กินของดิบ เสี่ยงถูกพยาธิกิน (ตอนที่ 6)

parasite-6

      

      พยาธิแส้ม้า (Whipworm / trichuriasis)

      ถือเป็นพยาธิที่ติดต่อผ่านดิน (Soil-transmitted helminths = STH) โดยพยาธิแส้ม้าจะอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ และผ่านไปยังอุจจาระ หากอุจจาระของผู้ติดเชื้อถูกนำไปใช้เป็นปุ๋ย ไข่พยาธิก็จะฝังอยู่ในดิน และเติบโตจนสามารถแพร่เชื้อได้ต่อไป

      การติดเชื้อพยาธิแส้ม้าเกิดจาก

  • การดื่มน้ำสกปรกหรือปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อพยาธิ
  • สัมผัสกับสิ่งสกปรกและนำมือเข้าปาก
  • กินผักหรือผลไม้ที่ไม่ได้ล้าง ปอกเปลือก หรือทำให้สุก

      เมื่อพยาธิเข้าสู่ลำไส้ จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 เดือน ทั้งนี้ พยาธิตัวเมียจะปล่อยไข่ประมาณ 3,000 - 20,000 ตัวต่อวัน และมีอายุอยู่ได้นาน 1 ปี

      ผู้ที่ติดเชื้อมีทั้งแบบอ่อนที่ไม่แสดงอาการ หรือแบบอาการหนักที่จะปวดตอนถ่ายอุจจาระซึ่งมีทั้ง เมือก น้ำ และเลือด โดยส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาจะหายเป็นปกติ ส่วนกรณีที่ไม่รักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น

  • โตช้าหรือพัฒนาการทางสติปัญญา (Cognitive development) ช้า
  • ติดเชื้อในลำไส้และไส้ติ่ง
  • ไส้ตรงปลิ้น (Rectal prolapse) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดเมื่อลำไส้ตรงบางส่วนหรือทั้งหมดมีการเคลื่อนตัวออกมาภายนอกทวารหนัก
  • ภาวะโลหิตจาง (Anemia) ซึ่งเกิดเมื่อจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงมีน้อย

      ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า คือ

  • อาศัยอยู่ในที่ร้อนชื้น
  • อาศัยอยู่ในที่มีสุขอนามัยไม่ดี
  • กินผักดิบที่ปลูกด้วยปุ๋ยคอก

      ส่วนการวินิจฉัยโรคว่ามีการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า ทำได้ด้วยการตรวจอุจจาระ (Stool test)

      สำหรับการรักษานั้น จะรักษาด้วยการให้ยาถ่ายพยาธิ 1-3 วัน ซึ่งได้แก่

  • ยา Albendazole
  • ยา Mebendazole

แหล่งข้อมูล:

  1. Whipworm Infection. https://www.healthline.com/health/whipworm-infection [2018, May 25].
  2. Parasites - Trichuriasis (also known as Whipworm Infection). https://www.cdc.gov/parasites/whipworm/index.html [2018, May 25].