ทางรอดโรงพยาบาลรัฐอยู่ในมือของท่าน !!

drsomsaktalk-18


      

      ผมเห็นข่าวแต่ละวันเกี่ยวกับแพทย์ ระบบบริการที่ไม่ดี ล่าช้า รักษาไม่หาย ยาไม่ดี หมอไม่เก่ง โรงพยาบาลไม่สะอาด รอตรวจนาน ไม่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มีแต่ข่าวคนตำหนิการบริการโรงพยาบาลรัฐตลอดเวลา แล้วสังคมได้อะไรมากขึ้นจากการตำหนิบ้างครับ เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่มีใครอยากโดนตำหนิ ทุกคนพยายามทำเต็มที่ เต็มความสามารถ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้มากเลย เพราะโรงพยาบาลของรัฐมีข้อจำกัดมากมาย งบประมาณที่ไม่พอ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงมากขึ้น เจ้าหน้าที่ลาออก ไม่พอต่อการทำงาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ไม่พอต่อความต้องการ แพทย์ก็ไม่พอ พยาบาลก็ไม่พอ ตอนนี้ทุกคนทำงานหนักเกินกว่าชั่วโมงการทำงานของกรรมกรเสียอีก แล้วจะให้มีคุณภาพที่ดีได้อย่างไร ผมอยากให้สังคมร่วมกันมาช่วยเหลือ หรือหาทางออกให้กับพวกเราด้วยครับ เช่น

      1. การดูแลสุขภาพเบื้องต้นให้ดี เจ็บป่วยเล็กน้อยที่พอดูแลตนเองได้ก็ดูแลตนเองครับ

      2. การรักษาเมื่อได้รับยาก็ควรทานให้ครบตามที่แพทย์ เภสัชกรแนะนำ ไม่ใช่เหลือทิ้ง ต้องนำมาแลกไข่เหมือนที่ผ่านมา

      3. เมื่อมารักษาควรรับยาเฉพาะตนเอง ไม่ใช่ขอให้หมอสั่งยากระเพาะอาหาร ยาฆ่าเชื้อ ยาหม่อง ยานวดไปเก็บไว้ หรือขอไปให้ญาติ ให้พระ หมอไม่สั่งให้ก็ไม่พอใจ

      4. การตรวจเพิ่มเติม การเจาะเลือด เอกซเรย์ ควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ใช่ปวดหัวก็อยากตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เอ็มอาร์ไอสมอง ต้องการตรวจให้มากที่สุด เพราะเห็นว่าเป็นสิทธิ์ที่ตนเองต้องได้ฟรี ไม่ต้องกลัวครับถ้าจำเป็นต้องตรวจแพทย์ส่งตรวจแน่นอนครับ เพราะแพทย์ก็อยากส่งตรวจเพื่อให้ความแม่นยำในการวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้อง

      5. การรักษาถ้าอาการไม่รุนแรง หมอโรงพยาบาลใกล้บ้านรักษาได้ก็ควรรักษาใกล้บ้าน ไม่จำเป็นต้องให้หมอส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ หมอไม่ส่งตัวก็ไม่พอใจ ร้องเรียนครับ ความจริงแล้วมากกว่าครึ่งของผู้ป่วยที่มารักษาในโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์สามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

      6. ถ้าพอที่มีทุนทรัพย์ก็ร่วมบริจาคให้โรงพยาบาลด้วยครับ ผมลองคิดดูเล่นๆ นะครับถ้าทุกคนที่มาตรวจร่วมบริจาคคนละ 10 บาท ถ้ามีผู้ป่วย 300 คน ก็ 3000 บาทต่อวัน เดือนละ 66000 บาท (22 วันทำการ) ก็พอจะจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มได้ 2-3 คน เพื่อทำให้ระบบบริการดีขึ้น อำนวยความสะดวกได้มากขึ้น หรือถ้าคนในชุมชนนั้นๆ ร่วมบริจาควันละ 1 บาท ผมว่าปีหนึ่งๆ ได้หลายล้านเลยนะครับ เช่น มีประชากร 30000 คน ๆละ 350 บาทต่อปี ได้เกือบ 10 ล้านบาทต่อปี น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อยเลยครับ สามารถร่วมพัฒนาโรงพยาบาลได้เลย หรือมีการร่วมทอดผ้าป่า ทอดกฐินทำบุญให้โรงพยาบาลในชุมชน เหมือนทำบุญให้วัด ได้บุญเหมือนกันครับ

      7. ถ้าพอมีเวลาก็มาเป็นจิตอาสาในโรงพยาบาลครับ จะได้ช่วยกันดูแลผู้มารับบริการ และเข้าใจการให้บริการของแพทย์ พยาบาล บุคลากรในโรงพยาบาล เข้าใจปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าจะทำให้การบริการและความเข้าใจระหว่างผู้รับบริการกับผู้ให้บริการดีขึ้นแน่นอน

      8. ระดมความคิดช่วยกันแก้ไขปัญหา ร่วมพัฒนาโรงพยาบาล ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งนะครับ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำเพื่อส่วนรวม บางครั้งหมอเอง พยาบาลเอง หรือผู้บริหารก็ต้องการคำแนะนำอย่างรอบด้านจากคนในชุมชนครับ อย่าเพียงแต่ตำหนิอย่างเดียวครับ

      9. ช่วยกัน post เรื่องราวดีๆ ของโรงพยาบาลบ้างครับ เช่นรักษาผู้ป่วยวันนี้กี่คน หายดีหมดเลย หมอคนนี้ดูแลรักษาอย่างดี พยาบาลช่วยอาบน้ำ สระผม ตัดผมให้ผู้ป่วยอย่างดี ไม่ใช่รักษาผู้ป่วยไป 1 หมื่นคน ไม่หายเพียง 1 คน ก็ post ต่อว่ากันใหญ่เลยว่ารักษาไม่ดี แบบนี้ใครจะทนไหวครับ

      10. ควรเข้าใจความเป็นจริงของข้อจำกัดต่างๆ ในการบริการของโรงพยาบาลของรัฐ เจ้าหน้าที่ก็มาทำงานแต่เช้าเพื่อมาเตรียมการบริการให้ผู้ป่วย มาก่อนและกลับหลังจากเวลาราชการ พูดง่ายๆ คือมาก่อน และกลับหลังผู้ป่วย แต่ก็ไม่ได้เบิกค่าทำงานล่วงเวลาครับ กลางวันก็ไม่เคยได้ทานข้าวตรงเวลา หิวน้ำก็ไม่มีเวลาดื่มน้ำ ปวดปัสสาวะเข้าห้องน้ำ ก็ไม่ได้ไป พ่อแม่ป่วยก็ไม่ได้ลาไปดูแล ได้แต่โทรศัพท์สอบถามอาการ เจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ มากกว่าคนทั่วไป หมอก็เกิดอุบัติเหตุ รถชนกันบ่อย เพราะไม่ได้นอนตอนอยู่เวร ง่วงนอนแล้วไปขับรถ นี้คือเรื่องจริงๆ ที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ในองค์กรครับ

      ที่ผมพูดมายาวมากนี้ ก็เพียงอยากบอกว่าเราทุกคนที่ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐนั้น ทำด้วยใจรัก ทำเพราะอยากทำงานให้ราชการ ยอมรับในงานที่หนัก ไม่ได้บ่น ไม่ได้ต้องการให้ใครมาเห็นใจว่าเราทำงานหนัก แต่อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า การทำงานของโรงพยาบาลรัฐนั้นมีข้อจำกัดมากมาย ผมเชื่อมั่นว่าไม่มีใครชาติไหนในโลกนี้ที่จะทำงานหนักเท่ากับบุคลากรในโรงพยาบาลของรัฐเท่ากับประเทศไทย