คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน มีก็เหมือนไม่มี ไม่มีก็เหมือนมี

somsaktalk-22


      

      ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินวลีที่ว่า “ มีก็เหมือนไม่มี ไม่มีก็เหมือนมี” วลีนี้จะเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องที่ผมจะคุยในวันนี้ เรื่อง คลินิกโรคลมชักแบบง่าย หรือ Easy Epilepsy Clinic ก่อนอื่นเรามาคุยกันว่า Easy Epilepsy Clinic : EEC นั้นคืออะไร

      EEC คือ การจัดบริการการรักษาสำหรับโรคลมชักแบบง่าย เพื่อให้ผู้มีอาการชัก ญาติ ครอบครัวได้รับการรักษาและทำความเข้าใจกับโรค วิธีการรักษา การดูแลตนเอง การดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นสุข เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

      การให้บริการการรักษาแบบง่าย คือ การจัดรูปแบบการบริการการรักษาโดยใช้ทรัพยากรด้านบุคคล งบประมาณที่มีอยู่ในแต่สถานบริการอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อให้ผู้มีอาการชัก ญาติและครอบครัวสามารถเข้าถึงระบบบริการการรักษาได้อย่างง่าย ทั่วถึงและมีคุณภาพการรักษาที่ได้มาตรฐาน

      การให้การรักษาโรคลมชักในปัจจุบันของทุกจังหวัดในภาคอีสานจะให้การรักษาโดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและอายุรแพทย์เป็นส่วนใหญ่ ในโรงพยาบาลจังหวัดที่มีประสาทแพทย์ ประสาทกุมารแพทย์ ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็เป็นเพียงบางส่วนของผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือที่มีค่าใช้จ่ายสูงและมีความยากในการแปรผล เช่น การตรวจเอ็มอาร์ไอ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) การตรวจวัดระดับยากันชักนั้นก็มีเพียงบางจังหวัดเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ป่วยลมชักนั้นยากต่อการเข้าถึงระบบการรักษาที่เป็นมาตรฐาน แม้กระทั่งการได้รับคำปรึกษาเมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ในการดูแลตนเอง ก็ยังไม่มีแหล่งข้อมูลที่ดีในการเข้าถึงได้อย่างง่าย ด้วยเหตุนี้ที่ผมอยากจะเปรียบเทียบกับวลีข้างต้นว่า “ มีก็เหมือนไม่มี” เพราะผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการการรักษาที่มีอยู่ได้อย่างง่าย ติดขัดเรื่องการเดินทาง ค่าใช้จ่าย สิทธิ์การรักษา และที่สำคัญคือไม่รู้ด้วยว่าตนเองจะต้องทำอย่างไร เพราะไม่มีระบบการให้คำแนะนำ ระบบการรักษาที่เป็นขั้นตอน ระบบการส่งต่อที่มีแนวทางอย่างชัดเจน รวมทั้งขาดความเชื่อมต่อของระบบบริการด้านสุขภาพในภาพรวมของเขตบริการสุขภาพ และระดับภูมิภาค แล้วเราจะทำอย่างไรดี เมื่อประเทศไทยก็มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรทุกๆ ด้าน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือต่างๆ และงบประมาณ เราจะทำให้คนไทยได้รับการรักษาที่ดี มีมาตรฐานได้อย่างไร

      “ไม่มีก็เหมือนมี” ผมพยายามตีโจทย์นี้ให้ออกว่า ถ้าเรามีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย แต่เราก็จำเป็นต้องทำให้ระบบบริการการรักษาโรคลมชักมีมาตรฐานที่ดีขึ้น และเป็นไปตามมาตรฐาน เราคงต้องพัฒนาระบบบริการรูปแบบใหม่ขึ้นมาที่ผมเรียกว่า “ระบบเสมือนจริง หรือคลินิกเสมือนจริง หรือ virtual clinic” คำว่าเสมือนก็คือเหมือนหรือคล้าย เสมือนจริงก็คือเหมือนจริง โดยที่ไม่มีสิ่งนั้นจริงๆ แต่ไม่ใช่คิดไปเอง แล้วไม่เป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังดังนี้ครับ

      1. ต้องรวบรวมความพร้อมของแต่ละสถานพยาบาลว่าด้านบุคลากร ด้านเคื่องมือทางการแพทย์ ด้านการสื่อสารเพื่อให้คำปรึกษา ความพร้อมด้านยากันชัก การส่งตรวจวัดระดับยากันชัก

      2. ทบทวนระบบการประสานงานด้านต่างๆ เช่น การส่งต่อ การส่งตรวจเลือด การส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เอ็มอาร์ไอ คลื่นไฟฟ้าสมองกับสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าว่าในปัจจุบันมีระบบการประสานงานอย่างไร

      3. รวบรวมจำนวนผู้ป่วยโรคลมชักในโรงพยาบาล แบ่งเป็นกลุ่มที่ควบคุมการชักได้ดี และควบคุมการชักไม่ได้

      4. นำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดในข้อ 1-3 มาวางแผนในการพัฒนาระบบการบริการที่เรียกว่า คลินิกโรคลมชักอย่างง่าย EEC: Easy Epilepsy Clinic

      5. การออกแบบระบบบริการ คลินิกโรคลมชักเสมือนจริง Virtual Epilepsy Clinic : VEC โดยการรวบรวมประเด็นต่างๆ ที่ผู้ป่วย ญาติ คนในครอบครัวต้องการให้โรงพยาบาลทำอะไร ตอบอะไร และสิ่งที่ทางผู้ให้บริการต้องการบอกอะไร ให้บริการอะไร อยากบอกอะไร ระบบเป็นอย่างไร เมื่อเรารวบรวมประเด็นและกิจกรรมต่างๆ แล้ว ก็นำมาออกแบบระบบบริการ VEC ได้

      6. ระบบบริการใน VEC ประกอบด้วย การบริการจริงๆ ในการเข้าพบแพทย์ การตรวจรักษาทั้งแบบผู้ป่วยนอก การรับเข้าไว้รักษาในโรงพยาบาล การรับยากันชัก ระบบการส่งต่อ การปรึกษาทางโทรศัพท์ ทางออนไลน์ เป็นต้น การให้ข้อมูลทางออนไลน์ ในรูปแบบต่างๆ โดยทั้งหมดนั้นมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การทำให้ผู้ป่วยและญาติมีความรู้ ความเข้าใจ การดูแลตนเองได้ถูกต้อง และตอบข้อสงสัยต่างๆ เพื่อการมีความสุขมากขึ้น ทุกข์น้อยลง เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยและครอบครัว

      7. การกำหนดแนวทางการส่งต่อ การประสานงานล่วงหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงระบบบริการที่ได้มาตรฐาน เช่น การแจ้งไปยังโรงพยาบาลปลายทางว่าจะส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือการปรึกษาวิธีการรักษา การปรับยากันชัก การตัดสินใจว่าควรทำอย่างไร แทนการส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว การกำหนดแนวทางการส่งต่อ การประสานงาน การปรึกษาแทนก็จะเป็นการลดการส่งต่อได้ และผู้ป่วยก็ได้รับความสะดวก ได้รับการรักษษที่ได้มาตรฐาน เช่นเดียวกับการไปรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

      ผมมีความมั่นใจระบบการบริการแบบ VEC นั้นน่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาระบบการรักษาผู้ป่วยโรค

      ลมชักให้มีประสิทธิภาพในการรักษา มีความคุ้มค่าในการรักษา ประหยัดค่าใช้จ่าย และทุกคนมีความสุขมากขึ้น “มีก็เหมือนไม่มี ไม่มีก็เหมือนมี” จะเป็นจริงได้นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การปรับทัศนคติในการให้บริการการรักษา เอาประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางจริงๆ