เหตุการขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐ

drsomsaktalk-37


      

      การขาดทุน ก็คือ รายรับน้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐในปัจจุบันนั้นมีการกล่าวว่าสาเหตุหลักน่าจะเกิดจากบัตรทอง เพราะค่าตอบแทนการรักษาที่ได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. นั้นต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาที่โรงพยาบาลได้จ่ายจริง เมื่อรายรับน้อยกว่ารายจ่ายก็ย่อมขาดทุน ซึ่งผมก็ไม่แย้งหรอกครับว่าสาเหตุหนึ่งของการขาดทุน ก็เพราะรายรับจาก สปสช. นั้นต่ำกว่ารายจ่ายจริง แต่ก็มีสาเหตุหรือความจริงอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการขาดทุนเช่นกัน ผมลองนั่งนึกว่ามีอะไรบ้าง พบดังนี้ครับ

      1. ความจริงแล้วไม่ใช่ สปสช. หน่วยงานเดียวที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริง เพราะกรมบัญชีกลางที่ดูแลผู้ป่วยสิทธิ์จ่ายตรง สำนักงานประกันสังคม ก็จ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในด้วยหลักการเดียวกัน คือ ตามค่าจ่ายเหมาจ่ายตามตัวโรค หัตถการที่ทำ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกัน

      2. สปสช. จ่ายค่ารักษาพยาบาลต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ก็ยังมีงบประมาณสนับสนุนอื่นๆ เช่น งบค่าเสื่อม งบส่งเสริมสุขภาพ งบ P4P งบด้านงานคุณภาพ และอื่นๆ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอในการสนับสนุนด้านงบประมาณอยู่ดี แต่ก็ยังพอมีงบเพิ่มเติมบ้าง

      3. ความต้องการของสังคมและผู้ป่วยที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้น เช่น ปวดหัวมานานมากๆ เป็นมานานเกือบ 20 ปี ไม่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทอื่นๆ ก็ต้องการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือเอ็ม อาร์ ไอสมองทั้งที่ไม่จำเป็น

      4. ความซับซ้อนทางการแพทย์ที่มีมากขึ้น ร่วมกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุของโรค หรือการรักษาที่มีความก้าวหน้าไปมาก ก็ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

      5. ผู้ป่วยสูงอายุจำนวนมาก และการรักษาโรคต่างๆ ในผู้สูงอายุนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เนื่องจากมีความซับซ้อน ภาวะแทรกซ้อนและการนอนรักษาในโรงพยาบาลที่นานกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ ส่วนนี้ก็ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นอย่างมาก

      6. การรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือการไม่มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เพราะโรงพยาบาลของรัฐไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลที่สิทธิ์ต่างๆ ครอบคลุม หรือถ้าผู้ป่วย ครอบครัวไม่พร้อมที่จะจ่ายค่ารักษานอกเหนือจากสิทธิ์ ทางโรงพยาบาลก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ส่งผลให้มีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่สามารถกลับไปรักษาที่บ้านได้ แต่ญาติก็ไม่ยอมรับกลับ รวมทั้งผู้ป่วยและญาติก็ต้องการให้แพทย์รักษาด้วยวิธีที่ดีที่สุด แต่ไม่พร้อมจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนเกิน

      7. ค่ารักษาในหมวดต่างๆ มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากๆ เมื่อเทียบกับในอดีต แต่บัญชีค่ารักษาพยาบาลในหมวดต่างๆ มีการปรับค่ารักษาพยาบาลน้อยมากๆ ส่งผลให้รายรับกับรายจ่ายไม่สัมพันธ์กันเลย

      8. ผู้ป่วยมีความต้องการมากกว่าความจำเป็นในการรักษาจริงๆ เช่น ขอยาให้ญาติ ไม่ให้ก็ไม่ได้ ทำยาหาย มารับยาก่อนนัด เพื่อนำไปเก็บไว้ ขอตรวจเลือด เอกซเรย์เพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น

      9. การบริหารของแพทย์ที่อาจไม่มีความสามารถด้านการบริหารการเงิน ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ขาดทุน

      10. ระบบการจัดซื้อ จัดจ้างที่อาจมีช่องโหว่ ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่ควรจะเป็น ถึงแม้จะมีระบบราคากลางก็ตาม

      ดังนั้นปัญหาการขาดทุนเป็นปัญหาที่ผู้บริหาร ระบบการจัดซื้อ จัดจ้าง ผู้ป่วย และบริษัทเอกชนที่ทำธุรกรรมกับโรงพยาบาล ควรรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนนี้ อย่าโทษกันไปมาเลยครับ