คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน ก้าวแรก……ของการเริ่มเปิดบริการคลินิกโรคลมชักแบบง่าย

somsaktalk-23


      

      Easy Epilepsy Clinic หรือ คลินิกโรคลมชักแบบง่าย จะเริ่มต้นอย่างไร ต้องมีอะไรบ้าง และก้าวแรกนั้นจะต้องทำอย่างไร คำถามที่ผมตอบได้อย่างสบายใจที่สุด “ก้าวแรกของการเปิดบริการคลินิกโรคลมชักแบบง่าย คือ ก้าวออกมาจาก comfort zone ของเราทุกคนก่อน “ นั้นหมายถึงการก้าวผ่านความคิด ทัศนคติต่างๆ ที่เรากังวล ที่เราเห็นว่ามันยาก มันเหนื่อย มันมีอุปสรรค เราก็อยู่สบายดีแล้ว จะไปทำงานอะไรเพิ่มอีก

      ผมอยากให้ลองกลับมาทบทวนว่าเรามีความสุขดีแล้วจริงหรือไม่ แล้วทำไมเราถึงบ่นว่าคนไข้เยอะจังเลย ตรวจเท่าไหร่ก็ไม่หมด คนไข้ตั้งเยอะตั้งแยะนี้ เกินครึ่งไม่เห็นว่าจะมีความจำเป็นมาตรวจกับเราเลย ตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้านกับหมอเวชปฎิบัติทั่วไป มาหาเราให้สิ้นเปลื้องทำไม เราจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยเหล่านี้ให้เขาเชื่อมั่นในการรักษากับหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

      ลองคิดดูครับว่าถ้าเราทำให้การดูแลรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลใกล้บ้านสามารถรักษาได้ดีเป็นไปตามมาตรฐานแล้ว ผู้ป่วยเหล่านั้นเขายังจะมาหาเราอีกหรือไม่ ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่แล้วเขาเหล่านั้นก็จะไม่มาแน่นอน แต่ก็อาจจะยังมีส่วนน้อยที่มาหาแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่

      ด้วยเหตุที่ผมเป็นประสาทแพทย์ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย มีผู้ป่วยมารักษามากมายจนตรวจไม่ไหว และผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมาพบผมด้วย แต่เขาก็ต้องมาหาผมด้วยความยากลำบาก เดินทางไกล เสียค่าใช้จ่าย เสียงาน หมดเวลาเป็นวันๆ รอตรวจหลายชั่วโมง เพื่อพบผมเพียง 5 นาที ทำไมเขาถึงต้องมา ก็เพราะระบบการรักษาของเราครับ ที่ไม่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่สามารถได้รับการรักษาที่เหมาะสม ระบบของเราให้ผู้ป่วยต้องดิ้นรน มีเพียงส่วนน้อยครับที่เราทำดีแล้ว แต่เขาก็ยังไม่ไว้ใจหรือเชื่อเรา ซึ่งส่วนนี้เราก็คงต้องพูดบ่อยๆ และปรับการบริการของเราให้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น

      เราลองมาวางระบบให้ผู้ป่วยเข้าถึงเราง่ายขึ้น ด้วยการทำ Easy Epilepsy Clinic โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การเข้าถึงง่ายและมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เราทำอะไรได้บ้างเพื่อคนไข้

      1. การจัดระบบการประสานงานระหว่างผู้ป่วยกับทีมบริบาลอย่างง่ายๆ เช่น การมีหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อโดยตรงกับพยาบาล เภสัชกร และแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วย ญาติสามารถติดต่อกับเราได้สะดวก

      2. การใช้เทคโนโลยีง่ายๆ ผ่านสื่อออนไลน์ (social media) เช่น FaceBook, Line หรือ infographic เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลมชัก การสอบถามปัญหาที่ผู้ป่วยหรือญาติไม่สบายใจ ไม่เข้าใจ การเลื่อนนัด เป็นต้น

      3. การจัดกิจกรรมให้ผู้ป่วย ญาติมาแลกเปลี่ยนประเด็น ปัญหา ข้อสงสัย สิ่งไม่สบายใจระหว่างกัน โดยมีพยาบาล และผู้มีประสบการณ์เป็นผู้ให้คำแนะนำ และข้อสรุปในการทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การให้กำลังใจ การให้คำแนะนำระหว่างผู้ป่วยด้วยกัน

      4. การจัดระบบการส่งตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ที่ผู้ป่วยสามารถนัดมาตรวจได้โดยตนเอง หรือให้พยาบาลโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยประสานมา และเมื่อผู้ป่วยมาถึงก็ตรวจได้ตรงเวลาที่มีการนัดหมายไว้ รวมทั้งการรายงานผลการตรวจไปยังผู้ป่วย ญาติ พยาบาล แพทย์ผู้ส่งผู้ป่วยมาตรวจได้ทุกรูปแบบ เช่น จดหมาย email, Line, FaceBook เป็นต้น

      5. การจัดทำฐานข้อมูลยาของทุกโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยมารักษากับเราว่ามีรายการยาอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้แนะนำผู้ป่วยได้ถูกต้อง และสะดวก มีประสิทธิภาพเมื่อมีการส่งกลับไปรักษาใกล้บ้าน

      6. การจัดระบบการส่งตรวจวัดระดับยาจากโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งระบบการรายงานผล พร้อมคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนขนาดยาที่เหมาะสม

      7. การออกแบบระบบการให้คำปรึกษากรณีต่างๆ สำหรับทีมสุขภาพด้วยกัน

      8. การพัฒนาแนวทางการรักษาโรคลมชักสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป พยาบาล เภสัชกร ที่เหมาะสมในแต่ละระดับความพร้อมของโรงพยาบาล

      การก้าวออกจากแนวคิดเดิมที่เอาระบบบริการที่เราออกแบบ หรือเอาความสะดวกของเราเป็นศูนย์กลาง เปลี่ยนมาเป็นวิธีคิดแบบที่ให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางจริงๆ นั้น น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้การบริบาลของเราก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อผู้รับและผู้ให้บริบาลผู้ป่วย