อนาคตแพทย์ไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า

drsomsaktalk-38


      

      ผมจบแพทยศาสตร์บัณฑิตมาตั้งแต่ปี 2533 ทำงานมา 27 ปี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มาพอสมควร ตั้งแต่วิธีการคัดเลือกนักศึกษาแพทย์ การเรียน การขึ้นฝึกงาน การมีระบบแพทย์ฝึกหัด หรืออินเทอร์น การเปลี่ยนแปลงของสังคมซึ่งมีความคาดหวังกับแพทย์ ระบบสาธารณสุขสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพ และเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำงานของแพทย์ไทยในปัจจุบันต่างจากในอดีต และในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมขอทำนายไว้ดังนี้ เพื่อให้แพทย์รุ่นลูก รุ่นหลานของผมเตรียมตัว เตรียมใจไว้ว่าการเป็นแพทย์จะต้องพบกับอะไรบ้าง

      1. แพทย์เราจะต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น เพราะการวินิจฉัยโรค การรักษาและการพูดคุยกับผู้ป่วยซึ่งจะมีความรู้ด้านเทคโนโลยีต่างๆ สูงขึ้น เข้าสู่ยุค internet of thing ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้น และความต้องการ ความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติมีความต้องการการรักษา บริการที่รวดเร็ว สะดวกสบาย มีความคาดหวังสูง อาจก่อให้เกิดการร้องเรียนได้ง่ายขึ้นถ้าไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

      2. แพทย์เราจะต้องพบกับความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย และประชาชนเปลี่ยนไปจากเดิม เปลี่ยนจากผู้ให้การรักษาบริบาลเป็นเพียงผู้ให้บริการด้านสุขภาพเท่านั้น สิ่งนี้น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะจะนำมาซึ่งการร้องเรียน การฟ้องร้อง ง่ายขึ้น ในอดีตและปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ยังดีอยู่ และมีความสัมพันธ์แบบผู้ให้การรักษา ให้หายจากการเจ็บป่วย ไม่หายก็ยังยอมรับได้ แต่ในอนาคตการรักษาต้องหายเท่านั้น เหมือนเอารถเสียมาซ่อม ก็ต้องซ่อมให้ดี รถวิ่งใหม่ให้ได้ ถ้ารักษาไม่หายก็ต้องถูกร้องเรียน

      3. แพทย์ทุกคนต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องด้วยสังคมคาดหวังว่าการรักษาที่ดีนั้นต้องรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงจะดี แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่น่าจะมีความสำคัญ ก็จะถูกลดบทบาทลงไป คนไข้ก็ต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ แพทย์เองก็มีความต้องการที่จะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากกว่าเป็นแพทย์ทั่วไป ประเทศไทยก็จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากมาย ทำให้วิธีการรักษาเปลี่ยนรูปแบบไป แพทย์จะรักษาแบบแยกส่วน ถ้ามีโรคเรื้อรัง 5 โรคก็ต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทางทั้ง 5 โรค ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศสูงขึ้นอย่างมาก

      4. แพทย์ต้องทำประกันวิชาชีพแพทย์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายเมื่อถูกฟ้องร้อง เนื่องจากโอกาสการถูกฟ้องร้องจะมีสูงมากขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์สูงขึ้น เพราะแพทย์ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านประกันวิชาชีพ โรงพยาบาลก็มีต้นทุนด้านนี้สูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน

      5. แพทย์จะมีการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้การวินิจฉัยนั้นมีความแม่นยำมากที่สุด ให้มีโอกาสผิดพลาดน้อยที่สุด เช่น การวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบ ในอดีตและปัจจุบันแพทย์ส่วนใหญ่ก็ใช้อาการปวดท้องบริเวณท้องน้อยด้านขวาร่วมกับการกดเจ็บบริเวณดังกล่าว ในโรงพยาบาลเอกชนบางที่ก็ต้องให้ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องเพื่อช่วยในการวินิจฉัย แต่ในอนาคตแนวทางแบบนี้อาจพบในทุกโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ส่งผลให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น ถามว่าจำเป็นขนาดนี้เลยหรือไม่ แต่สังคมในอนาคตก็จำเป็นต้องตรวจ ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น การตรวจรักษาในโรงพยาบาลของรัฐก็จะแออัดมากขึ้น เพราะทุกสิ่งอย่างต้องมาตรวจในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งหมด

      6. แพทย์ทำงานตาม TOR (term of reference) คือทำตามภาระงานที่มีการตกลงหรือเซ็นสัญญาไว้เท่านั้น ซึ่งก็จะเหมือนกับการทำงานในตำแหน่งวิชาชีพอื่นๆ ทำงานเฉพาะหน้าที่ที่ตกลงกันไว้ ทำงานตามเวลาที่ตกลงกันไว้ งานที่นอกเหนือจากที่ตกลงกันไว้ก็จะไม่ทำ ส่งผลให้ทุกคนก็จะทำตามหน้าที่ที่ระบุ หรือวิชาชีพนั้นกำหนด เช่น ต่อไปแพทย์อาจต้องฉีดยาคนไข้แทนพยาบาล เพราะพยาบาลอาจถูกระบุว่าห้ามฉีดยา นักเทคนิกการแพทย์ต้องเจาะเลือดผู้ป่วยเป็นต้น

      7. แพทย์ก็คืออาชีพหนึ่งเท่านั้นในสังคม ไม่ได้มีความรู้สึกว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติหรือมีความมั่นคง หรือได้รับการยอมรับว่าเป็นอาชีพที่สามารถช่วยเหลือชีวิตคนให้หายจากอาการเจ็บป่วยหรือรอดชีวิตได้ แพทย์ก็คืออาชีพที่ให้บริการด้านสุขภาพเท่านั้น

      8. แพทย์ในโรงพยาบาลขนาดเล็กอาจต้องตกงานหรือเปลี่ยนหน้าที่ เพราะจะมีผู้ป่วยไปรักษาแบบในปัจจุบันน้อยลงไปมาก เพราะทุกคนจะมุ่งหน้าเข้าสู่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ รักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรืออาจจะเกิดแพทย์ใหม่ตกงาน ไม่มีตำแหน่งข้าราชการให้บรรจุ ไม่จำเป็นต้องใช้ทุน คือไม่มีงานให้ทำทันทีเหมือนในปัจจุบัน ไม่แน่นะครับ เพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็มีจำนวนมากขึ้น แพทย์ที่ไม่มีชื่อเสียงอาจไม่มีคนไข้ให้รักษาก็ได้ครับ

      สิ่งที่ผมทำนายไว้นี้ ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยนะครับ แต่ก็อยากฝากหมอรุ่นลูก รุ่นหลานของผมรวมทั้งคนไทยทุกคนไว้ด้วยว่า ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะดีหรือไม่ดีนั้น เราก็สามารถร่วมมือกันปรับเปลี่ยนได้ อย่าปล่อยให้เป็นไปตามเวรตามกรรมนะครับ สงสารคนไทยยุค 5.0