คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน 10 ความจริงของโรงพยาบาลรัฐที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้

somsaktalk-2


      

      โรงพยาบาล คือ สถานที่ที่ให้การรักษาพยาบาลผู้มีอาการเจ็บป่วย ถ้าอาการไม่รุนแรง ก็ให้การรักษาแบบ “ผู้ป่วยนอก” คือ ตรวจเสร็จก็รับยากลับบ้าน แต่ถ้าอาการรุนแรง หรือมีความจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เรียกว่า “ผู้ป่วยใน” การให้บริการ และบริบาลผู้ป่วยนั้นจะดำเนินการไปด้วยดี ต้องมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากในการให้บริการและบริบาลผู้ป่วย ตั้งแต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด เจ้าหน้าที่เปล แม่ครัว นักโภชนาการ พนักงานทางการแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล พยาบาล แพทย์ และอีกหลายสิบหน้าที่ หลายสิบหน่วยงานที่เป็นฟันเฟืองให้โรงพยาบาลให้บริการประชาชน และผู้ป่วยได้ ผมขอเล่าถึงความจริงที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ หรือคาดไม่ถึง ดังนี้

      1. โรงพยาบาลเมื่อเปิดบริการแล้ว จะไม่เคยมีการปิดบริการเลย ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ทั้งน้ำท่วม พายุถล่ม ไฟไหม้ หรือถูกก่อการร้าย สงครามก็ไม่ปิดบริการ

      2. โรงพยาบาลรัฐได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากราชการ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ส่วนต่างๆ ทั้งส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เงินเดือนเจ้าหน้าที่ ค่าใช้จ่ายด้านดำเนินการ ค่าน้ำ ค่าไฟ อื่นๆ รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับ หรือไม่มีกำไรเลย ขาดทุนตลอด

      3. ค่าใช้จ่ายที่เป็นส่วนค่ารักษาพยาบาลนั้น ทางโรงพยาบาลได้เรียกเก็บไปยังหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล 3 หน่วยงานหลัก คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง (ข้าราชการและครอบครัว) และสำนักงานประกันสังคม (กลุ่มคนทำงาน) ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานนี้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายแทนประชาชนคนไทย แต่ค่าใช้จ่ายที่ได้รับนั้นจะไม่ได้เท่ากับค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บหรือเกิดขึ้นจริง เป็นการเหมาจ่ายตามรายโรค ซึ่งเกือบทั้งหมดต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริงที่ใช้ในการรักษาทั้งสิ้น (รายรับต่ำกว่ารายจ่าย หรือขาดทุน)

      4. แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เภสัชกร กายภาพบำบัด ทีมสุขภาพ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ทำงานเกินเวลาที่ควรทำอย่างเหมาะสมทั้งสิ้น เช่น แพทย์ พยาบาล ทำงานแบบไม่มีวันหยุดราชการ ยิ่งเป็นช่วงวันหยุดเทศกาลยาวๆ ก็ไม่ได้หยุด แต่พวกเราก็ทำได้อย่างเต็มใจ ด้วยความรับผิดชอบต่อสุขภาพของคนไทย

      5. แพทย์ส่วนใหญ่ต้องสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องเกือบ 30 ชั่วโมงติดต่อกัน ถ้าอยู่เวรตลอดคืนและต้องทำงานต่อในวันรุ่งขึ้นต่อมา

      6. ความเร่งด่วนของผู้ป่วยและญาติมีเป็นจำนวนมาก เกินกว่าที่แพทย์ พยาบาล และทีมสุขภาพทั้งหลายจะให้บริบาลได้ทันตามความต้องการของผู้ป่วยและญาติ ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันบ่อยๆ (ตามมุมมองของผู้ป่วยและญาติจะมองว่าเกือบทุกการเจ็บป่วยเป็นภาวะเร่งด่วนเสมอ)

      7. แพทย์ พยาบาล เภสัชกร กายภาพบำบัดและทีมสุขภาพ นอกจากมีหน้าที่ให้การบริบาลผู้ป่วยให้ดีแล้ว ยังต้องทำงานด้านเอกสารต่างๆ อีกมากมาย โดยต้องใช้ช่วงนอกเวลาราชการ หรือนำงานไปทำที่บ้านเป็นประจำ

      8. ทุกโรงพยาบาลมีการควบคุมคุมคุณภาพโดยหน่วยงานที่เป็นองค์กรด้านคุณภาพของประเทศหรือระดับนานาชาติเป็นผู้ควบคุม ประเมิน เพื่อให้การบริบาลและบริการนั้นเป็นไปตามมาตรฐานด้านคุณภาพ และความปลอดภัยของผู้ป่วย

      9. พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลอยู่บ้าน อาจไม่เคยทำงานเช็ดตัวให้พ่อ แม่ แต่เมื่อไปทำงานที่โรงพยาบาลต้องทำทุกอย่าง ทั้งเก็บ อึ ฉี่ ให้ผู้ป่วย

      10. บุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล อาจไม่ได้รับค่าตอบแทน ถ้าโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องด้านการเงิน แต่ทุกคนก็ยังมาทำงานตามปกติ เพราะความรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้ป่วย

      ความจริงข้างต้นทั้ง 10 ข้อ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความจริงที่ผมอยากบอกให้คนไทยทุกคนทราบ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเมื่อท่านมองโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งอาจลดความขัดแย้งที่ท่านอาจมีเมื่อเข้ารับบริการในโรงพยาบาลของรัฐ และจะได้เพิ่มกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐ