ความคุ้มค่า vs ความเป็นจริงของการตรวจรักษา

drsomsaktalk-10


      

      เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติแล้วมาพบแพทย์ เพื่อให้การรักษานั้น ส่วนหนึ่งแพทย์สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาได้เลยโดยไม่ต้องส่งตรวจเพิ่มเติม แต่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องอาศัยการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้การวินิจฉัยที่แน่นอน และจะได้ให้การรักษาที่ตรงกับโรคและเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาต่อไป เช่น ผู้ป่วยมีอาการแขนขาอ่อนแรงขึ้นมาทันที แพทย์คิดถึงว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (acute stroke) แพทย์ก็จะต้องรีบส่งตรวจ CT scan สมองเพื่อให้การวินิจฉัยโรคที่แน่นอน และต้องรีบทำให้เร็วที่สุด เพราะการรักษาจะได้ผลดีหรือไม่ขึ้นกับระยะเวลาที่มีอาการและเริ่มรักษาเร็วแค่ไหน ดังนั้นในอำเภอที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนมากพอและมีแพทย์ที่มีความสามารถในการรักษาโรคปฏิบัติงานอยู่ ก็จำเป็นต้องมีเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว ไม่ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจังหวัดหรือข้ามไปจังหวัดอื่นๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ถึงแม้การลงทุนมีเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองนั้นจะไม่คุ้มค่าในด้านการลงทุนและคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์การแพทย์ (health economic) แต่การรักษาผู้ป่วยให้หายดี กลับไปทำงานได้ ดูแลครอบครัวได้ ผมเห็นว่าก็มีความคุ้มค่า ดังนั้นการมองในด้านความคุ้มค่า หรือคุ้มทุนนั้นอาจไม่สามารถมองได้เพียงด้านเดียวว่าการลงทุนนั้นคุ้มค่าหรือไม่ แต่อาจต้องมองให้กว้าง มองให้ครอบคลุมทุกมิติ ผมมีความเห็นว่าการที่แพทย์ต้องมีการส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องมือที่มีราคาแพง ดังนี้

      1. มีความจำเป็นจริงๆ ไม่ส่งตรวจก็ไม่มีทางวินิจฉัยโรคนั้นๆ ได้

      2. เพื่อให้การรักษาที่เฉพาะเจาะจงลงไปในชนิดของโรคนั้นๆ โดยเฉพาะ จะได้ผลดีและมีผลแทรกซ้อนน้อยกว่าการรักษาแบบไม่รู้ในรายละเอียดของโรคนั้น

      3. เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคที่มีความคล้ายคลึงกันมากๆ และเมื่อวินิจฉัยได้แล้วจะส่งผลต่อการรักษาที่มีการพยากรณ์โรคแตกต่างกัน

      4. เพื่อการเรียนการสอนของแพทย์และทีมสุขภาพในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ หรือมีการเรียนการสอนแพทย์และทีมสุขภาพ

      5. เพื่อการวิจัยเป็นกรณีพิเศษ

      6. ผู้ป่วยหรือญาติร้องขอให้ตรวจ

      7. เพื่อป้องกันการฟ้องร้องในบางกรณี เนื่องจากการวินิจฉัยโรคและการรักษาโรคนั้นอาจมีผลข้างเคียงได้มาก หรือเป็นการยืนยันว่าเป็นโรคนั้นแน่ๆ

      ดังนั้นความคุมค่า การมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กับความเป็นจริงในปัจจุบันอาจมีมุมมองหรือมิติที่มองแตกต่างกัน ทางออกของเรื่องนี้ คือ การสร้างความเข้าใจให้สังคมมีความเข้าใจในประเด็นต่างๆมากขึ้น มากกว่าการกล่าวหาโจมตีแพทย์ที่ส่งตรวจเพิ่มเติมราคาแพงเหล่านั้น