คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน รักษาคนที่มีโรค vs รักษาโรคในตัวคน

somsaktalk-25


      

      อาการเจ็บป่วยบางอย่างเป็นเองแล้วก็หายได้เอง โดยไม่ต้องการรักษาพยาบาลใดๆ บางอาการเจ็บป่วยถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะสมทั้งวิธีการรักษาและเวลา ก็หายดีเป็นปกติ แต่บางอาการ บางโรคถึงแม้จะให้การรักษาดีอย่างไรก็ไม่หาย ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าปัจจัยที่มีผลต่อการหายหรือไม่หายของอาการเจ็บป่วยไม่ได้ขึ้นกับวิธีการรักษาของแพทย์ฝ่ายเดียว ปัจจัยส่วนบุคคล ธรรมชาติของโรคก็มีผลต่อการหายทั้งสิ้น แล้วทำอย่างไรให้ผลการรักษานั้นดีที่สุด ผมอยากเล่าประสบการณ์ในการเป็นหมอรักษาผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เพื่อที่ผู้อ่านทุกท่านจะได้เข้าใจธรรมชาติการดำเนินโรค และมีความสุขมากขึ้น

เรื่องเล่าที่ 1

      “คุณหมอค่ะ หนูมีอาการปวดหัวมานานมากๆ รักษามากี่คลินิก กี่โรงพยาบาล กี่หมอต่อกี่หมอ ก็ไม่ดีขึ้นเลย กลับปวดหัวมากขึ้นๆ ยิ่งทานยาก็ยิ่งปวดมากขึ้น ตอนแรกๆ ก็นึกว่าดี ต่อมาก็ปวดแบบเดิมอีก หนูกลุ้มใจมากเลยค่ะ หนูไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เอ็มอาร์ไอสมองมา 3 รอบ ก็ปกติหมด แต่หนูไม่เห็นจะหายเลยค่ะ พอดีหนูหาชื่อหมอในอินเตอร์เน็ต เห็นว่าหมอเขียนบทความเรื่องปวดหัวจากยาเกินขนาด หนูก็เลยคิดว่าหนูอาจเป็นอาการนี้ จึงมาหาหมอวันนี้”

      ช่วงหลังๆ มานี้ผมเริ่มสังเกตพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง จะมาพบผมด้วยการอ่านบทความทางอินเตอร์เน็ต จากเว็บไซต์ต่างๆ มากขึ้น และส่วนหนึ่งก็มาพบผมด้วยเอกสารความรู้ในบทความต่างๆ ซึ่งในมุมมองของผมเห็นว่า คนส่วนหนึ่งใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น มีการค้นคว้าหาความรู้เพื่อดูแลตนเองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก็พบว่าส่วนใหญ่แล้วเมื่ออ่านบทความจากสื่อต่างๆ มักเกิดความวิตกกังวลว่าตนเองจะเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ นาๆ เพราะเห็นว่ามีอาการผิดปกติคล้ายๆ กับอาการของตน ด้วยเหตุนี้ผมจึงต้องพยายามเขียนบทความเกี่ยวกับอาการ โรคทางระบบประสาท เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าถึงได้มากขึ้น และมีเนื้อหาที่ถูกต้องด้วย

      ผมได้ประเมินอาการของผู้ป่วยรายนี้อย่างละเอียด แล้วได้ข้อสรุปว่า “ หนูไม่ได้มีอาการปวดหัวจากสาเหตุที่รุนแรงหรอกครับ เนื้องอก เลือดคั่งในสมอง มะเร็งสมอง ไม่ใช่แน่นอน อาการที่หนูปวดหัวไม่หาย ตรวจอะไรก็ปกติหมด ทานยาก็ยิ่งปวดมากขึ้น ก็เพราะว่าหนูเป็นปวดหัวชนิดธรรมดา ที่ไม่มีอะไรรุนแรง และที่ไม่หายก็เพราะใช้ยาแก้ปวดมาตลอด การใช้ยาแก้ปวดมานานต่อเนื่องมากๆ ก็ทำให้เกิดอาการปวดหัวที่เรียกว่า “ปวดหัวเหตุการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด” การรักษาที่สำคัญคือ หนูต้องหยุดยาแก้ปวดที่ใช้อยู่ทั้งหมดให้ได้ และทานยาตามที่หมอจัดให้ครั้งนี้ อีกประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนความคิดว่า หนูเป็นโรคร้ายแรง ที่ทำให้ปวดหัวไม่หาย เพราะการที่คิดแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้การรักษาไม่ประสบความสำเร็จ การรักษาต้องเปลี่ยนความคิดว่า หนูไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรง แค่ปวดหัวเฉยๆ ต้องเชื่อมั่นในความคิดนี้ แล้วก็ท่องตลอดเวลาว่าไม่ปวด ไม่ปวด ไม่ปวด ไม่เป็นอะไร ไม่เป็นอะไร ไม่เป็นอะไร เชื่อผมเดี๋ยวก็หาย”

      เมื่อคุยกันจนเข้าใจดี ผมก็จัดยารักษาให้ตามวิธีการรักษาที่เหมาะสม นัดมาติดตามการรักษาอีก 1 สัปดาห์ ประโยคแรกที่ผู้ป่วยบอกผม “ หมอค่ะ หนูไม่เคยมีความสุขแบบนี้มาก่อนเลยค่ะ ไม่ปวดหัวเลย ไปไหนมาไหนก็ได้ นอนก็หลับ กินข้าวก็ได้ หมอทำอย่างไร แล้วทำไมที่ผ่านมา หมอคนอื่นๆ ทำไมไม่ทำแบบหมอ “ จากการบอกเล่าของผู้ป่วยผมมีประเด็นที่อยากพูดคุยกับเราทุกคน คือว่า

      “หมอทำอย่างไร” ผมก็ทำตามความรู้ ความชำนาญที่ผมมีครับ เนื่องจากผมเป็นแพทย์ด้านระบบประสาท มีความคุ้นเคยกับภาวะนี้มาก ก็เลยรักษาได้หาย และการตรวจรักษาของหมอท่านอื่นๆ ที่ผ่านมาก็ช่วยทำให้ผมให้การรักษาได้ง่ายขึ้น เช่น การตรวจเอกซเรย์สมอง เอ็มอาร์ไอสมอง ยาที่ใช้รักษามา ผมไม่ได้วิเศษกว่าหมอคนอื่นๆ เพียงแค่คุ้นเคยปัญหาดังกล่าวมามากกว่า

      “หมอคนอื่นๆ ทำไมไม่ทำแบบหมอ” อย่างที่บอกแล้ว ก็เพียงหมอท่านอื่นๆ ที่ผ่านมานั้นไม่ได้คุ้นเคยกับภาวะนี้ และไม่ได้เป็นหมอด้านนี้โดยเฉพาะ ผมอยากเปรียบเทียบให้เห็นว่า ช่างตัดเสื้อก็มีความถนัดแตกต่างกัน บางคนเย็บเสื้อเก่ง บางคนเย็บกระโปรงเก่ง บางคนเย็บชุดแต่งงานเก่ง เป็นต้น หมอก็เหมือนกันครับ ถึงแม้จะเรียนจบหมอเหมือนกัน แต่ก็มีความชำนาญแตกต่างกันครับ ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากให้สังคมเข้าใจว่าหมอแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันในกลุ่มโรคที่ให้การรักษา ถ้ามีผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือโรคที่ผมไม่ถนัด ผมก็รักษาไม่ได้ครับ ผมก็ต้องส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ โดยเฉพาะครับ

      การวินิจฉัยอาการผิดปกติต่างๆ แพทย์จะใช้ข้อมูลจากอาการเป็นหลัก การตรวจร่างกายเป็นสิ่งสนับสนุน การส่งตรวจเพิ่มเติมใช้เป็นบางกรณี อย่างอาการปวดหัวนี้ ส่วนใหญ่การวินิจฉัยได้จากอาการและการตรวจร่างกาย การรักษานั้นแพทย์ก็จะให้การรักษาตามแนวทางการรักษาที่มีอยู่แล้ว การหายดีหรือไม่ผมเองเห็นว่านอกเหนือจากการรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสม ทันเวลาแล้ว การพูดคุยให้กำลังใจ ให้วิธีคิด การปรับตัว ปรับใจให้ดีก็เป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษาที่ถูกต้อง ขวัญและกำลังใจสำคัญอย่างยิ่งครับ ผมถึงต้องพูดกับคนไข้ทุกๆ คนว่าสิ่งแรกที่มารักษา คือ ต้องเชื่อมั่น ต้องไว้ใจหมอ ต้องมั่นใจในการวินิจฉัยของหมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำ ทานยาอย่างสม่ำเสมอ ผลการรักษาก็มักจะได้ผลดี อย่างไรก็ตามการรักษาไม่ใช่จะได้ผลดี หายไปทุกราย แต่กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ ความเข้าใจระหว่างกัน ความร่วมมือกัน เป้าหมายเดียวกัน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้ป่วย ญาติและหมอต้องมีเหมือนๆ กัน

เรื่องเล่าที่ 2

      “คุณลุง คุณป้า คุณตา ครับ และญาติๆ ของคุณยายทุกคน ผมขออธิบายให้ทราบว่า อาการของคุณยายตอนนี้หนักมากนะครับ ก้านสมองขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้คุณยายเป็นอัมพาตรุนแรงขยับแขนขาไม่ได้ หายใจไม่ได้ พูดไม่ได้ ไม่รู้สึกตัวเลย แต่ก็โชคดีที่เป็นมาไม่นาน เป็นในโรงพยาบาล หมอรีบให้การตรวจรักษาและตัดสินใจร่วมกับครอบครัวว่าให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อหวังว่ายาที่เราให้เข้าไปนั้นจะไปละลายก้อนเลือดที่อุดตันหลอดเลือดสมอง ทำให้เลือดไหลกลับเข้าไปเลี้ยงสมองได้ มีโอกาสหายได้ ถึงแม้จะไม่มากนัก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีโอกาสใดๆ เลย ตอนนี้เราไม่มีอะไรดีไปกว่าร่วมกันส่งกำลังใจให้คุณยาย ให้กำลังใจทีมหมอ พยาบาล และกำลังใจตัวเอง ว่าคุณยายต้องหาย คุณยายต้องหาย ใครทำอะไรได้ก็ทำครับ เช่น สวดมนตร์ นั่งสมาธิแผ่ส่วนกุศล ทำบุญหรืออะไรก็ได้ที่ราทุกคนเชื่อว่าจะทำให้คุณยายหาย “ ประโยคข้างต้นนั้น ผมพูดจริงๆนะครับในการดูแลรักษาคุณยายท่านหนึ่งเป็น brainstem stroke ก้านสมองขาดเลือด เป็นในโรงพยาบาลหลังจากส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร ได้ให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งต้องบอกว่ามีความหวังน้อยมากๆ คุณยายอายุเกือบ 90 ปี มีโรคประจำตัวหลายโรค แต่ก็ไม่มีทางเลือก ผมได้ปรึกษากับญาติอย่างละเอียดทุกแง่มุม แล้วตัดสินใจให้การรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งความเสี่ยงสูงมากในการไม่ตอบสนองต่อการรักษา และเกิดภาวะแทรกซ้อน เลือดออกในสมอง แต่ผมก็ต้องให้การรักษานั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่าเสี่ยง และอาจเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดได้ ผมจึงต้องพูดคุยและให้ทุกคนมาร่วมมือในการรักษาตามที่ผมพูดไว้ตั้งแต่ต้น ผมเองเชื่อว่าทุกคนทุกข์รวมทั้งผมด้วย ทุกคนต้องการกำลังใจ ต้องการพลังอย่างมาก จึงพูดแบบนั้นจริงๆ

      เรื่องมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นจริงๆ ครับ คุณยายหายดี หายเป็นปกติ ผมได้พบกับญาติๆ ทุกคนตอนเช้าอีกวัน ทุกคนบอกผมว่า เมื่อคืนนี้หลังจากหมอบอกให้ทุกคนไปสวดมนตร์ ไปทำสมาธิ ไปทำบุญ พวกเราลูกๆ หลานๆ ก็ไปทำตามที่หมอบอก เช้านี้มาโรงพยาบาลเห็นคุณยายหายดี พวกเราต้องขอบคุณหมอจริงๆ ที่ช่วยรักษาให้เป็นอย่างดี และยังแนะนำวิธีการสวดมนตร์ สมาธิด้วย ทำให้เราสบายใจมากขึ้น

      ผมเองก็ดีใจ ประหลาดใจ สบายใจและแปลกใจ หลายๆ ความรู้สึกที่พูดไม่ถูก ท่านเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ครับ แต่ผมเชื่อว่ากำลังใจมีส่วนที่ทำให้คุณยายหายครับ ขณะที่ผมพูดกับครอบครัวคุณยายนั้น ผมคิดไม่ออกจริงๆ ว่าผมจะอธิบายอะไรให้ทางญาติๆ ฟังว่า อาการที่เกิดขึ้นนั้นหนักมาก หนักจริงๆ โอกาสหายนั้นน้อยมากๆ โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน่าจะสูงมากๆ ผมเองต้องการกำลังใจอย่างมากในการรักษาคุณยายท่านนี้ ผมจึงพูดให้ทุกคนช่วยส่งกำลังใจให้หมอ พยาบาล คุณยาย ญาติๆ ทุกคนด้วย

      ผมถึงอยากบอกว่ากำลังใจเป็นพลังที่ทำให้ทุกคนผ่านเหตุการณ์นี้มาด้วยดี ผมเองก็มีกำลังใจในการรักษาคนไข้รายอื่นๆ ต่อไปด้วย การรักษาต้องรักษาคนที่เป็นโรคและครรอบครัวด้วยเสมอ เราจึงควรต้องให้ทุกคนมามีจุดหมายร่วมกัน เป็นทีมเดียวกันครับ

เรื่องเล่าที่ 3

      “หมอค่ะ พี่ยกคนไข้ให้หมอดูแลเลย พี่ไม่เอาแล้ว เหนื่อย พูดไม่รู้เรื่อง แก่ปานนี้แล้วยังไม่รักตัวเอง ไม่ดูแลตัวเอง ไม่สงสารลูก เมีย ไม่รู้เกิดมาทำไม” ตกใจครีบเจอคำพูดแบบนี้จากภรรยาคนไข้ แล้วผมจะทำอย่างไรดี ต้องติดตามเรื่องนี้ดูครับว่าสุดท้าย ผมจะรักษาผู้ป่วยได้หรือไม่

      ผู้ป่วยรายนี้เป็นโรคอัมพาต ลมชัก เบาหวาน ตับแข็ง ไตเสื่อม หลอดเลือดหัวใจตีบและดื่มเหล้าสม่ำเสมอ แต่ไม่ทานยาสม่ำเสมอ ไม่ดูแลตนเอง ไม่ช่วยเหลือครอบครัว ทำงานเป็น รปภ. ที่โรงพยาบาลครับ ฟังแล้วพอที่จะเข้าใจเหตุผลว่าทำไม ภรรยาถึงพูดแบบนั้นกับผมตั้งแต่ต้น และไม่ใช่ครั้งแรกครับ พูดมาเกือบทุกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายครับ พี่เขาใจเด็ดมาก คือ ผู้ป่วยจะเข้าออกโรงพยาบาลเกือบทุกเดือนด้วยปํญหาชักบ้าง ติดเชื้อที่ปอดบ้าง น้ำตาลสูงมากๆ บ้าง พอเข้านอนโรงพยาบาลรักษากลับไป 2 สัปดาห์แรกก็ดีอยู่ แต่หลังจากนั้นก็กลับมาดื่มเหล้าไม่ทานยาแบบเดิมอีกครับ ช่วงแรกๆ หลังจากออกจากโรงพยาบาล ยังเดินไม่ได้ ต้องให้คนอื่นๆ ช่วยเหลือก็รักษาได้ดี พอสุขภาพเริ่มดีไปไหนมาไหนได้ ก็ดื่มเหล้า ไม่ทานยาแบบเดิมก็ทำให้อาการทรุดลงอีก และก็เข้าโรงพยาบาล เป็นแบบนี้ 10 กว่ารอบ จนภรรยาบอกว่าไม่เอาแล้วยกให้หมอ เพราะครั้งนี้หนักจริงๆ เป็นเลือดออกในกระเพาะอาหารอย่างรุนแรง สับสนพูดจาไม่รู้เรื่อง

      ผมจะทำอย่างไรดี ผมคิดหนักครับ แต่ก็ไม่เป็นไรครับ หน้าที่เราตอนนี้ก็ต้องรักษาผู้ป่วยให้ดีก่อน แก้ไขปัญหาไปที่ละเรื่องครับ แต่ก็โชคไม่ดีครับ สุดท้ายผู้ป่วยก็เกิดภาวะติดเชื้อที่ปอด หลังจากนอนรักษาในโรงพยาบาลได้ประมาณ 2 สัปดาห์ เกิดภาวะไตวายแทรกซ้อน หัวใจวายมากขึ้น และก็ซึมลงมาก จนไม่รู้ตัวเลย เข้าขั้นโคม่า ผมได้เชิญภรรยาและลูกๆ มาคุยกันถึงภาวะการเจ็บป่วยตอนนี้ว่ารุนแรงมาก ไม่น่าจะเอาอยู่ ซึ่งทางญาติๆ ก็เข้าใจ ตัดสินใจว่าไม่น่าจะต้องทำอะไรต่อ ขอกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน

      ก่อนกลับ ภรรยาผู้ป่วยก็ยังพูดกับผมอีกครั้งว่า “หมออย่าว่าพี่เลยนะ ที่พี่พูดไม่ดีกับแก ไม่ยอมมาดูแลแก ก็พี่โกรธแกมาก แกไม่ยอมดูแลตนเองเลย พี่ต้องลำบาก เลี้ยงลูกมาคนเดียว ทำงานด้วย ดูแลลูกด้วย ดูแลแกด้วย แต่อย่างไร พี่ก็ก็รักแกนะค่ะ พี่ขอนำแกไปนอนหลับสบายๆ ที่บ้านนะ แกทรมานที่โรงพยาบาลมามากแล้ว เมื่อคืนนี้แกมาเข้าฝันพี่ ว่าแกขอโทษนะที่ทำไม่ดี แกอยากกลับบ้านแล้ว อยากไปนอนฟังเพลงที่บ้าน ไม่อยากนอนที่โรงพยาบาล ก็พอดีพี่ก็ได้รับโทรศัพท์จากพยาบาลว่าหมอต้องการคุยด้วย พี่ขอบคุณหมอนะค่ะที่ดูแลแกมาหลายต่อหลายปี” เห็นหรือเปล่าว่าอย่างไรเขาก็ยังรักกัน ความรักนั้นยิ่งใหญ่ครับ ความผูกพันกัน ส่งใจถึงกันได้ครับ และก็ยังยืนยันว่าการรักษาที่ได้ผลดีนั้น ไม่ใช่เพียงหมอรักษาถูกต้อง วินิจฉัยโรคถูกต้อง ยาดี แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ดูแลตนเอง ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่างไรก็ไม่ได้ผลดีครับ ญาติก็มีส่วนอย่างมากในการดูแลซึ่งกันและกัน หมอเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพประชาชนครับ มิใช่ทั้งหมดนั้นอยู่ที่หมอครับ

เรื่องที่ 4

      “หมอครับช่วยพ่อผมด้วยครับ พ่อผมโคม่าครับ เมื่อคืนนี้พ่อผมหัวใจหยุดเต้น ผมรีบปั๊มหัวใจแล้วก็ตามรถพยาบาลฉุกเฉินมารับไปโรงพยาบาล ตอนนี้ผ่านมากว่า 12 ชั่วโมง พ่อผมก็ยังไม่ฟื้นเลยครับ หมอช่วยพ่อผมด้วย ครั้งก่อนพ่อผมเป็นอัมพาต หมอก็ช่วยจนเดินได้ ช่วยพ่อผมอีกครั้งนะครับ” ผมได้รับโทรศัพท์จากลูกชายผู้ป่วยเก่าแก่คนหนึ่ง ว่าให้ช่วยมาดูพ่อเขาหน่อย เพราะนอนอยู่ในห้อง ไอ ซี ยู โคม่า ผมเองก็หนักใจครับ ฟังดูแล้วผู้ป่วยมีอาการหนักมากครับ เรียกว่าอยู่ในภาวะวิกฤติสุดๆ คือ โคม่าจากภาวะสมองขาดออกซิเจน เป็นภาวะที่รักษายากมากครับ แต่ก็ต้องพยายามอย่างถึงที่สุด

      ผมมาถึงห้องไอซียู ตรวจผู้ป่วยโดยละเอียดและทำการประเมินภาวะของสมองด้วย สงสัยว่าผู้ป่วยน่าจะอยู่ในภาวะสมองตาย ผมจึงได้คุยกับลูกชายว่า “ หมอได้ประเมินอาการของคุณพ่อแล้ว พบว่าอยู่ในภาวะที่หนักมากๆ หมอได้ตรวจประเมินการทำงานของสมองโดยละเอียดพบว่าสมองไม่ทำงานเลยครับ ไม่หายใจเอง รูม่านตาไม่มีการตอบสนองต่อแสงไฟ กระตุ้นให้เจ็บก็ไม่ตอบสนองใดๆ เข้าได้กับภาวะสมองตาย ครับ” เมื่อผมพูดจบลูกชายและญาติๆ ก็ร้องไห้ แล้วก็ถามผมอีกว่า “พอจะมีหวังหรือไม่ครับ ไม่ว่าพ่อผมจะอยู่ในสภาพแบบไหน พวกเราทุกคนยอมรับได้ครับ เราเพียงต้องการให้พ่ออยู่กับเราไปนานที่สุดครับ” ผมก็ต้องอธิบายต่อว่า ภาวะสมองตายนั้นเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นนาน สมองขาดเลือดนานเกินกว่าที่จะทนได้ ถึงแม้จะทำการช่วยกู้ชีวิตขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่สามารถทำให้สมองกลับมาทำงานได้

      สุดท้ายผู้ป่วยก็เสียชีวิตในเวลาต่อมาอีกไม่นาน ผมได้แสดงความเสียใจ เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจทางครอบครัวของผู้ป่วย และได้มีโอกาสไปร่วมงานศพผู้ป่วยด้วย ในวันนั้นผมได้เห็นความรักของครอบครัวที่มีต่อผู้ป่วย ความรักของญาติๆ เพื่อนฝูงของผู้ป่วย ผมเองก็เคยผ่านภาวะการสูญเสียทั้งเตี๋ยผม แม่ผม เราเข้าใจความสูญเสีย ผมเองก็ไม่สามารถรักษาคนที่ผมรักมากที่สุดทั้ง 2 คนได้ ทั้งๆที่ก็เป็นโรคอัมพาต เป็นโรคที่ผมชำนาญที่สุด ผมเสียใจมากแต่ก็ได้สติกลับมาคิดว่า ท่านทั้งสองก็ไปมีความสุขแล้ว ท่านก็อายุมากแล้ว เราไม่สามารถฝืนธรรมชาติได้

      อย่างที่ผมกล่าวไว้ตอนต้นว่าโรคของคนเรานั้น บางครั้งต่อให้การรักษาที่ดีที่สุดอย่างไร ก็ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติ เอาชนะความตายได้ ความตายเป็นสัจจะธรรมอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์เรา

เรื่องเล่าที่ 5

      การเจ็บป่วยเป็นเรื่องปกติของคนเรา การตายก็เป็นสิ่งที่มนุษย์เราไม่สามารถหลีกหนีได้ ทุกวันที่ผมตรวจคนไข้ ก็มีคนไข้ที่รักษาหาย รักษาไม่หาย บางคนก็มารักษากับเรา เพราะเชื่อว่าเราจะต้องรักษาหาย แต่เราก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ในทุกๆ ราย แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตคนไข้ได้ทุกราย ที่ผมเกริ่นมาแบบนี้ ก็เพราะว่าเรื่องที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดกับผมได้ แต่มันก็เกิด คือการได้รับการร้องเรียนว่าทำไมจึงรักษาลูกเขาไม่หาย ลูกเขาตายด้วย ผมจึงอยากเล่าว่า ผมก็เศร้า ผมก็ทุกข์มากเหมือนกันครับ เรื่องมีอยู่ว่า

      น้องผู้หญิงอายุ 21 ปี เป็นนักศึกษา มานอนโรงพยาบาลด้วยอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อพยาธิ ผมได้ให้การรักษาจนดีเป็นปกติ จึงได้อธิบายให้พ่อ แม่ของน้องว่า ทางหมอจะอนุญาตให้กลับบ้านพรุ่งนี้แล้ว เพราะน้องหายดีแล้ว ซึ่งทางพ่อแม่ของผู้ป่วยก็ดีใจมาก ชมว่าหมอและพยาบาลดูแลลูกสาวเป็นอย่างดี ให้คำชมอีกมากมาย แต่เรื่องยังไม่จบแค่นี้ เรื่องกำลังจะเริ่มครับ ต้องติดตาม

      เช้าวันต่อมาผมได้รับทราบทางโทรศัพท์ว่าผู้ป่วยมีอาการทรุดลงอย่างมาก เกิดภาวะสมองบวม และมีการกดทับของก้านสมอง ทำให้ผู้ป่วยโคม่า อะไรเป็นสาเหตุก็ไม่รู้ครับ ผมร้อนใจมาก รีบมาดูผู้ป่วย และได้อธิบายให้คุณพ่อ แม่ของผู้ป่วยฟัง แต่ไม่มีใครฟังผมแล้วครับ มีคำถามเดียวว่าทำไม ทำไม ทำไมและทำไม ผู้ป่วยถึงเป็นแบบบนี้ ผมก็พยายามอธิบาย แต่ก็ไม่มีใครเข้าใจคำอธิบายของผม มีคำถามอีกว่า ทำไมหมอบอกว่าจะให้กลับบ้านแล้ว เมื่อวานก็ดีแล้ว แต่ทำไมถึงแย่แบบนี้ในวันต่อมา ทำไม ทำไม ทำไมแบบนี้อยู่ตลอดเวลา

      ผมก็กลับมาทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้น ปรึกษาผู้รู้ทุกๆ คน ก็ได้คำตอบเดียวกันว่าสมองบวมจากโรค ผมพยายามให้ยา ให้การรักษาอย่างใกล้ชิด ผมดูแลผู้ป่วยรายนี้นานกว่า 3 ปี น้องจึงเสียชีวิต ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวผมรู้ว่าพ่อ แม่ของผู้ป่วยทุกข์มากเพียงใด ผมเองก็ไม่ได้มีความสุขครับ เพราะผมก็มีคำถามดังก้องในหัวสมองของผมว่าทำไมน้องเขาถึงทรุดลง ผมเองก็ต้องคอยคุยกับพ่อแม่ของผู้ป่วยสม่ำเสมอ และคอยปลอบใจว่าน้องเขาคงมีโอกาสหายได้ หายได้ หายได้ซักวันหนึ่ง แต่ก็ไม่จริงครับน้องเสียชีวิต

      ผมก็ไปงานศพน้องด้วย ผมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของน้อง ผมโชคไม่ดีที่รักษาน้องเขาไม่หาย ผมโชคไม่ดีที่ผมถูกร้องเรียน ผมเป็นทุกข์ครับที่รักษาน้องไม่หาย แต่เสียชีวิตในที่สุด แต่ทุกข์ของผมก็มีวันหายไป ทุกข์ของผมเป็นทุกข์ของผมคนเดียว ครอบครัวผมไม่ทุกข์ ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ครอบครัวของผู้ป่วย ทุกข์ทั้งพ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติทุกคน เพราะทุกคนสูญเสียคนรักไป คนที่มีความหมายต่อเขาไป ทุกข์ของผมคงไม่สามารถเปรียบเทียบกับทุกข์ของน้องเขาได้เลย เมื่อผมคิดได้แบบนี้ ผมถึงไม่รู้สึกโกรธครอบครัวของน้องที่ร้องเรียนผมว่ารักษาไม่ดี ทำให้ลูกเขาเสียชีวิต ผมเองถึงแม้จะคิดเข้าข้างตัวเองว่ารักษาดีแล้ว รักษาถูกต้องแล้ว รักษาดีที่สุดแล้ว แต่ทำไมผู้ป่วยเสียชีวิต ถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว

      ดังนั้นจะเห็นได้ว่า โรคบางโรคถึงแม้จะได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ในโรงพยาบาลที่ดี ด้วยทีมสุขภาพที่ดี รักษาทันเวลา ผู้ป่วยก็ดีไม่มีโรคประจำตัวอะไร แต่ก็ไม่หาย คงต้องมีอะไรที่เรายังไม่รู้ ทำได้ไม่ดีที่สุดจริง และถ้าเราเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็จะเข้าใจว่า ทำไมเราถึงถูกร้องเรียน และเมื่อเราเข้าใจดังนั้น ผมก็ทุกข์น้อยลง และพยายามพัฒนาความรู้ ความสามารถ การดูแลผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น และพัฒนาด้านจิตใจให้มีความทุกข์ที่น้อยลง อารมณ์ดีขึ้น นำกำลังใจที่ได้จากผู้ป่วยที่เรารักษาหายมาเป็นพลังให้เราทำงานรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้นต่อไป

เรื่องเล่าที่ 6

       การรักษาโรคที่ดีนั้น ต้องทำให้ผู้ป่วยมีความสุขกายและสุขใจ แต่บางครั้งแพทย์ก็ไม่สามารถทำให้หายจากโรคได้ ด้วยข้อจำกัดของโรคต่างๆ ข้อจำกัดของผู้ป่วย ข้อจำกัดด้านเศรษฐานะและอื่นๆ แต่ถ้าเราจะทำให้เขาสุขใจได้นั้น ผมว่าไม่มีข้อจำกัดเลยนะครับ ขอเพียงเราต้องมีความเข้าใจกันอย่างดี ระหว่างหมอผู้ให้การรักษากับผู้ป่วย รวมถึงญาติของผู้ป่วยด้วย

      ผมได้มีโอกาสดูแลผู้ป่วยหญิง มีอาการป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบทั่วทั้งตัว ซึ่งผมให้การรักษามานานหลายเดือน ได้ให้ยาทุกอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถทำให้อาการหายขาดได้ ลดยาลงมาได้ระดับหนึ่ง อาการดีขึ้นมาก แต่ก็ไม่สามารถหยุดยาได้ กล้ามเนื้อก็ยังมีการอักเสบอยู่พอสมควร แต่ผู้ป่วยก็สามารถทำงานได้เกือบเป็นปกติ ผมนัดมาตรวจรักษากันทุกเดือน ถึงแม้จะมีคิวตรวจนานแค่ไหน ผู้ป่วยก็ยังรอด้วยความสุขใจ และได้พูดคุยกันสั้นๆ ไม่นานนมากนัก สิ่งที่ได้สัมผัสจากการดูแลผู้ป่วยรายนี้ คือ การเข้าใจโรค เข้าใจธรรมชาติของโรค เข้าใจชีวิตและยอมรับข้อจำกัดต่างๆ

      ช่วงแรก ๆ ผู้ป่วยก็ทุกข์ใจครับที่รักษาแล้วไม่หายเป็นปกติ หยุดยาไม่ได้ และก็ยังมีความเครียดกับงาน ผมก็ค่อยๆ คุยกับผู้ป่วยว่าชีวิตเราต้องการอะไร และให้คิดบวกว่าก่อนที่จะรักษามีอาการอย่างไร ตอนนี้รักษาแล้วถึงไม่หาย แต่อาการก็ดีขึ้นมากแล้ว หยุดยาไม่ได้ แต่ก็ลดยาลงได้ ถึงแม้จะหยุดยาไม่ได้ก็ตาม และถ้ามีความเครียดก็ต้องผ่อนคลายครับ ผมจะคุยเรื่องการผ่อนคลาย การลดความเครียด เป้าหมายในการรักษา และเป้าหมายในการใช้ชีวิต ตอนนี้ทั้งผมและผู้ป่วยก็มีความสุขใจมากขึ้นครับ ส่วนอาการทางกายก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

      ผมก็เลยเรียนรู้จากการรักษาผู้ป่วยรายนี้ว่า การยอมรับความจริง การปรับตัว การปรับใจ การปรับเป้าหมายของชีวิตให้เข้ากับความจริงที่ต้องเผชิญ ผมเองที่เป็นแพทย์ที่ทำหน้าที่รักษาโรคให้หาย แต่เมื่อไม่หายก็ต้องรักษาคนที่มีโรคให้ดีดีกว่าครับ

เรื่องเล่าที่ 7

      ผู้ป่วยที่ผมดูแลมักจะมีอายุมากเกือบทั้งสิ้น ทั้งผู้ป่วยโรคอัมพาต โรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน ซึ่งทุกโรคนั้นพบบ่อยในผู้สูงอายุ และผู้ป่วยก็จะมีโรคร่วมด้วยเสมอ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง และหลอดเลือดหัวใจตีบ ส่งผลให้ผู้ป่วยที่ผมดูแลเมื่อมานอนรักษาในโรงพยาบาล ก็มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนส่งผลต่อผลการรักษาที่มักจะไม่ดี หรือเสียชีวิต

      “หมอครับ พ่อผมเป็นอย่างไรครับ ตั้งแต่มานอนในโรงพยาบาล พ่อผมไม่ตื่นเลย เรียกไม่รู้สึกตัวเลย พ่อผมจะรอดหรือเปล่าครับ ผมสงสารพ่อผมมากครับ” ผู้ป่วยรายนี้เป็นคนไข้เก่าที่ติดตามการรักษากับผมมานานกว่า 10 ปี มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง เกิดอาการอัมพาตหลอดเลือดสมองตีบ พอช่วยเหลือตนเองได้ ต่อมาเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้นอีก อาการจึงทรุดลงไปอีก ครั้งนี้มานอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะปอดติดเชื้อ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น ต้องปั๊มหัวใจนานมากกว่า 10 นาที ผมมาตรวจประเมินก็พบว่าสมองยังทำงานอยู่ แต่มีภาวะไตวาย ตับวาย ความดันโลหิตต้องให้ยาเพิ่มความดันอยยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถลดยาเพิ่มความดันลงได้

      “ผมได้ดูคุณพ่อของพี่แล้วนะครับ ผมว่าท่านอาการหนักมากครับ โอกาสรอดแล้วกลับไปแบบเดิมก่อนป่วยครั้งนี้ ผมว่ายากมากๆ ครับ ถ้าเรามองกันแบบตรงไปตรงมา ผมว่ายากครับ ไม่น่าจะเป็นไปได้เลยครับ ผมว่าพี่ต้องคุยกับทุกคนในครอบครัวว่าจะมีความเห็นอย่างไร คือว่า จะสู้ต่อหรือจะพอ หรือจะพาคุณพ่อกลับบ้าน ตามที่คุณพ่อเคยบอกผมไว้ว่า อย่าทำอะไรให้พ่อเจ็บตัวมาก พ่อแก่แล้ว พ่ออยากนอนหลับที่บ้าน”

      เมื่อผมคุยกับลูกชายผู้ป่วยเสร็จ ทางลูกชายก็ตอบผมว่า “ขอบคุณนะหมอที่ดูแลพ่อผมมาตลอด ไม่ว่าเกิดอาการอะไร โรคอะไร หมอก็มาดูแลพ่อผมเสมอ ผมเห็นด้วยกับคำแนะนำของหมอครับ ผมและครอบครัวจะไม่ทำอะไรกับพ่อผมมากกว่านี้แล้วครับ ผมจะพาพ่อผมกลับไปนอนหลับสบายๆ ที่บ้านตามที่พ่อผมได้บอกไว้ ขอบคุณหมออีกครั้งนะครับ ถ้าหมอมีอะไรที่คิดว่าผมและครอบครัวจะช่วยหมอหรือโรงพยาบาลได้ บอกนะครับผมยินดีเสมอ”

      ผมอยากบอกทุกคนที่อ่านเรื่องนี้ให้เห็นความจริงว่า การรักษาพยาบาลผู้ป่วยทุกรายนั้น ไม่ใช่แค่การรักษาอาการเจ็บป่วยเท่านั้น การรักษาผู้ป่วยทั้งตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว และการรักษาด้วยความเข้าใจ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน "การรักษาคนที่มีโรค ไม่ใช่รักษาโรคในตัวคนเท่านั้น”

เรื่องเล่าที่ 8

      ผมได้มีโอกาสรักษาผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นโรค ALS: amyotrophic lateral sclerosis เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทในไขสันหลังและสมองบางส่วน ผู้ป่วยจะมีอาการแขน ขาอ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ พูดไม่ชัด กลืนอาหารลำบาก และสุดท้ายกล้ามเนื้อการหายใจก็อ่อนแรง ในปัจจุบันไม่มียาที่รักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แค่ชะลออาการของโรคได้บ้าง

      “หมอค่ะ สามีพี่เป็นโรคอะไรค่ะ เขาจะหายหรือไม่ เขากำลังจะเป็นผู้บริหาร ก็มาอ่อนแรงแบบนี้ อนาคตเขาจะเป็นอย่างไร เขาจะทำงานได้หรือไม่ เขาจะต้องออกจากงานหรือเปล่า แล้วครอบครัวเราจะทำอย่างไร เขาเป็นเสาหลักของครอบครัว พี่เองก็เป็นแค่แม่บ้าน ไม่มีงานทำ ถ้าเขาทำงานไม่ได้ เราจะทำอย่างไรดี” ผมได้รับคำถามมากมาย จนไม่รู้จะเริ่มตอบคำถามไหนก่อนดี และที่ตอบยากก็คือ โรคนี้รักษาไม่หาย ผมจะตอบอย่างไรดี เพราะเราเองก็รู้ถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการที่โรคนี้รักษาไม่หาย อาการของผู้ป่วยก็จะต้องทรุดลงไปเรื่อยๆ ไม่สามารถทำงานได้ แล้วครอบครัวของเขาจะเป็นอย่างไร ยิ่งคิดก็ยิ่งหนักใจมากขึ้น สุดท้ายผมก็ตัดสินใจอธิบาย ตอบคำถาม ดังนี้

      “ผมอยากบอกว่าโรคที่เป็นนั้นในปัจจุบันแพทย์ไม่มียาที่จะใช้รักษาให้หายขาดได้ครับ แต่ว่าเราสามารถประคับประคอง พยุงให้โรคนี้ไม่ทรุดลงเร็ว และยังสามารถทำงานที่เหมาะสมได้ครับ เอาเป็นว่าตอนนี้เราค่อยๆ ปรับตัว ปรับใจให้พร้อมในการรักษาดีกว่า ผมเชื่อว่าถ้าเราเตรียมพร้อมในการรับมือ ทุกปัญหาก็มีทางออกเสมอ”

      “ขอบคุณค่ะหมอ พี่ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด พี่คงต้องพยายามหาวิธีในการดูแลให้สามีพี่เขาแข็งแรงขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น ส่วนพี่เองก็คงต้องเตรียมตัวให้พร้อม เตรียมใจให้พร้อมในการเผชิญกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหน้า พี่เริ่มทำใจไว้บ้างแล้ว อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิดค่ะ พี่ขอบคุณหมอนะค่ะที่พยายามหาวิธีดูแลพวกเราอย่างดี ทั้งกายและใจ พี่เข้าใจดีค่ะว่าโรคที่สามีพี่เป็นนั้นเป็นอย่างไร แต่หมอก็ยังให้กำลังใจเราอย่างดี”

      ผมพบปัญหาในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่รักษาไม่หายมามาก และผู้ป่วยเป็นกำลัง เสาหลักของครอบครัวมาตลอดก็มากเช่นกัน ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลคนไข้และครอบครัวของเขานั้น ไม่ใช่เพียงแค่รักษาไม่หาย ก็ไม่ต้องนัดมาอีก หรือพูดเพียงสั้นๆ ว่าให้ทำใจ เพราะไม่มีทางที่ผู้ป่วย ครอบครัวจะทำใจได้ทันที สิ่งที่ผมทำเสมอมา คือ การแสดงความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ การให้คำแนะนำที่สามารถนำไปใช้ได้ และการเล่าประสบการณ์ที่ผู้ป่วยและครอบครัวอื่นๆ เคยประสบมา เพื่อสร้างความั่นใจว่าเขาก็ต้องผ่านปัญหานี้ไปได้ เหมือนกับคยนอื่นๆ ที่ผ่านมาแล้วได้เช่นกัน

เรื่องเล่าที่ 9

      โรคอัมพาตเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และมีโรคร่วมคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง โรคหัวใจ จึงมีโอกาสเกิดขึ้นในพ่อ แม่หรือญาติผู้ใหญ่ของทุกๆ คน เมื่อเกิดแล้วก็มักจะรักษาไม่หายเป็นปกติ หรือม็เสียชีวิต ผมจะถูกปรึกษาทางโทรศัพท์ ทางไลน์หรือเฟซบุ้ค เกี่ยวกับปัญหาการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัมพาต สิ่งที่ผมถูกถามบ่อยๆ คือ จะหายหรือไม่ จะต้องให้การรักษาอะไรเพิ่มเติมอีกจากที่ได้อยู่แล้ว นวดแผนไทย ฝังเข็มได้หรือไม่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยหรือเปล่า เป็นต้น

      “หมอสมศักดิ์หรือเปล่าครับ ผมได้อ่านบทความของคุณหมอเกี่ยวกับโรคอัมพาต ผมอยากพาพ่อผมมาพบหมอที่ขอนแก่นครับ ผมอยู่ที่นครสวรรค์ ไม่ทราบว่าต้องนัดล่วงหน้าหรือไม่ อย่างไร ผมอยากให้พ่อผมหายครับ ลำบากอย่างไร ผมก็จะพามาหาหมอให้ได้”

      จริงแล้วผมเชื่อมั่นว่าการรักษาที่ได้รับอยู่แล้วนั้นไม่น่าจะแตกต่างกับที่ผมจะให้ แต่สิ่งที่ต่างกัน คือความหวังของผู้ป่วย ความหวังของญาติจากการที่ปัจจุบัน ผู้ป่วยยังไม่หาย จึงมีความหวังว่าต้องหายเมื่อได้อ่านบทความหรือมีใครบอกว่า มีคนที่เป็นโรคแบบนี้รักษากับหมอท่านนี้แล้วหายดี ดังนั้นสิ่งที่ผมจะทำในกรณีที่ปรึกษามาทางโทรศัพท์ หรือทางสื่อต่างๆ คือ ผมจะสอบถาม ทบทวนข้อมูลการเจ็บป่วย การรักษาที่ได้รับมา อาการในขณะนี้ว่าเป็นอย่างไร และถ้าพบว่ามีประเด็นที่สามารถแก้ไขทำให้ดีขึ้น ก็จะให้คำแนะนำ ต้องบอกว่าส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยและญาติต้องการความมั่นใจว่าสิ่งที่ได้รับการรักษาอยู่แล้วนั้นดีที่สุด

      ด้วยเหตุนี้ผมจึงต้องเน้นการได้รับข้อมูลการรักษาที่เป็นจริง และชื่อแพทย์ที่ให้การรักษา เพื่อที่ผมจะได้ยืนยันกับผู้ป่วยและญาติว่าได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ยิ่งถ้าเป็นแพทย์ที่ผมรู้จักเป็นอย่างดี ผมก็จะมั่นใจมากขึ้นในการให้คำแนะนำกับผู้ป่วยและญาติว่า การรักษาที่ได้รับอยู่นั้นดีแล้ว ได้มาตรฐานสูงสุด อาการที่ยังไม่ดีขึ้นนั้น เป็นเพราะธรรมชาติของโรค ความรุนแรงของโรค และขาดการทำกายภาพบำบัด ขาดกำลังใจที่ดี มิใช่ไม่ได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม

      ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเมื่อผมได้ให้คำแนะนำ ผู้ป่วยและญาติก็มักจะเกิดความเชื่อมั่นในการรักษาที่ได้รับ ไม่ได้มาพบผมที่ขอนแก่น ซึ่งผมก็มีความสุขใจมากกว่าที่ผู้ป่วยจะมารับการรักษากับผม ผมจึงยินดีที่จะให้คำปรึกษากับทุกคนที่ติดต่อผมมาในทุกวิธี ทุกรูปแบบ

      ความมั่นใจ ความเชื่อมั่นในการรักษาที่ได้รับนั้นเป็นสิ่งสำคัญหนึ่งในการรักษา แพทย์เราจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ป่วยและญาต เพื่อเพิ่มกำลังใจในการดูแลสุขภาพตนเองต่อไปอย่างดี

เรื่องเล่าที่ 10

      โรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่พบได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน และเป็นปัญหาของสังคมในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ขาดผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพราะลูกๆ หลานๆ ในยุคปัจจุบันจะประกอบอาชีพนอกบ้านกันเป็นส่วนใหญ่ ตอนกลางวันก็จะไม่มีใครอยู่ดูแลหรือเป็นเพื่อนผู้สูงอายุ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น

      “หมอครับ พ่อผมแปลกไปครับ ตอนนี้ชอบบ่นว่า หาของไม่เจอ ใครเอาของไปเก็บไว้ที่อื่น หรือขโมยของไปหรือเปล่า ทั้งที่จริงแล้วไม่มีใครไปยุ่งกับของของพ่อเลย เป็นเพราะพ่อเก็บของเอง แล้วก็ลืมว่าเก็บไว้ที่ไหน แล้วก็ชอบบอกว่า พ่อไม่เห็นรู้เรื่องเลย ไม่เคยพูด ไม่เคยบอก ทั้งๆที่ลูกๆ ทุกคนก็ยืนยันว่าพ่อบอกให้ทำ ผมเริ่มกังวลใจว่าพ่อผมจะเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ครับ”

      ผมได้ตรวจประเมินอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียด แล้วพบว่าน่าจะเข้าได้กับอาการสมองเสื่อมแน่ๆ ปัญหาในผู้ป่วยรายนี้คือว่า ผู้ป่วยไม่ยอมรับว่าตนเองผิดปกติ ไม่ยอมเชื่อคำแนะนำของแพทย์ และลูกๆ ไม่ยอมทานยารักษา ไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยังขับรถ ทำงาน บริหารธุรกิจ ซึ่งทำใหเกิดปัญหามากขึ้นกว่าเดิม

      ผมต้องพยายามหาวิธีที่จะให้ผู้ป่วยยอมรับว่าเริ่มมีปัญหาผิดปกติด้านความจำ การตัดสินใจและจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป จึงได้มีการพูดคุยกับผู้ป่วยใหม่อีกครั้งว่า จะขอทดสอบความจำด้วยแบบทดสอบที่เป็นมาตรฐาน และขออนุญาตบันทึกภาพระหว่างการตรวจ เพื่อให้ผู้ป่วยดูอีกครั้งภายหลังการทดสอบ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าได้มีการทดสอบ และพูดคุยอะไรกันบ้าง เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ยอมรับว่ามีปัญหาด้านความจำจริงๆ ซึ่งก็ได้ผลครับ ภายหลังการทดสอบและดูภาพที่มีการบันทึกไว้ ผู้ป่วยยอมรับว่ามีปัญหาด้านความจำ และเริ่มทำการรักษา

      ผมได้คุยกับลูกๆ ว่าตอนนี้สิ่งที่สำคัญ คือ การให้กำลังใจพ่อ ให้ความใกล้ชิดมากขึ้น พยายามพูดคุยกับพ่อให้มากๆ และลูกๆ ทุกคนต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่าโกรธ อย่าทะเลาะ อย่าเถียงพ่อ เพราะพ่อไม่ได้มีเจตนา แต่พ่อจำไม่ได้จริงๆ

      การรักษาโรคสมองเสื่อม ต้องรักษาด้วยความใส่ใจทั้งในส่วนตัวโรค กำลังใจของผู้ป่วยและคนในครอบครัวด้วยเสมอ

เรื่องเล่าที่ 11

      โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่พบได้บ่อยในวัยกลางคนขึ้นมาถึงผู้สูงอายุ ธรรมชาติของโรคนี้ คือ จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และถ้าได้รับการรักษาด้วยยาขนาดสูงก็จะทำให้โรคนี้มีอาการทรุดเร็วขึ้น ด้วยเหตุนี้เวลาเริ่มต้นรักษาโรคนี้ ผมจะค่อยๆ ให้ยาขนาดน้อยที่สุด เช่น 1 ใน 4 เม็ด ทานเช้า เย็นเท่านั้น แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อทานยาแล้วอาการดีขึ้น แต่ไม่หาย ก็เลยเพิ่มขนาดยาที่ทานเอง เพราะเห็นว่าเพิ่มยาแล้วอาการดีขึ้น จึงเพิ่มยาเองมาตลอด แต่เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี อาการก็เริ่มทรุดลง เริ่มไม่ตอบสนองต่อการรักษา ผมมีผู้ป่วย 1 รายที่อยากเล่าให้ฟัง ลองติดตามครับ

      “หมอค่ะ ช่วยพี่ด้วยนะค่ะ ตอนนี้อาการพี่แย่ลงมากๆ เลย ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ตัวแข็งเกร็งสลับกับสั่นเป็นๆ หายๆ ไม่มีช่วงไหนที่ปกติเลยค่ะ พี่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก่อนเวลามีอาการพี่ทานยาก็ดีขึ้น แต่ตอนนี้พี่ทานเท่าไหร่ก็ไม่ดีขึ้นเลย แย่จังเลย ตอนนี้พี่ไม่ได้ไปทำงานมาเกือบเดือนแล้ว พี่ต้องออกจากงานแน่ๆ เลย ช่วยพี่ทีค่ะ”

      ผู้ป่วยรายนี้เป็นโรคพาร์กินสันรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งที่กรุงเทพ ผู้ป่วยได้ยามาทานทุกชนิดที่มีในโลกนี้เลยครับ เนื่องจากรักษากับผู้เชี่ยวชาญและใช้สิทธิ์การรักษาของรัฐวิสาหกิจ ช่วงแรกๆ ก็สบายดีหลังจากเริ่มรักษาใหม่ๆ ผู้ป่วยเห็นว่าอาการดีขึ้นชัดเจน แต่ก็ยังไม่หายดี และสังเกตุเห็นว่ายาที่ทานมีขนาดน้อยมาก พอเพิ่มยาขึ้นจาก 1 ใน 4 เป็นครึ่งเม็ด อาการก็ดีขึ้น จึงได้เพิ่มขนาดยาเองมาตลอด พอยาหมดก็ไปซื้อยาเพิ่มเอง โดยไม่เคยได้บอกหมอเลย พอช่วงหลังอาการไม่ดีขึ้นหลังเพิ่มยา จึงได้แจ้งหมอ แต่หมอก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้มากนัก เพราะอาการได้ทรุดลงไปมาก ผู้ป่วยอยู่คนเดียวที่กรุงเทพ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงกลับมาที่ขอนแก่น เมื่อผมได้ประเมินอาการและประวัติการรักษาแล้ว ก็พูดกับผู้ป่วยและญาติที่มาด้วยว่า

      “ผมได้ประเมินอาการแล้วนะครับ ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นไปตามธรรมชาติของโรคครับ แต่ที่ยากกว่ารายอื่นๆ เพราะเกิดอาการที่รุนแรง ยาที่ได้มีขนาดสูงและหลายชนิดมาก ผมจะต้องค่อยๆ ทำการปรับวิธีการรักษาใหม่ โดยขอจัดตารางวิธีการทานยาอย่างละเอียด และต้องขอความร่วมมือจากผู้ป่วยให้ทานยา อาหารเป็นเวลาที่แน่นอน เพื่อให้การรักษานั้นได้ผล อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการจดบันทึกอาการที่เกิดขึ้น อาหารที่ทาน เวลาที่ทานอาหาร ทานยา เพื่อที่หมอจะได้นำมาดูว่าจะแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นอีกบ้าง อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือกำลังใจอย่าเพิ่งหมด ต้องสู้ พยายามเคลื่อนไหว ช่วยเหลือตนเอง ทำกิจกรรมต่างๆ ให้มาก การไปร่วมกิจกรรมกับคนอื่นๆ ก็ช่วยทำให้เราดีขึ้นนะครับ ไม่ใช่ว่าจะอยู่แต่ในบ้านอย่างเดียว”

      ผ่านไป 1 เดือนผู้ป่วยเดินมาหาผมได้ครับ ครั้งก่อนนั่งรถเข็นมา หน้าตาดูมีความสุขมากขึ้น แต่งตัวมาอย่างสวย แตกต่างกับครั้งก่อนอย่างมาก พร้อมกับรอยยิ้ม แล้วพูดว่า “ พี่ต้องขอบคุณหมอมากๆ นะครับ ที่ให้โอกาส ให้ชีวิตพี่อีกครั้ง ครั้งก่อนนี้พี่คิดว่าทุกอย่างจบสิ้นแล้ว แต่หมออธิบายให้พี่เข้าใจถึงเหตุ และผลของการเกิดปัญหา พี่ก็เลยนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทานยา ทานอาหารตรงเวลา แต่ก่อนพี่ก็เอาแต่ความสะดวก เพราะพี่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า การรักษาโรคนี้ต้องทำตัวอย่างไรบ้าง ที่สำคัญหมอได้ให้กำลังใจพี่ ให้วิธีคิด พี่ก็เลยสู้ๆ ตามที่หมอบอกพี่ พี่จะสู้ต่อไป พี่จะต้องหาย ต้องดีขึ้น และถ้าเมื่อไหร่ที่หมอต้องการให้พี่ช่วยเหลืออะไรเกี่ยวกับโรคนี้ เช่น ให้เล่าเรื่องต่างๆ ให้ผู้ป่วยท่านอื่นๆ ฟัง พี่ยินดีมากค่ะ” เรื่องนี้สอนให้ผมว่าการหาสาเหตุที่แท้จริง การอธิบายให้ผู้ป่วยรู้ถึงเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น การให้กำลังใจนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ต่างกับความรู้ ความชำนาญทางการแพทย์เลย

      ปัจจุบันผู้ป่วยรายนี้กลับไปทำงานได้ อยู่คนเดียวที่กรุงเทพได้ ดีใจครับ