6 โรคอันตราย เมื่ออย่างกรายเข้าหน้าหนาว

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า คร.ห่วงใยสุขภาพของประชาชนช่วงหน้าหนาวที่อาจส่งผลให้เกิดโรคภัยต่างๆ แทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ต้องระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรคซึ่งมักพบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว 6 โรค ตามประกาศ คร. ได้แก่ โรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคอีสุกอีใส และโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก รวมถึงโรคที่เกิดจากสภาพอากาศที่แห้ง เช่น โรคผิวหนัง และการเสียชีวิตของผู้สูงอายุด้วยภัยหนาว เป็นต้น

โรคปอดบวม (Pneumonia) เป็นภาวะการอักเสบของปอด โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อถุงลม ทำให้มีไข้ เจ็บ หน้าอก หายใจลำบาก และขาดพื้นที่แลกเปลี่ยนก๊าซ ซึ่งเห็นได้จากการฟิล์มเอ็กซเรย์ปอด ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ อาทิ การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือพยาธิ แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ อาทิ ได้รับสารเคมีหรือการกระทบกระเทือนทางกายภาพ

อาการโดยทั่วไปได้แก่ ไอ เจ็บหน้าอก มีไข้สูง และหายใจลำบาก เครื่องมือการวินิจฉัย ได้แก่การถ่ายภาพเอ็กซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ มีวัคซีนป้องกันปอดบวมบางชนิด ส่วนการบำบัดรักษาจะขึ้นกับสาเหตุของโรค อาทิ โรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียจะบำบัดด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)

โรคปอดบวมได้รับการบันทึก มาตั้งแต่ช่วงหลายร้อยปีก่อนคริสตกาล ซึ่ง Hippocrates ระบุว่าปอดบวมเป็นโรคที่ "รู้จักมาแต่โบราณ" และยังบรรยายวิธีการระบายหนองออกจากทรวงอกเอาไว้ด้วย ต่อมา Maimonides (พ.ศ. 1677 – พ.ศ. 1747) ได้บรรยาย "อาการพื้นฐานของผู้ป่วยโรคปอดบวมซึ่งต้องมีเสมอ คือ มีไข้ เจ็บสีข้าง หายใจสั้นเร็ว ชีพจรถี่ และไอ” ซึ่งคล้ายคลึงกับที่เขียนไว้ในตำราแพทย์สมัยใหม่ และสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาของวิชาแพทย์จากสมัยกลางจนถึงศตวรรษที่ 19

การศึกษาวิจัยในช่วงแรกของ Carl Friedländerl ในปี พ.ศ. 2425 เป็นรากฐานของการนำสีย้อมกรัม (Gram stain) มาใช้ในการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย โดยสามารถแยกออกได้เป็น 2 กลุ่ม แสดงให้เห็นว่าปอดบวมอาจมีเชื้อก่อโรคมากกว่าหนึ่งชนิด วิธีการย้อมสีเช่นนี้ เป็นวิธีตรวจที่ยังมีการใช้แพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

ในศตวรรษที่ 19 ปอดบวมเป็นโรคที่ร้ายแรงมากจนเป็น “สาเหตุหลักของการตายในมนุษย์” แต่หลังจากที่มีการคิดค้นพบยาปฏิชีวนะ เพนิซิลลิน (Penicillin) และยาปฏิชีวนะอื่นๆ วัคซีน เทคนิกการผ่าตัดสมัยใหม่ และการพัฒนาเวชบำบัดวิกฤตในศตวรรษที่ 20 อัตราการตายของโรคปอดบวมในประเทศพัฒนาแล้วที่เคยสูงถึง 30% ได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ อย่างไรก็ตาม ในโลกที่ 3 [ประเทศด้อยพัฒนา] ปอดบวมยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยอายุน้อย และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งมีอัตราการตายเป็น 5 เท่าของผู้ที่อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน

ในภาพรวม ปอดบวมเป็นโรคที่พบได้บ่อย และเกิดขึ้นในทุกภาคของโลกโดยมีผลกระทบต่อประชากรทั่วโลกปีละ 450 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย 200 ล้านราย โรคปอดบวมเป็นสาเหตุการตายในทุกกลุ่มอายุ จำนวนปีละ 4 ล้านราย คิดเป็น 7% ของการตายทั่วโลก อัตราการตายจะสูงมากที่สุดในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุสูงว่า 75 ปี

แหล่งข้อมูล:

  1. 6 โรคอันตรายในฤดูหนาว http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1322800633&grpid=&catid=09&subcatid=0902 [2011, December 6].
  2. Pneumonia. http://en.wikipedia.org/wiki/Pneumonia [2011, December 6].