพทย์ที่นำมาคิดนั้นเป็นจำนวนแพทย์ทั้งหมดทั้งประเทศที่จบและขึ้นทะเบียนกับแพทยสภาไว้ ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจมีส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ทำหน้าที่แพทย์แล้ว และอีกส่วนหนึ่งก็ทำงานในภาคเอกชน บางส่วนก็ไม่ได้ให้การรักษาผู้ป่วย เป็นผู้บริหาร นักวิจัย หรือประกอบอาชีพอื่นๆ

      2. แพทย์ที่ปฏิบัติงานในภาครัฐนั้น มีหลากหลายหน้าที่มากๆ ทำให้มีเวลาในการดูแลผู้ป่วยไม่เต็มที่ ในแต่ละวันนอกจากรักษาคนเจ็บป่วยแล้ว ยังต้องมีงานประชุม งานบริหาร งานเอกสาร และอื่นๆ อีก แพทย์บางส่วนถึงกับบอกว่าภาระงานด้านการดูแลผู้ป่วยนั้น มีเวลาน้อยมาก ไม่ถึงร้อยละ 50 ของเวลาทำงาน สูญเสียไปกับงานด้านอื่นๆ ที่ไม่ถนัดและอาจไม่ใช่หน้าที่โดยตรงด้วย

      3. แพทย์ที่ทำงานในภาคเอกชนนั้นไม่ได้ทำหน้าที่บริการดูแลรักษาผู้ป่วยคนไทยเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะภาคเอกชนในกรุงเทพ และจังหวัดที่ติดกับชายแดนประเทศต่างๆ จะมีผู้ป่วยชาวต่างชาติจำนวนมากมารักษาพยาบาล ส่วนนี้เองก็เป็นภาระด้านรักษาพยาบาลของแพทย์ไทย

      4. ผู้ป่วยรับการรักษาซ้ำซ้อนหลายโรงพยาบาล เนื่องจากไม่ไว้ใจในโรงพยาบาลใกล้บ้าน ส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนมากมาแออัดในโรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่

      5. ระบบการส่งต่อผู้ป่วยไม่มีการประสานงานที่ดีพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และซ้ำซ้อน ก่อให้เกิดภาระงานที่มากเกินความเป็นจริง

      6. ระบบการกระจายยาและความพร้อมของสถานพยาบาลที่ไม่พร้อม และไม่เป็นระบบที่ดีพอ

      7. ระบบสุขภาพของประเทศไม่ตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมด้านการใช้ระบบบริการด้านสุขภาพ ทำให้ผู้ป่วยต้องมีความขวนขวายในการเข้าถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือที่คนบอกต่อว่าดี จึงมีการแออัดในบางสถานพยาบาล

      8. ระบบนัดหมายที่ไม่สามารถให้บริการนัดแบบเหลื่อมเวลา เพราะระบบการรักษาที่มีหลายขั้นตอน และการเดินทางของผู้ป่วยที่ไม่สามารถมารับบริการตามเวลาที่นัดหมายเป็นช่วงเวลาได้

      9. การร้องเรียน เพราะไม่เข้าใจและไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่ควรจะเป็นของผู้ป่วยและญาติ ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องมารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น การผ่าตัดไส้ติ่ง การผ่าตัดคลอด เนื่องจากในโรงพยาบาลชุมชนไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และวิสัญญีแพทย์ ทั้งที่ในอดีตการผ่าตัดแบบนี้ก็สามารถทำได้ในโรงพยาบาลชุมชน

      10. ความพร้อมของทีมสุขภาพด้านอื่น โดยเฉพาะพยาบาลที่มีจำนวนไม่พอ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และอื่นๆ ที่ต้องเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาพยาบาลที่ไม่เพียงพอ ก็ส่งผลให้การรักษานั้นไม่สะดวก รวดเร็วและอาจเป็นเหตุผลที่ต้องมีการส่งต่อไปรับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่

      ด้วยหลากหลายสาเหตุข้างต้นส่งผลให้การบริการไม่รวดเร็ว ไม่สะดวกสบายมีความแออัด ล่าช้า ถึงแม้ในภาพรวมของอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรดูเหมือนจะเพียงพอ ดังนั้นผมมีความเห็นว่าถึงแม้จำนวนของแพทย์จะเพียงพอ แต่ต้องพัฒนาระบบการรักษาให้ดีกว่าในปัจจุบัน ทั้งในด้านการกระจายตัวทั้งทีมสุขภาพ ความพร้อมของสถานพยาบาล ระบบการกระจายตัวของยา และระบบการส่งต่อที่ดีกว่าในปัจจุบัน ในส่วนของประชาชนก็ควรเข้าใจระบบสุขภาพของประเทศในปัจจุบัน และให้ความร่วมมือในการดูแลสุขภาพ การรักษาพยาบาล และลดการร้องเรียนทีมผู้ให้บริการการรักษาด้วย เชื่อผมเถอะครับ