AFM ในลูกน้อย (ตอนที่ 1)

AFMในลูกน้อย-1

      

      ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานสาธารณสุขรัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ได้พบเด็กจำนวน 6 คนที่ป่วยเป็นโรคไขสันหลังอับเสบอ่อนแรงเฉียบพลัน (Accute flaccid myelitis) โดยเด็กทั้งหมดมีอายุน้อยกว่า 10 ปี

      ขณะที่กรมควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า โรคไขสันหลังอับเสบอ่อนแรงเฉียบพลันเป็นโรคที่พบตั้งแต่ปี 2557-2561 โดยมีผู้ป่วยโรคนี้รวมแล้ว 362 ราย ซึ่งในปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 38 ราย ในจำนวน 16 รัฐ

      จนถึงปัจจุบันยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค แต่สงสัยว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Enterovirus D 68 (EVD68) และยังไม่มีวิธีรักษาที่ชัดเจน มีเพียงแค่การรักษาแบบประคับประคองตามอาการของผู้ป่วย (Supportive treatment)

      โดยอาการของโรคนี้จะคล้ายกับโรคโปลิโอหรือโรคเวสต์ไนล์ ซึ่งมีผลกระทบต่อไขสันหลังและการทำงานของกล้ามเนื้อ อาการป่วยจะรวมไปถึงอาการอ่อนแรง กล้ามเนื้อสูญเสียความตึงตัว ใบหน้าเบี้ยว กลืนลำบาก พูดไม่ชัด เป็นเหน็บชา และในหลายกรณีจะเป็นอัมพาต ซึ่งอาจเสียชีวิตได้หากมีผลต่อกล้ามเนื้อที่ควบคุมการหายใจจนทำให้เกิดภาวะการหายใจล้มเหลว หรือทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง

      โรคไขสันหลังอับเสบอ่อนแรงเฉียบพลัน (Accute flaccid myelitis = AFM) เป็นโรคที่พบยาก มีผลต่อระบบประสาทโดยเฉพาะไขสันหลัง (Spinal cord) ส่วนที่มีสีเทาหรือสีค่อนข้างเข้มที่เรียกว่า Gray matter ซี่งเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อและปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายหรือที่เรียกว่า รีเฟล็กซ์ (Reflexes) อ่อนแรง

      โดยกรมควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ได้ประเมินว่า ในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้น้อยกว่า 1 ในล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก และมีสาเหตุได้จากหลายปัจจัยอย่าง

• เชื้อไวรัส เช่น

      o Poliovirus และ Non-polio enteroviruses ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปากในเด็ก โรคตาแดง และเชื้อไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Viral meningitis)

      o West Nile virus (WNV) และไวรัสที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน อย่าง Japanese encephalitis virus และ Saint Louis encephalitis virus

      o Adenoviruses

• พิษจากสิ่งแวดล้อม (Environmental toxins)

• โรคทางพันธุกรรม (Genetic disorders)

      เนื่องจากมีการเกิดการแพร่ระบาดของโรค AFM ในปี พ.ศ.2557 ช่วงเดียวกับที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจในเด็กที่เกิดจากเชื้อ Enterovirus D68 (EV-D68) ทำให้แพทย์คิดว่า 2 อย่างนี้มีความสัมพันธ์กัน อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวถึงความไม่แน่ชัดว่า เชื้อ EV-D68 จะเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค AFM หรือไม่

      

แหล่งข้อมูล:

  1. 3 More Kids Have Developed a Rare, Polio-Like Illness—and Health Officials Don't Know Why. http://time.com/5418400/acute-flaccid-myelitis-minnesota/ [2018, October 23].
  2. A toddler couldn’t move his arm. Doctors discovered a polio-like condition. https://www.washingtonpost.com/health/2018/10/08/her-child-battled-rare-polio-like-disorder-now-she-wants-others-know-theyre-not-alone/ [2018, October 23].
  3. About Acute Flaccid Myelitis. https://www.cdc.gov/acute-flaccid-myelitis/about-afm.html [2018, October 23].
  4. Acute Flaccid Myelitis Cases Rising in Kids: FAQ. https://www.webmd.com/children/news/20161010/faq-acute-flaccid-myelitis#1 [2018, October 23].