แพทย์ลาออก สังเวยระบบสาธารณสุขไทย หรือ เพราะระบบการศึกษาไทย ??

drsomsaktalk-24


      

      การเรียนแพทย์ใช้เวลานาน 6 ปี เรียนด้วยความยากลำบาก เข้าก็ยาก จบก็ยาก แต่พอจบออกมาทำงานได้เพียง 1-2 ปีก็ลาออก สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่ลงทุนไปมากมาย ทั้งผู้เรียน ครอบครัวและรัฐบาล คนไทยทั้งประเทศก็เสียโอกาสในการมีแพทย์มารักษาผู้ป่วยด้วย เหตุที่ทำให้แพทย์ลาออกเพราะอะไร ระบบสาธารณสุขไทยเหรอ ระบบมันแย่ขนาดนั้นเลยเหรอครับ ผมสงสัยครับว่าในอดีตกับปัจจุบัน อัตราส่วนของแพทย์ต่อผู้ป่วยหรือจำนวนประชากรไทยต่างกันอย่างไร ผมเชื่อว่าจำนวนแพทย์มากขึ้นชัดเจน จำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้น แต่อัตราส่วนของผู้ป่วยต่อแพทย์ไม่น่าจะมากขึ้น หรือว่างานนั้นหนักขึ้น หรือเพราะความต้องการของคนไข้มากขึ้น ความต้องการของแพทย์มากขึ้น หรือความอดทน ความทุ่มเท ความเป็นหมอของแพทย์รุ่นใหม่เปลี่ยนไป ผมเองไม่สบายใจเลยที่สื่อ เล่นหัวข่าวว่า แพทย์ลาออก สังเวยระบบสาธารณสุข ผมสงสัยว่าในปัจจุบัน ระบบของประเทศเราแย่ลงจริงหรือเปล่า ผมก็อยู่ในวงการมา 30 ปี ถึงแม้จะทำงานเฉพาะในโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ ผมว่าระบบก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร ลองมามองอีกด้านหนึ่ง คือ ระบบการศึกษาหรือเปล่าที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว ลองดูครับ

      1. หลักสูตรตลอด 6 ปี มีโอกาสได้เรียน ได้ยิน เห็น หรือมีประสบการณ์จริงจากสิ่งที่ต้องพบจริงๆ เมื่อจบมาทำงาน ผมว่าแทบไม่มีโอกาสเลย ไม่เคยได้อยู่เวรที่ต้องรับผิดชอบจริงๆ ไม่เคยเจอปัญหาที่เป็นของจริงๆ เลย ไม่เคยต้องแก้ปัญหาด้านการบริหาร การบริการเลย น่าจะดีถ้าเรามีการจัดการเรียนที่เป็นแบบทดสอบจริงๆ

      2. หลักสูตร 6 ปีนั้น แทบไม่เคยได้เรียนเรื่องการสื่อสาร หรือฝึกทักษะใดๆ ในการพูดคุยกับคนไข้ ญาติ เราเพียงแต่ได้สอบ ซึ่งแตกต่างกันมาก จึงไม่แปลกใจที่จบมาทำงาน ต้องมาพบปัญหา เมื่อเกิดปัญหาสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็บั่นทอนความตั้งใจ ความทุ่มเทลงไป น่าจะดีถ้ามีการฝึกฝนให้แพทย์มีความสามารถด้านการสื่อสารนี้อย่างดี ไม่ใช่แค่สอบการแนะนำผู้ป่วยเท่านั้น

      3. หลักสูตร 6 ปีนั้นเรียนกับอาจารย์แพทย์ แต่ไม่ได้เรียนจากแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัดที่มาสอนเราว่าชีวิตความเป็นหมอจริงๆ เป็นอย่างไร ผมยอมรับว่าผมก็ไม่เคยเป็นหมอที่โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลจังหวัด ดังนั้นผมก็สอนไม่ได้ว่าของจริงเป็นอย่างไร เพียงได้แต่เล่าให้นักศึกษาแพทย์ฟังในสิ่งที่เคยได้ยินมา เวลาออกเยี่ยมเครือข่าย น่าจะดีนะครับถ้าเราได้มีโอกาสเรียนจากหมอที่ทำงานในพื้นที่จริงๆ มาสอนนักศึกษาแพทย์

      4. หลักสูตร 6 ปีนั้นได้สอนให้เราอดทน ทุ่มเท เสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างไร (คุณสมบัติของหมอที่สังคมต้องการและคาดหวังจากหมอทุกคน) เรามี role model ที่ทำจริงให้นักศึกษาแพทย์เรียนรู้ เห็นเป็นแบบอย่างเพียงพอหรือไม่ พอจบมาแล้ว อาจารย์ก็มาบ่น บอกว่าเด็กๆ รุ่นใหม่ ไม่เสียสละ ไม่อดทน ไม่ทุ่มเท เหมือนหมอรุ่นก่อนๆ คำถามของผม คือ แล้วเด็กๆ เรียนจากใครครับ ที่น้องๆ หมอรุ่นใหม่เป็นแบบนี้ เพราะใครครับ ?

      5. หลักสูตร 6 ปีนั้น แทบไม่เคยได้เรียนรู้เกี่ยวกับ งานด้านคุณภาพของโรงพยาบาล การควบคุมการติดเชื้อ ระบบขยะ แต่จบมาทำงาน ต้องทำงานด้านนี้ทั้งสิ้น แล้วแพทย์ก็ทำไม่ได้ เบื่อ เครียด ซึมเศร้า ไม่อยากทำงาน แต่ก็ต้องทน เราจะทำอย่างไรให้มีการเรียนการสอนเรื่องที่จำเป็นเหล่านี้

      6. หลักสูตร 6 ปีไม่เคยเรียนด้านการบริหาร แต่จบมาแล้ว งานนี้หนักมาก ก็น่าเบื่อสุดๆ งานบริหารสำหรับน้องใหม่ น่าคิดครับ

      7. หลักสูตร 6 ปีนั้น มีการฝึกฝนหรือวิชาไหนที่สอนให้หมอมีจริยธรรมทางการแพทย์บ้าง แต่ก่อนยังมีวิชาจริยธรรมทางการแพทย์ แต่ก็เป็นการเล่าเรื่องให้ฟัง ไม่มีรูปแบบการสอนที่น่าสนใจ น่าทำตาม ไม่เคยมีการเชิญตัวอย่างแพทย์ที่เป็นแบบอย่างที่ดี เข้าใจง่าย นักศึกษาแพทย์เข้าใจได้ง่าย และมีการฝึกฝนให้ฝังเข้าไปในสายเลือดของแพทย์ เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ

      8. การคัดเลือกเด็กมัธยมเข้ามาเรียนแพทย์นั้น เราคัดได้แต่เด็กที่มีความเก่งเป็นหลัก ชอบหรือไม่ชอบแพทย์ก็ไม่รู้ ไม่ได้คัดเลือกเด็กที่มีคุณสมบัติของการเป็นหมอเลย อดทน ทุ่มเท เสียสละ ซื่อสัตย์ ทำเพื่อส่วนร่วม บริบาลด้วยใจ เป็นต้น

      9. ตลอด 6 ปีนั้น เราไม่เคยได้ให้นักศึกษาแพทย์เรียนรู้ปัญหาด้านสังคม ด้านครอบครัว ด้านชีวิตจิตใจ ด้านความนึกคิดของผู้ป่วยเลย ถ้ามีก็น้อยมาก หลักสูตรเน้นแต่เนื้อหาวิชาการที่ทันสมัย เพราะอาจารย์แต่ละท่านก็มีความรู้มาก รู้ลึก รู้จริง อาจไม่รู้กว้าง ดังนั้น หมอที่จบมาก็ได้แบบมาจากบล็อคของอาจารย์ที่สอน สถาบันที่เรียน ซึ่งอาจไม่ได้ตอบสนองความต้องการของสังคมเลย

      10. นอกจากนี้ คือ ความคาดหวัง ความต้องการของสังคม ความคาดหวังและความต้องการของหมอ ที่อาจไม่สอดคล้องกัน ตรงนี้หลักสูตรที่แพทย์เรียนอยู่ในปัจจุบัน ก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าควรสอนอย่างไร ควรฝึกฝนอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่ง หมอต้องมาศึกษาเพิ่มเติม เรียนรู้จากของจริงเมื่อมาทำงาน และเมื่อเกิดปัญหา ผิดพลาดก็ไม่มีใครช่วย รุ่นพี่ก็บอกว่าสมัยผมก็เป็นแบบนี้ สรุป คือ ก็ไม่มีการแก้ไขอะไรมากนัก ไม่ว่าหลักสูตรของสถาบันไหนก็ตาม มุ่งแต่ความเป็นเลิศด้านวิชาการ มุ่งเน้นความเป็นนานาชาติ วิจัย (คล้ายๆ กับหลักสูตรต่างประเทศ) และก็ยึดติดตามเกณฑ์มาตรฐานการประเมินของนานาชาติ แต่มีส่วนที่เน้นการรับใช้สังคม การแก้ปัญหาชุมชน การตอบสนองต่อความต้องการที่เหมาะสม การอดทน ทุ่มเท เสียสละไม่มาก เมื่อเป็นแบบนี้ เราก็ได้สร้างหมอที่มีความเก่งด้านวิชาการ การสืบค้นข้อมูล การวิจัยเหมือนหมอในประเทศซีกโลกตะวันตก แต่เราไม่ได้สร้างหมอที่เหมาะกับสังคมไทยอย่างแท้จริง

      ผมมองว่าปัญหาหนึ่งที่เราต้องรีบแก้ไข ก็คือ ระบบการศึกษาของเราที่ไม่ได้พัฒนา หรือออกแบบให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมเลย ผมมองว่าสิ่งที่สำคัญคือ role model ที่เราต้องมีมากๆ เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้เห็นเป็นแบบอย่าง และต้องมีการเรียนรู้จากชีวิตจริง มากกว่าเรียนจากเรื่องเล่า ตัวอย่างที่สมมุติ หรือเหตุการณ์จำลองครับ