คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน หมอไม่ทำอะไรให้เลย

somsaktalk-29


      

      “หมอครับ ผมพาแม่มาหาหมอเพื่อให้หมอช่วยหน่อยครับ แม่ผมอาการไม่ดีขึ้นเลยครับ พาไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน หมอไม่ทำอะไรให้เลยครับ แค่ให้นอนโรงพยาบาลสังเกตอาการ ผมละเซ็งมากเลยครับ สงสารแม่ผมครับ หมอช่วยด้วยครับ” ผมต้องบอกกับลูกชายผู้ป่วยว่าต้องใจเย็นๆ นะครับ ลองเล่าประวัติให้ละเอียดเพิ่มขึ้นครับ เพื่อที่ผมจะได้ช่วยให้การรักษาได้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น เล่าให้ละเอียดเลยนะครับ

      “คือว่า เมื่อ 2 วันก่อน แม่ผมตื่นขึ้นมาก็มีแขน ขาด้านซ้ายอ่อนแรง ไม่สามารถขยับแขน ขาได้เลย และก็พูดไม่เข้าใจ พูดคนละเรื่องกับเราเลยครับ ผมสังเกตอาการแม่อยู่ถึงตอนเย็น อาการก็ไม่ดีขึ้น ผมก็พาไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอก็ให้แม่ผมตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ตรวจเลือด แล้วก็ให้น้ำเกลือ ให้ทานยาแอสไพลิน 1 เม็ดแค่นั้น แล้วก็ทำกายภาพบำบัด พอผมไปสอบถามอาการ ก็บอกว่าเป็นโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือด ให้นอนสังเกตอาการและทานยาแอสไพลิน ทำกายภาพ หมอคิดดูซิครับ แม่ผมเป็นอัมพาต พูดไม่รู้เรื่อง แขน ขาขยับไม่ได้ แต่หมอก็ไม่เห็นทำอะไรให้เลย ผมสงสารแม่ครับ หมอช่วยด้วยนะครับ”

      จากข้อมูลที่ลูกชายเล่ามานั้น หมอก็ให้การรักษาตามมาตรฐานการรักษาครบทุกอย่างเลย ไม่มีสิ่งใดบกพร่อง แต่ทำไมลูกชายของผู้ป่วยถึงบอกว่าไม่ทำอะไรให้เลย ผมพบเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ ผมพยายามมานั่งนึกหาเหตุผล เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ลดลง จึงได้ลองสอบถามลูกชายของผู้ป่วยว่ารู้สึกอย่างไร ถึงบอกว่าหมอไม่ทำอะไรให้เลย ทั้งๆ ที่ให้การรักษาครบถ้วนแล้ว

      ลูกชายของผู้ป่วยบอกว่า แม่มีอาการรุนแรง เป็นอัมพาต แขน ขาขยับไม่ได้ พูดไม่รู้เรื่อง แต่หมอให้เพียงแค่ยาแอสไพลินเท่านั้นเอง ส่วนการเอกซเรย์สมอง ตรวจเลือดนั้น ลูกชายไม่เข้าใจว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งในการรักษาที่เป็นมาตรฐาน คิดว่าการตรวจที่ดีต้องเป็นเอ็มอาร์ไอสมอง และให้ยาละลายลิ่มเลือด ต้องส่งต่อมาที่ศูนย์รักษาโรคสมอง

      ผมจึงต้องอธิบายว่าการรักษาที่ได้รับมานั้นเป็นการรักษาที่เป็นไปตามมาตรฐานถูกต้อง โรคที่เป็นคืออัมพาตชนิดสมองขาดเลือด ซึ่งการรักษาที่ผู้ป่วยได้รับนั้น คือ แอสไพลิน ไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ เนื่องจากเกินระยะเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง และการทำกายภาพบำบัด ซึ่งสามารถให้การรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ไม่จำเป็นต้องส่งต่อมารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ยกเว้นอาการจะทรุดลง การสังเกตอาการเป็นวิธีการรักษาที่สำคัญ เพราะถ้าอาการเปลี่ยนแปลง ทรุดลงก็จะต้องส่งต่อมาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่ถ้าอาการคงที่หรือดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องส่งต่อ

      ดังนั้นการรักษาที่ได้มานั้นเป็นการรักษาที่เหมาะสมที่สุด เหตุที่เกิดความไม่เข้าใจนั้นเป็นเพราะ

      1. การคาดเดา หรือคิดไปเองว่าเมื่อมีอาการอัมพาตต้องให้การรักษาแบบไหน ซึ่งเกิดจากความไม่รู้ และ

      2. การอธิบายของแพทย์ยังไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหรือญาติเข้าใจได้ถูกต้อง อาจเนื่องมาจากประสบการณ์ที่ไม่มากพอในการอธิบายให้ผู้ป่วยหรือญาติเข้าใจได้ หรือถึงแม้จะอธิบายอย่างละเอียดแล้วก็ไม่เข้าใจ ซึ่งอาจเกิดจากความไม่ไว้วางใจหรือไม่มั่นใจในตัวแพทย์ หรือโรงพยาบาลชุมชน เพราะคิดว่าไม่น่าจะรักษาโรคอัมพาตได้

      3. การได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากสื่อต่างๆ ว่าการรักษาโรคอัมพาต ต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่มาตรฐานการรักษาที่ถูกต้อง

      4. การต้องการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะเชื่อว่าจะให้การรักษาดีกว่าโรงพยาบาลชุมชน

      ผมเองในฐานะแพทย์เฉพาะทาง ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และเป็น

      ส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบการรักษาโรคอัมพาต อยากให้ทุกคนมีความมั่นใจว่าโรงพยาบาลชุมชน แพทย์ผู้ปฏิบัติงานและทีมบริบาลพร้อมที่จะให้การรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานของประเทศ