ใช้ “อีซิกส์” ติดคุกไม่รู้ด้วย (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

ElectronicCigarettes-4


อาการของผู้ที่ติดนิโคตินอย่างหนักซึ่งควรเข้ารับการรักษาเพื่อเลิกสูบบุหรี่ ได้แก่

  • ผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่า 1 ซองต่อวัน
  • ผู้ที่ต้องสูบบุหรี่ภายใน 5 นาทีหลังตื่นนอน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่แม้ยามเจ็บป่วย
  • ผู้ที่ตื่นกลางดึกเพื่อสูบบุหรี่
  • ผู้ที่สูบบุหรี่เพื่อถอนอาการอยาก

การเลิกบุหรี่ อาจทำให้เกิดอาการถอนยานิโคติน (Nicotine withdrawal) เช่น อยากสูบ ซึมเศร้าหดหู่ นอนไม่หลับ หงุดหงิด กระวนกระวาย และกินจุมากขึ้น

แม้การเลิกบุหรี่จะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยร้อยละ 70 ของผู้สูบบุหรี่สามารถเลิกสูบได้ โดยบางคนสามารถเลิกได้เอง ในขณะที่บางคนก็อาศัยตัวช่วยที่ใช้ในการเลิกบุหรี่ที่เรียกว่า การให้นิโคตินทดแทน ( Nicotine Replacement Therapy = NRT ) ร่วมด้วย ทั้งนี้ FDA ได้อนุมัติตัวช่วย NRT ในรูปแบบดังต่อไปนี้

  • แผ่นแปะ (Patch)
  • หมากฝรั่ง (Gum)
  • สเปรย์พ่นจมูก (Nasal spray)
  • ยาสูดพ่น (Inhalers)
  • ยาอม (Lozenges)

การใช้ NRT ในแต่ละรูปแบบอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง (Side effect) ที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนและปฏิบัติตามวิธีการใช้ที่แนะนำ เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับนิโคตินเกินขนาดซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะการใช้ NRT ในหญิงมีครรภ์ ในเด็กวัยรุ่น และผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคกระเพาะ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ด้วย

นอกจากนี้ ผู้ที่ยังคงสูบยาสูบด้วยวิธีการอื่นอยู่ก็ไม่ควรใช้ NRT ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่น้อยกว่า 10 มวนต่อวัน (Light smoker) ก็ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าควรใช้ NRT ช่วยหรือไม่

สำหรับการปฏิบัติตนที่ดีเพื่อเลิกบุหรี่นั้น ควรปฏิบัติดังนี้

  • ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น ลดการสูบให้น้อยลงในแต่ละวันจนเลิกสูบไปเอง
  • อย่าปล่อยให้ตัวเองว่าง เช่น ออกกำลังกาย หรือทำอย่างอื่นที่เกี่ยวกับการใช้มือ เช่น งานศิลปะ เล่นดนตรี และอยู่ห่างจากสิ่งยั่วยุที่ทำให้อยากสูบบุหรี่ เช่น งานปาร์ตี้
  • ชะลอความอยากบุหรี่ (Craving) ออกไป เช่น ในภาวะที่อยากบุหรี่จะเป็นการง่ายกว่า เมื่อบอกตัวเองว่า “รอก่อน” แทนที่จะบอกว่า “ไม่” และให้หันไปทำอย่างอื่นเพื่อลืมความอยาก

พึงระลึกไว้ว่า นิโคตินเป็นสารเสพติด และเป็นการไม่ง่ายที่จะเลิกเมื่อเริ่มสูบไปแล้ว ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือ อย่าลองสูบแต่แรกเลยจะดีกว่า

แหล่งข้อมูล:

  1. Nicotine Replacement Therapy for Quitting Tobacco. https://www.cancer.org/healthy/stay-away-from-tobacco/guide-quitting-smoking/nicotine-replacement-therapy.html [2017, December 22].
  2. Want to Quit Smoking? FDA-Approved Products Can Help. https://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm198176.htm [2017, December 22].
  3. E-Cigarettes. http://kidshealth.org/en/teens/e-cigarettes.html [2017, December 22].