กินของดิบ เสี่ยงถูกพยาธิกิน (ตอนที่ 7)

parasite-7

      

      การป้องกันการติดเชื้อพยาธิแส้ม้าทำได้โดย

  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ปนเปื้อนจากการใช้อุจจาระคนหรือน้ำเสียเป็นปุ๋ย
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ก่อนกินอาหาร
  • สอนเด็กให้ล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ปรุงผักให้สุก หรือลอกเปลือกผลไม้ออก ก่อนกิน

      พยาธิตัวจี๊ด/ Gnathostomiasis

      เป็นพยาธิตัวกลม (Nematodes) สามารถพบได้ในอาหารที่เป็นโปรตีนดิบหรือสุกๆ ดิบ เช่น ปลาน้ำจืด (Freshwater fish) ไก่ หอย งู กบ หมู หรือพบได้ในน้ำที่ปนเปื้อน การติดเชื้อที่เกิดจากการกิน (Food-borne parasitic) หรือเกิดจากพยาธิชอนไชเข้าสู่ผิวหนัง (แต่พบได้ยาก)

      พยาธิตัวจี๊ดสามารถอยู่ได้ในทุกอวัยวะ แต่ที่พบมากที่สุดคือ ที่ผิวหนัง และ เนื้อเยื่อใต้หนัง (Subcutaneous tissues) ซึ่งจะทำให้มีอาการบวม ปวด คัน (Pruritic) และ/หรือ อักเสบแดง (Erythematous)

      อาการของโรคพยาธิตัวจี๊ดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

      1. อาการภายใน (Visceral Gnathostomiasis) เช่น เป็นไข้ต่ำ อ่อนเพลีย (Malaise) คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ (Epigastric pain) ในขณะที่ตัวอ่อนเคลื่อนไปตามกระเพาะอาหารหรือผนังลำไส้ ส่วนอวัยวะอื่นที่มีผล เช่น

  • ปอด – ปอดอักเสบ (Pneumonitis) เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleuritic)
  • ตา – ตาบอด กระจกตาเป็นแผล (Corneal ulcer)
  • กระเพาะปัสสาวะ – ปัสสาวะปนเลือด (Hematuria)
  • ระบบประสาทส่วนกลาง - อัมพฤษกษ์ครึ่งซีก (Hemiparesis) ไขสันหลังและสมองอักเสบ (Myeloencephalitis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดอีโอซิโนฟิลิก (Eosinophilic meningitis) ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage)

      2. อาการที่เกี่ยวกับผิวหนัง (Cutaneous gnathostomiasis) เนื่องจากตัวอ่อนอาจเคลื่อนไปตามผิวหนังโดยเฉพาะตามลำตัว แขน ขา และใบหน้า จะทำให้มีอาการบวมเป็นพักๆ บวมย้ายที่ ประกอบกับมีผิวหนังแดง (Erythema) คัน ระคายเคือง หรือปวด บริเวณที่เป็นประมาณ 1-2 สัปดาห์ บางครั้งอาจมีผื่นเล็กๆ เกิดตลอดทางที่ตัวอ่อนเคลื่อนที่ (Creeping eruption)

      การวินิจฉัยโรคสามารถทำได้ด้วยการ

  • สืบประวัติผู้ป่วยถึงการกินของดิบ
  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count)
  • การตรวจแอนติบอดีย์ในซีรั่ม (Serologic test) เช่น ELISA
  • การตรวจ Immunoblot test

แหล่งข้อมูล:

  1. Gnathostomiasis.https://emedicine.medscape.com/article/998278-overview [2018, May 26].
  2. Gnathostomiasis.http://www.tm.mahidol.ac.th/pediatrics/sites/default/files/Gnathostomiasis.pdf [2018, May 26].
  3. Parasites - Trichuriasis (also known as Whipworm Infection). https://www.cdc.gov/parasites/whipworm/index.html [2018, May 26].