Bionic Kidney (ตอนที่ 1)

BionicKidney-1

      

      นายแพทย์ วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เปิดเผยจำนวนการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคไตว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอาการไตวายวันละหลายหมื่นคน ตัวเลขผู้รอรับไตในปัจจุบันมาจากผู้ป่วยสะสมที่เป็นโรคไตและโรคอื่นๆ ที่ส่งผลเสียต่อไต เช่น โรคเบาหวาน ความดัน รวมไปถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และยา รวมถึงสาเหตุทางกรรมพันธุ์

      จากรายงานประจำปีของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2560 เปรียบเทียบจำนวนผู้รออวัยวะและผู้บริจาคอวัยวะ สถิติตัวเลขแสดงให้เห็นว่าในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2558 - 2560) จำนวนผู้รอรับบริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้นจาก 5,018 ราย เป็น 5,581 และ 5,721 ราย ตามลำดับ ซึ่งมากเกินกว่ายอดผู้บริจาคอวัยวะที่เฉลี่ยจำนวนเพียงร้อยละ 4 ของผู้รอรับบริจาคอวัยวะเท่านั้น

      โดยในปี พ.ศ.2560 มีผู้รอรับบริจาคอวัยวะจากศูนย์ฯ จำนวน 5,721 ราย ปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนเข้าคิวรออวัยวะเฉพาะ "ไต" สูงที่สุดมากถึง 5,434 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 95.26 ขณะที่ความต้องการอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับจำนวน 224 ราย หัวใจ 21 ราย หัวใจและปอด 24 ราย ตับและไต 3 ราย ตับอ่อนและไต 12 ราย รวมถึงผู้รอรับบริจาคทั้งปอด ตับอ่อน หัวใจ+ไต รายการละ 1 ราย

      จากสถิติรอรับบริจาคไตที่สูงสุดถึงร้อยละ 95.26 ของผู้รอคิวบริจาคจากศูนย์ฯ จึงสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตปัญหาคนไทยเป็นโรคไตอย่างเห็นได้ชัด

      นายแพทย์ วิศิษฏ์ ชี้ว่าผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคไต มักจะมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารรสจัด หนักเค็ม อาหารกรอบเกรียม ผู้ที่รับประทานยาบ่อยเกินความจำเป็น หรือไม่ทำตามคำแนะนำแพทย์

      นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยงโรคไตยังพบมากในเกษตรกรที่ใช้ยาฆ่าแมลง และผู้กินอาหารที่ปนเปื้อนสารบอแรกซ์ (Borex) เช่น ลูกชิ้น ทอดมัน ไส้กรอก ผลไม้ดอง

      ทั้งนี้ นายแพทย์ วิศิษฏ์ เปรียบเทียบให้เห็นว่า นับตั้งแต่ตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะมา จำนวนผู้ขอรับบริจาคเพิ่มขึ้นมาก หากหลับตานึกเป็นภาพกราฟ คงสูงเป็นแนว 45 องศาได้

      นอกจากนี้ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาติไทยยังกล่าวอีกว่า หนึ่งร่างของผู้บริจาคสามารถต่อชีวิตผู้ป่วยได้อีก 5-6 ราย ดังนั้นการบริจาคอวัยวะ หรือการบริจาคร่างกายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากแต่ได้บุญด้วยซ้ำ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปริมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า "พระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นเครื่องขัดขวางการบริจาคอวัยวะ แต่ไสยศาสตร์กลับเป็นอุปสรรคมากกว่า ฉะนั้นต้องให้ความรู้กับประชาชน”

      อนึ่ง ผู้ที่มีความประสงค์บริจาคอวัยวะมีข้อกำหนด ในการบริจาค คือ

      1. ผู้บริจาคต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี

      2. เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย

      3. ไม่มีโรคติดเชื้อและโรคมะเร็ง

      4. ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ และไม่ติดสุรา

      5. อวัยวะต้องทำงานได้ดี

      6. ไม่มีเชื้อที่ถ่ายทอดไปสู่ผู้ป่วย เช่น ไวรัสตับอักเสบบี

      และที่สำคัญควรแจ้งให้ญาติทราบถึงเจตนารมณ์ในการบริจาคและเซ็นต์เอกสารรับรู้ เพื่อความสร้างเข้าใจของกันและกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยเผยสถิติคนรอไตสูงสุด 95.26%แต่บริจาคแค่ 4% แพทย์ห่วงวิกฤตคนป่วยโรคไตเพิ่ม. http://www.thaitribune.org/contents/detail/307?content_id=30378&rand=1511596911 [2018, April 21].