10 ความเข้าใจผิดกับโรคความดันโลหิตสูง มหันตภัยเงียบที่สุดอันตราย

10 ความเข้าใจผิดกับโรคความดันโลหิตสูง

ทำไมผมจึงเรียกโรคความดันโลหิตสูงว่ามหันตภัยเงียบ ก็เพราะว่าโรคความดันโลหิตสูงนั้นส่วนใหญ่ผู้ป่วยแทบจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆเลย เรียกว่าถ้าไม่ได้วัดความดันโลหิตก็ไม่รู้เลยว่ามีโรคความดันโลหิตสูง และโรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองทั้งชนิดหลอดเลือดแตกและตีบ ตัน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจวาย โรคไตวาย ด้วยเหตุนี้ครับ ผู้ป่วยโรคอัมพาตและโรคอื่นๆ ส่วนใหญ่ ถึงไม่ทราบเลยว่าตนเองมีโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงก็ไม่ได้รักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะพอทานยาลดความดันโลหิตสูงแล้วรู้สึกว่าตนเองสบายดี ก็เลยหยุดยา ต้องมาติดตามดูครับว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่เราทุกคนต้องทราบและทำคววามเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง ดังนี้

  1. “ถ้าไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็แสดงว่าตนเองปกติไม่มีโรคความดันโลหิตสูง” ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนี้พบได้บ่อยมากที่สุด ความจริงก็คือว่าถ้าไม่ตรวจวัดความดันโลหิตจะไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะความดันโลหิตสูงได้เลย ดังนั้นถ้าทุกคนได้มีโอกาสพบการบริการตรวจวัดความดันโลหิตในสถานที่ต่างๆ อยากเชิญชวนให้รีบเข้ารับการตรวจวัดความดันโลหิต และถ้ามีโอกาสได้มายังสถานบริการสุขภาพ ก็อยากให้ตรวจวัดความดันโลหิตว่าสูงหรือไม่ การตรวจวัดความดันโลหิตนั้นควรตรวจวัดหลังจากหยุดพัก15-20 นาที ไม่ควรรีบวัดความดันโลหิตทันทีเมื่อเดินทางถึงที่วัดความดันโลหิต หรือวัดความดันโลหิตภายหลังการออกกำลังกายอย่างหนัก หรืออยู่ในภาวะที่มีความเครียด การที่แพทย์จะวินิจฉัยใครว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องวัดความดันหลายครั้ง หลายเวลา ไม่ใช่การวัดความดันโลหิตเพียงครั้งเดียวแล้วพบว่ามีความดันโลหิตสูงก็บอกว่าเป็นความดันโลหิตสูงทันที โปรดจำไว้ว่าการวัดความดันโลหิตปีละ 1-2 ครั้ง เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นมา
  2. “อาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ คือ อาการของโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นถ้าไม่ปวดศีรษะ ไม่วิงเวียนศีรษะก็คือความดันโลหิตปกติ” ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องแบบนี้พบบ่อยมากๆ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มไปพบแพทย์ด้วยอาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ เมื่อตรวจพบความดันโลหิตสูงก็จะได้รับยาลดความดันโลหิต พอทานยาแล้วก็สบายดีไม่ปวดหัว ไม่เวียนศีรษะ จึงหยุดยาไปเอง เพราะเข้าใจว่าความดันโลหิตสูงหายดีแล้ว ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมีความสม่ำเสมอในการทานยาไม่ดี เนื่องจากเข้าใจว่าหายดีแล้ว ซึ่งจริงแล้วอาการดังกล่าวอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตสูงเลย
  3. “ปรับเปลี่ยนขนาดยาลดความดันโลหิตเองตามค่าความดันโลหิตที่วัดได้” คล้ายกับการปรับขนาดยาฉีดอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะตอนนี้คนไข้ส่วนหนึ่งจะซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตแบบพกพาไว้ที่บ้าน และนิยมวัดความดันโลหิต 3 เวลาหลังอาหาร เมื่อตรวจวัดพบว่าความดันโลหิตปกติก็ไม่ทานยา พอวัดความดันโลหิตได้สูงก็ทานยา การทำแบบนี้ก็ทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะการทานยาลดความดันโลหิตที่ไม่สม่ำเสมอ ก็จะทำให้ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ และอาจเกิดผลเสียจากการทานยาลดความดันโลหิตเกินขนาดได้ ถ้าตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงขึ้นเป็นครั้งคราว
  4. ”การทานยาลดความดันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดผลเสียกับตับ ไต” ซึ่งความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้องแน่นอน การไม่ทานยาให้สม่ำเสมอต่างหากที่ทำให้เกิดผลเสียต่อหลอดเลือดของไต หัวใจ สมอง ยาลดความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่แล้วปลอดภัยต่อตับต่อไตมาก การเลือกใช้ยาลดความดันโลหิตสูงชนิดใด แพทย์จะพิจารณาจากโรคประจำตัว กลุ่มอายุ ยาที่ทานเป็นประจำ และความเหมาะสมอื่นๆ อีก
  5. ”ขนาดยาลดความดันโลหิตสูงที่มีค่าขนาดมิลลิกรัมสูงจะมีฤทธิ์แรงมากกว่าค่าขนาดมิลลิกรัมต่ำกว่า” ซึ่งก็จริงถ้าเป็นยายี่ห้อเดียวกัน แต่ถ้าต่างยี่ห้อนั้นไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบความแรงของยาได้ ดังนั้นผู้ป่วยไม่ต้องกังลว่าทำไมทานยาลดความดันโลหิตขนาดสูงมากกว่าคนอื่นๆ แสดงว่าเรามีโรคความดันโลหิตสูงที่อันตรายมาก ทั้งๆ ที่เปรียบเทียบกันไม่ได้เลยถ้าต่างชนิดกัน ดังนั้นท่านที่ทานยาขนาดมิลลิกรัมสูงกว่าคนอื่นๆ ก็ไม่ต้องกังวลใจครับ
  6. ”การทานยาลดความดันโลหิตสูงเป็นการรักษาที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องควบคุมพฤติกรรม ไม่คุมอาหาร ไม่ออกกำลังกาย” เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง การรักษาความดันโลหิตสูงที่ดีนั้นต้องประกอบด้วยการปรับพฤติกรรมที่ดี ทานอาหารที่ไม่เค็ม รสจืด ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ทานผักมากขึ้น ไม่นอนดึก ออกกำลังกาย ไม่เครียด ลดอาหารที่มีไขมันสูง เป็นต้น
  7. “ต้องทานลดความดันโลหิตสูงที่ราคาแพงๆ จะดีกว่ายาลดความดันโลหิตที่ราคาถูกกว่า เพราะผู้ป่วยเห็นว่ายาลดความดันโลหิตสูงนั้นมีหลากหลายยี่ห้อ ราคาแตกต่างกันเป็นหลายๆ สิบเท่า” จริงแล้วการทานยาชนิดไหนกับผู้ป่วยรายไหน แพทย์จะพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย เช่น อายุ โรคประจำตัว ยาอื่นๆ ที่ทานประจำ การเกิดผลแทรกซ้อนของยาหรือไม่
  8. ”การซื้อยาลดความดันโลหิตจากร้านขายยาก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องพบแพทย์ให้เสียเวลาและค่าตรวจรักษากับแพทย์” ความเข้าใจนี้ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะการพบแพทย์เป็นระยะๆ เช่น 3- 6 เดือนก็เพื่อการประเมินผลการรักษา สอบถามข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการทานยาลดความดันโลหิต การประเมินการทำงานของไต และภาวะผิดปกติอื่นๆ ที่อาจพบร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นท่านสามารถซื้อยาทานเองได้ ถ้าควบคุมอาการได้ดี ค่าความดันโลหิตที่วัดได้ปกติดี แต่ก็ควรพบแพทย์อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง
  9. “การทานยาลดความดันโลหิต 1 ชนิดดีกว่าการทานยาหลายๆ ชนิด” ประเด็นนี้ก็เป็นจริงเพียงบางส่วน เพราะถ้าควบคุมความดันโลหิตด้วยยาเพียงชนิดเดียวได้ดี แพทย์ก็ใช้ยาเพียงชนิดเดียว แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิด เพราะควบคุมด้วยยาเพียงชนิดเดียวไม่ได้ หรือมีข้อบ่งชี้ของการใช้ยาหลายชนิด แพทย์ก็จะพิจารณาตามความเหมาะสม ไม่สามารถสรุปได้ตรงไปตรงมาว่ายาชนิดเดียวหรือหลายชนิดดีกว่ากัน
  10. ”โรคความดันโลหิตไม่สามารถรักษาให้หายได้ ต้องทานยาไปตลอดชีวิต” ซึ่งการเข้าใจแบบนี้ก็น่าจะดี แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า ผู้ป่วยที่เข้าใจว่าโรคความดันโลหิตสูงรักษาไม่หาย ต้องทานยาไปตอดชีวิต ก็เลยไม่ทานยาสม่ำเสมอ เพราะเบื่อ เซ็ง คิดว่าอย่างไรก็ไม่หาย จริงแล้วโรคความดันโลหิตสูงสามารถรักษาให้หายได้ แต่ต้องปฏิบัติตัวให้ดี ปรับพฤติกรรมการทานอาหาร ออกกำลังกาย พักผ่อนให้พอ ไม่เครียด ท่านก็มีโอกาสหายได้

*****โปรดเข้าใจว่าความดันโลหิตสูง คือ มหันตภัยเงียบที่ต้องระวัง อย่าประมาทครับ โปรดตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เพียงแค่นี้ท่านก็ห่างจาก โรคความดันโลหิตสูง โรคอัมพาต โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไตวายได้