ไฮเปอร์แต่เด็กยันแก่ (ตอนที่ 2)

ไฮเปอร์แต่เด็กยันแก่-2

นพ.สมัย กล่าวด้วยว่า วงการจิตแพทย์พบว่าความเร็วของภาพในเกมซึ่งเปลี่ยนเร็วทุก 3 วินาที จะส่งผลโดยตรงต่อสมองทำงานไม่ลงตัว คุมสมาธิไม่ได้ ทำให้ทักษะการอ่านการเขียนการพูดของเด็กแย่ลง เด็กมีอารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น มีปัญหาการอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกันหรือคนอื่น

จึงขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองระมัดระวัง อย่าให้เด็กเล็กเล่นเกมจากแท็บเล็ต โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ยิ่งหากให้หยุดเล่นสิ่งเหล่านี้ได้เร็วเท่าใดจะเป็นผลดีต่อเด็ก อาการจะค่อยๆ หายไป โดยผู้ปกครองควรให้เด็กได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกัน เพื่อให้เด็กมีทักษะและพัฒนาการทุกด้าน

นพ.สมัย กล่าวถึง การดูแลนักเรียนที่เป็นโรคไฮเปอร์ว่า ผู้ปกครองกับโรงเรียนต้องร่วมมือกัน โดยคุณครูควรจัดให้เด็กนั่งเรียนหน้าชั้นหรือใกล้ครู เพื่อที่จะคอยกำกับให้เด็กมีความตั้งใจ มีสมาธิ ไม่ควรให้นั่งเรียนหลังห้องหรือนั่งใกล้ประตู หน้าต่าง เนื่องจากเด็กจะมีโอกาสเสียสมาธิง่าย ควรชื่นชมทันทีเมื่อเด็กตั้งใจเรียนหรือตั้งใจทำงาน

ส่วนผู้ปกครองควรจัดบริเวณสงบในบ้านขณะเด็กทำการบ้าน แบ่งงานให้เด็กทำทีละน้อย และควรบอกเด็กล่วงหน้าถึงเรื่องที่ต้องการให้เด็กปฏิบัติ หากเด็กทำผิดควรใช้ท่าทีเอาจริง แต่จัดการอย่างสงบ ลงโทษเด็กตามข้อตกลง เช่น ลดเวลาดูทีวี

ที่สำคัญผู้ปกครองต้องฝึกลูกให้มีวินัย อดทน รอคอยเป็น จัดระเบียบให้ทำกิจกรรมต่างๆ โดยพ่อแม่ทำเป็นตัวอย่าง ทั้งนี้อาการอยู่ไม่นิ่งของเด็กจะลดลงเมื่อโตขึ้น มีประมาณร้อยละ 40 ของผู้ป่วยจะมีอาการจนถึงวัยผู้ใหญ่

โรคสมาธิสั้น (Attention-deficit/hyperactivity disorder = ADHD) เป็นภาวะเรื้อรังที่มีผลกระทบต่อเด็กเป็นล้านๆ คน และมักจะมีภาวะต่อเนื่องไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย โรคสมาธิสั้นถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่รวมหลายปัญหาเข้าด้วยกัน เช่น ขาดสมาธิ (Difficulty sustaining attention) อยู่ไม่สุก (Hyperactivity) และ หุนหันพลันแล่น ไม่รู้จักยั้งคิด ผลีผลาม (Impulsive behavior)

โรคสมาธิสั้นในเด็ก (Attention-deficit/hyperactivity disorder in children) อาจทำให้เด็กมีความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low self-esteem) มีความสัมพันธ์ที่มีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน โดยอาการจะลดลงตามวัย แต่บางคนก็ยังคงมีอาการอยู่ เพียงแต่ต้องเรียนรู้กลยุทธ์ในการจัดการ ทั้งนี้ การวิเคราะห์โรคและการรักษาได้เร็วจะสามารถให้ผลการรักษาที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อาการเบื้องต้นของโรคสมาธสั้น ก็คือ ไม่มีสมาธิและอยู่ไม่สุก โดยอาการจะปรากฏก่อนอายุ 12 ปี ซึ่งในเด็กบางคนอาจสังเกตเห็นได้ตั้งแต่อายุ 3 ปี อาการของโรคมีตั้งแต่ระดับอ่อน ระดับปานกลาง และระดับรุนแรง ซึ่งอาจเป็นต่อไปได้จนโตเป็นผู้ใหญ่

โรคสมาธิสั้นมักเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และอาจมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันระหว่างเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง เช่น เด็กผู้ชายมักจะออกแนวอยู่ไม่สุก ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะไม่มีสมาธิแบบเงียบๆ

แหล่งข้อมูล:

  1. พบเด็กเล็กเป็นโรค “ไฮเปอร์เทียม” มากขึ้น เหตุให้ลูกเล่นแท็บเล็ต-มือถือ. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000054175 [2017, August 6].
  2. Attention-deficit/hyperactivity disorder (ADHD) in children. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/adhd/home/ovc-20196177 [2017, August 6].