ยาแก้สิว ไอโซเทรติโนอิน (ตอนที่ 2)

Isotretinoin-2

      

      ศ.นพ.ประวิตร กล่าวในตอนท้ายว่า ตามปกติตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ขายยาชนิดนี้อยู่แล้ว แต่ก็ยังพบว่ามีการขายแบบผิดกฎหมายอยู่ โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก ไม่ควรสั่งซื้อยาเพื่อมารับประทานเอง โดยหลงเชื่อจากคำโฆษณาหรือการบอกต่อถึงสรรพคุณของยา เพราะนอกจากผลข้างเคียงของยาแล้ว เราอาจไม่รู้เลยว่ายาที่กำลังรับประทานอยู่นั้นเป็นยาปลอมหรือไม่

      ไอโซเทรติโนอิน (Isotretinoin) เป็นยารักษาสิวหัวช้างหรือสิวขนาดใหญ่ (Cystic acne / Nodular acne) ชนิดรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาอื่น เป็นยารักษาสิวประเภทกรดวิตามินเอหรือที่เรียกว่า Retinoids ช่วยลดการผลิตไขมันบนหน้า (Sebum) ที่เป็นสาเหตุให้เกิดสิว ซึ่งหากไม่รักษาจะทำให้เป็นรอยแผลเป็นได้

      ไอโซเทรติโนอินเป็นยาในรูปแคปซูล ควรกินยาทั้งเม็ดพร้อมอาหาร 2 ครั้งต่อวัน เพื่อให้ยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เป็นเวลานาน 15-20 สัปดาห์ หรือกินยาตามคำสั่งแพทย์ และไม่ควรล้มตัวลงนอนใน 10 นาทีหลังการกินยา ทั้งนี้ ปริมาณยาที่กินจะขึ้นอยู่กับสภาพสิว และน้ำหนักตัวด้วย

      โดยในช่วง 2-3 วันแรกที่กินยา สิวอาจจะแย่ลง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 1-2 เดือน ก่อนที่จะเห็นผลของยา แต่ถ้ากลับมาเป็นสิวรุนแรงอีก การกินยาควรเริ่มหลังการหยุดยาคอร์สแรกแล้ว 2 เดือน และห้ามกินยาเกินปริมาณที่แนะนำ

      ไอโซเทรติโนอินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา (Side Effects) ดังนี้

  • ริมฝีปากแห้ง แตก แดง และเจ็บ
  • ผิวหนัง ตา ปาก จมูก แห้ง
  • เลือดกำเดาไหล
  • สีผิวเปลี่ยนไป
  • ผิวหนังลอกที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า
  • สีเล็บเปลี่ยนไป
  • แผลหายยาก
  • เหงือกบวมหรือมีเลือดออก
  • ผมร่วง
  • เหงื่อออก (Sweating)
  • หน้าแดง (Flushing)
  • เสียงเปลี่ยน
  • เหนื่อย
  • มีอาการคล้ายเป็นหวัด

      กรณีที่มีผลข้างเคียงที่รุนแรงให้หยุดยาและรีบไปพบแพทย์

  • ปวดศีรษะ
  • มองเห็นไม่ชัด
  • มีนเวียนศีรษะ (Dizziness)
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • สั่น

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือนภัยยารักษาสิวเสี่ยงทำให้เด็กพิการ. http://www.thaihealth.or.th/Content/41050-เตือนภัยยารักษาสิวเสี่ยงทำให้เด็กพิการ [2018, March 27].
  2. Isotretinoin Capsule. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-6662/isotretinoin-oral/details [2018, March 27].
  3. Isotretinoin.https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a681043.html [2018, March 27].