ช่างตัดเสื้อสูท

drsomsaktalk-16


      

      เรื่องที่ผมจะเล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว สู่ถึงปีปัจจุบัน ซึ่งผมเห็นการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ จนมาเป็นอาจารย์แพทย์ที่ร่วมพัฒนาระบบการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพาต ผมอยากให้เห็นขั้นตอนต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาการรักษาโรคอื่นๆ

      อดีตตั้งแตปี 2527 ที่ผมเข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นยังไม่มีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ การวินิจฉัยโรคอัมพาตส่วนใหญ่แล้วจะใช้การพิจารณาจากประวัติการเจ็บป่วย ได้แก่ โรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง โรคหัวใจ อาการปวดศีรษะ อาเจียน ซึม มีอาการตอนทำกิจกรรม หรือเป็นหลังตื่นนอน ผู้ป่วยเพียงบางส่วนที่ได้รับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ถ้าต้องตรวจก็จะส่งไปตรวจที่ศูนย์ตรวจของเอกชน ค่าตรวจก็แพงมาก คือ 4000 บาท เมื่อ 30 ปีก่อน (เงินเดือนหมอตอนนั้น 4700 บาท) ดังนั้นผู้ป่วยที่ยากจนก็ไม่สามารถตรวจได้ ไม่มีการสังคมสงเคราะห์ หรือบัตรทองใดๆ ในอดีต ถ้าจำเป็นต้องตรวจจริงๆ ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ที่ไม่ตรวจไม่ได้ อาจารย์ที่สอนผมก็จะนำเงินที่มีผู้ป่วยบางรายมอบไว้ให้อาจารย์ที่รักษาเขาหายดี และค่าตอบแทนบางส่วนจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ศูนย์เอกชน มาจ่ายเป็นค่าตรวจให้ผู้ป่วยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เราต้องออกไปดูการตรวจเองที่ศูนย์ ดูภาพจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ของเครื่องตรวจเอง เพราะราคาการตรวจจะถูกลงไปจาก 4000 บาทเหลือประมาณ 2400 บาท เห็นหรือเปล่าว่าในอดีตนั้น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพื่อการวินิจฉัยโรคอัมพาตนั้นมีความลำบากมากแค่ไหน

      ต่อมาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ก็มีเครื่องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ผู้ป่วยก็มีโอกาสในการตรวจมากขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัด เพราะค่าตรวจก็ยังสูงมากๆ ในยุคนั้น คือ 4000 บาท ผู้ป่วยยากจนก็ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจได้เหมือนในปัจจุบัน ถ้าจำเป็นต้องตรวจแพทย์ก็ต้องพิจารณาแล้วพิจารณาอีกอย่างถี่ถ้วน เรียกว่าถ้าไม่ตรวจไม่ได้จริงๆ จึงจะส่งตรวจ ถ้าผู้ป่วยไม่มีเงินจ่ายค่าตรวจดังกล่าวจริงๆ ก็ผ่านการสังคมสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย การรักษาโรคอัมพาตในยุคนั้น ไม่มีการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือวิธีอื่นๆ มากมาย เหมือนในปัจจุบัน ส่งผลให้การรักษานั้นไม่ได้ผลดีมากนัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะมีความพิการหลงเหลือเป็นจำนวนมาก การวินิจฉัยก็ไม่ได้แม่นยำเหมือนในปัจจุบัน เพราะไม่ได้ส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองทุกรายเหมือนในปัจจุบัน

      ยุดต่อมาคือประมาณ 10 ปีย้อนหลังไป เริ่มมีการนำวิธีการรักษาที่ทันสมัยมาใช้ในประเทศของเรา คือ การรักษาด้วยระบบ stroke fast track ทางด่วนโรคอัมพาต ซึ่งในช่วง 5 ปีแรกการรักษามีเฉพาะในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ในส่วนกลาง คือ กรุงเทพและจังหวัดใหญ่ๆ ใกล้เคียงเท่านั้น ผู้ป่วยอัมพาตทั่วประเทศไทยในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานนานาชาติเพียงร้อยละ 0.01 หรือผู้ป่วยอัมพาต 1 หมื่นคนได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานเพียง 1 คนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพจึงได้เริ่มโครงการ ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง โดยครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาททั่วประเทศไทยตามเขตพื้นที่บริการสุขภาพ ก็ส่งผลให้มีผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการที่ได้มาตรฐานมากขึ้น จากร้อยละ 0.01 เป็นร้อยละ 1 ได้อย่างรวดเร็ว แต่นั้นก็ไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยที่มีอยู่ทุกพื้นที่ในประเทศไทย ถ้าผมเปรียบเทียบก็เหมือนคนส่วนใหญ่ยังไม่มีเสื้อสูทใส่ (การรักษาที่เป็นมาตรฐาน) มีช่างตัดเสื้อสูท (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท) เฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้น การสร้างช่างตัดเสื้อสูทให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเพียงพอหรือครบทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยคงยากมากๆ ใช้เวลา และงบประมาณอีกมาก หรือไม่สามารถทำได้ด้วยซ้ำ ดังนั้นกลุ่มช่างตัดเสื้อสูทที่อยู่ตามเมืองใหญ่ต่างๆ จึงได้คิดวิธีที่จะสามารถเพิ่มช่างตัดเสื้อสูทให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว โดยการสร้างเครือข่ายช่างตัดเสื้อสูทและพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพ ความสามารถของช่างตัดเสื้อสูทที่มีอยู่ในทุกๆ พื้นที่ให้ได้มาตรฐาน

      การสร้างเครือข่ายช่างตัดเสื้อสูทมือใหม่นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะเรากำลังฝึกให้ช่างตัดเสื้อทั่วๆ ไป (อายุรแพทย์ทั่วไป) ให้สามารถตัดเสื้อสูท (การรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด) ได้สวยงาม เพื่อให้คนไทยที่จำเป็นต้องใส่เสื้อสูท ให้มีเสื้อสูทใส่ได้สวยงามและทันเวลา ทางกลุ่มช่างตัดเสื้อสูทที่มีประสบการณ์ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ร่วมกันพัฒนาทีมช่างตัดเสื้อทั่วไปให้สามารถตัดเสื้อสูทได้ รวมทั้งเพิ่มเนื้อหาและประสบการณ์ของช่างตัดเสื้อทั่วไปให้มีความรู้พื้นฐานในการตัดเสื้อสูทบ้างในระหว่างการฝึกอบรมตัดเสื้อทั่วไป ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น เราสามารถทำให้ช่างตัดเสื้อทั่วไปสามารถตัดเสื้อสูทได้สวยงามพอสมควร และเสร็จทันเวลากระจายไปทุกพื้นที่ ให้บริการลูกค้าที่จำเป็นต้องใส่เสื้อสูท ไม่ต้องมารอคิวช่างตัดเสื้อสูทตัวจริงในโรงพยาบาลขนาดใหญ่

      การพัฒนาความสามารถของช่างตัดเสื้อทั่วไปให้สามารถตัดเสื้อสูทได้นั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่อยู่ที่วิธีแก้ปัญหาว่าเราต้องการช่างตัดเสื้อสูทที่เรียนมาโดยตรงสำหรับการเป็นช่างตัดเสื้อสูทโดยเฉพาะ หรือเราจะนำช่างตัดเสื้อที่มีความสามารถพื้นฐานในการตัดเสื้ออยู่แล้วมาเพิ่มศักยภาพให้สามารถตัดเสื้อสูทได้ ซึ่งเราก็พิสูจน์ให้คนไทยทั้งประเทศเห็นแล้วว่า ผู้ป่วยโรคอัมพาตมากกว่าร้อยละ 90 ได้รับการรักษาที่เป็นไปตามมาตรฐานนานาชาติ ได้รับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ร้อยละ 5.5 ของผู้ป่วยโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดได้รับการรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดเข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งสูงเพิ่มขึ้นถึง 550 เท่า (ร้อยละ 0.01 เป็นร้อยละ 5.5) ซึ่งความสำเร็จนี้ผมว่ามีปัจจัยสำคัญจากการเปลี่ยนวิธีคิดและความร่วมมือของทุกคนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งลูกค้าก็ไว้ใจช่างตัดเสื้อด้วย