กินของดิบ เสี่ยงถูกพยาธิกิน (ตอนที่ 1)

parasite-1

      

      กรณีกระแสข่าวเรื่องของพยาธิที่ปนเปื้อนในอาหาร แม้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็มีหลายคนยังคงมีคำถามสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับพยาธิ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพยาธิมีกี่ชนิด และมักจะพบในอาหารใดบ้าง หรือมีวิธีหลีกเลี่ยงป้องกันอย่างไร รวมถึงจำเป็นหรือไม่ที่ต้องถ่ายพยาธิเป็นประจำทุกปี

      สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยแพร่ผ่านแฟนเพจ "@FDAThai" ให้ข้อมูลไขข้อข้องใจ ว่า พยาธิจะมี 5 ชนิด และมักพบในอาหารแบบดังต่อไปนี้ ได้แก่

      "พยาธิใบไม้ตับ" พบในอาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดที่ไม่สุก เช่น ปลาร้าดิบ ส้มปลา เป็นต้น

      "พยาธิตัวตืด" พบในเนื้อหมู วัว ที่ปรุงไม่สุก สามารถมองเห็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคู หรือผักสดที่ล้างไม่สะอาดและมีไข่พยาธิปนเปื้อน

      "พยาธิไส้เดือนและพยาธิแส้ม้า" พบในผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด อาหารไม่สะอาดปนเปื้อนไข่พยาธิ มีแมลงวันตอม หรือหยิบของที่ตกบนพื้นดินเข้าปาก

      "พยาธิตัวจี๊ด" พบในเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก เช่น ปลา ไก่ กบ เป็นต้น

      "พยาธิอะนิซาคิส" พบในอาหารประเภทปลาทะเลที่ไม่สุก ปลาดิบ

      สำหรับวิธีหลีกเลี่ยงพยาธิเหล่านี้ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายนั้น ควรเลือกซื้ออาหารที่สดใหม่สะอาด หากเป็นเนื้อสัตว์ต้องสังเกตุดูว่า มีตัวอ่อนพยาธิ ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคูปนเปื้อนหรือไม่ และไม่หยิบของที่ตกบนพื้นแล้วเข้าปาก และควรเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรือสุกด้วยความร้อนไม่เพียงพอ

      ส่วนการบีบมะนาวไม่มีผลในการฆ่าตัวอ่อนพยาธิ เพียงแค่ทำให้เนื้อสัตว์เปลี่ยนสีเท่านั้น สำหรับผักสดหากจะรับประทานดิบๆ ควรจะล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ที่สำคัญล้างมือให้สะอาดก่อนทำอาหารและรับประทานอาหาร

      อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องใช้ยาถ่ายพยาธิประจำปี หากไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิ เช่น อยู่ในพื้นที่ชุกของโรคสูง หรือพฤติกรรมเสี่ยงสูงต่อการได้รับพยาธิ เช่น กินเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบๆ เป็นประจำ

      แต่หากมีอาการผิดปกติที่ต้องสงสัย เช่น ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีรอยบวมแดงบนผิวหนังที่เคลื่อนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ หรืออาการคันก้น เนื่องจากพยาธิบางชนิดจะออกมาวางไข่รอบ ๆ ทวารหนักตอนกลางคืน เป็นต้น ควรไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัย และรักษาด้วยยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสมกับชนิดพยาธิที่ได้รับ

แหล่งข้อมูล:

  1. อย.เผยชื่อพยาธิ5ชนิด ปนเปื้อนอาหารเข้าร่างกาย. http://www.thaihealth.or.th/Content/42103-อย.เผยชื่อพยาธิ5ชนิด ปนเปื้อนอาหารเข้าร่างกาย.html [2018, May 20].