ไฮดรอกซียูเรีย (Hydroxyurea)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไฮดรอกซียูเรีย (Hydroxyurea) หรือมีชื่อการค้าในประเทศไทยว่า ‘ไฮเดรีย (Hydrea)’ เป็นยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน ยาถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งได้หลายชนิดเช่น มะเร็งในระบบ-ศีรษ-ลำคอ, มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (มะเร็งไฝ), มะเร็งรังไข่

นอกจากนี้ ยาไฮดรอกซียูเรียยังถูกนำมาใช้ควบคู่กับรังสีรักษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ, ในมะเร็งปากมดลูก, โรคมะเร็งทางระบบโลหิตวิทยาเช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอลชนิดเฉียบพลัน (Acute Myeloid Leukemia: AML) อีกทั้งยายังถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคทางโลหิตวิทยา/โรคเลือดอื่นๆเช่น ภาวะโลหิตจางชนิด Sickle Cell Anemia, ภาวะปริมาณเม็ดเลือดขาวอิโอซิโนฟิลล์สูง (Hypereosinophilic syndrome) หรือภาวะเม็ดเลือดแดงข้น/โรคเลือดหนืด (Polycythemia Vera: ภาวะเลือดข้นที่เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูกโดยตรง)

เนื่องจากยาไฮดรอกซียูเรียมีข้อบ่งใช้หลายประการ ขนาดยาและวิธีการบริหารยาจึงแตก ต่างกันออกไป ดังนั้นการใช้ยาไฮดรอกซียูเรียจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้ให้การรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับยาก็ควรให้ความใส่ใจในการใช้ยาและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด

ยาไฮดรอกซียูเรียมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไฮดรอกซียูเรีย

ยาไฮดรอกซียูเรียมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้สำหรับ การรักษามะเร็งที่ตอบสนองต่อยานี้ เช่น มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา, มะเร็งของเม็ดเลือดขาวบางชนิด, และมะเร็งรังไข่ที่ย้อนกลับมาเป็นซ้ำใหม่ (Recurrent ovary cancer)หรือในระยะที่โรคแพร่กระจายจนไม่สามารถผ่าตัดรักษาได้

ยาไฮดรอกซียูเรียยังสามารถใช้ร่วมกับรังสีรักษาเพื่อรักษาควบคุมมะเร็งในระบบ-ศีรษะ-ลำคอและมะเร็งปากมดลูก

นอกจากนี้ยาไฮดรอกซียูเรียยังมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะเม็ดเลือดแดงข้น/โรคเลือดหนืด

ยาไฮดรอกซียูเรียมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กระบวนการออกฤทธิ์เพื่อต้านมะเร็งของยาไฮดรอกซียูเรียยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีสมมติ ฐานว่ายาไฮดรอกซียูเรียจะยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์มะเร็ง

สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ยาไฮดรอกซียูเรียร่วมกับรังสีรักษาในมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ สันนิษฐานว่ายาไฮดรอกซียูเรียจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของรังสีรักษาในการฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยมีผลให้กระบวนการซ่อมแซมปกติของเซลล์มะเร็งถูกทำลาย เซลล์มะเร็งจึงตายสูงขึ้นเมื่อใช้ยานี้ร่วมกับรังสีรักษา

ยาไฮดรอกซียูเรียมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาไฮดรอกซียูเรียมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ เช่น

  • ยาแคปซูล (Capsule) สำหรับรับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัม

ยาไฮดรอกซียูเรียมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาไฮดรอกซียูเรียเป็นยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ มีเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ดังนั้นไม่สามารถหาซื้อยาไฮดรอกซียูเรียได้จากร้านยาทั่วไป

ขนาดยานี้ สำหรับเด็กและผู้ใหญ่จะต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น โดยพิจารณาจากข้อบ่งใช้ของยาต่อโรคหรือต่อภาวะที่ต้องการรักษา ทั้งนี้การปรับขนาดยาจะมีปัจจัย ที่ต้องคำนึงถึงเช่น น้ำหนักตัว อายุ ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (ปริมาณเม็ดเลือดขาว, ปริมาณ เม็ดเลือดแดง และปริมาณเกล็ดเลือด ฯลฯ) ค่าการทำงานของไต และค่าการทำงานของตับ

ในการกำหนดขนาดยาไฮดรอกซียูเรียนั้นจะคำนวณขนาดยาที่ควรได้รับตามน้ำหนักของผู้ป่วย โดยน้ำหนักที่นำมาใช้ในการคำนวณนั้นสามารถเลือกใช้น้ำหนักอุดมคติ (Ideal Body Weight: น้ำหนักตัวที่ควรเป็น เมื่อคำนวณจากปัจจัยของอายุ เพศ และส่วนสูง) หรือจากน้ำหนัก ตัวจริงที่ชั่งได้ของผู้ป่วย โดยจะเลือกใช้น้ำหนักระหว่างน้ำหนักอุดมคติกับน้ำหนักจริง น้ำหนักชนิดใดที่มีค่าน้อยกว่าจะนำมาใช้ในการกำหนดขนาดยา ดังนั้นหากท่านกำลังใช้ยานี้อยู่ควรรับ ประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง ไม่เพิ่มลดหรือปรับขนาดยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด หากท่านมีอาการไม่พึงประสงค์ (ดังกล่าวในหัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์) ที่รุนแรงเกิดหลังใช้ยานี้ ท่านควรต้องไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนกำหนดเพื่อแก้ไขอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาไฮดรอกซียูเรีย ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไฮดรอกซียูเรียอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้ อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ใน ภาวะการตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาไฮดรอกซียูเรียมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดขึ้นได้ อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร แนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยานี้ถูกขับออกทางน้ำนมจึงอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารุนแรงแก่บุตรได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาไฮดรอกซียูเรียให้ตรงเวลาทุกวัน โดยอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยา จึงสามารถรับประทานยาไฮดรอกซียูเรียได้ทั้งขณะท้องว่างหรือหลังอาหาร ดังนั้นการเลือกช่วงเวลาในการรับประทานยาจึงไม่ต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร โดยปกติแล้วยาไฮดรอกซี ยูเรียจะรับประทานวันละ 1 - 3 ครั้งขึ้นกับข้อบ่งใช้ของยา

กรณีรับประทานยาเพียงวันละ 1 ครั้งเพื่อให้ระดับยาในร่างกายคงที่และมีประสิทธิภาพ ควรต้องรับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน

กรณีลืมรับประทานยาที่รับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (วันถัดไป) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาเวลา 8.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 15.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 22.00 น.ของวันนั้น ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติช่วงเวลาเดิมได้เลย โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม

กรณีลืมรับประทานยาเมื่อวิธีการรับประทานเป็นวันละ 2 - 3 ครั้งต่อวัน ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะ ห่างระหว่างมื้อ) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 3 ครั้ง เวลา 8.00 น.,13.00 น. และ 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับ ประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 10.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงห่างจากเวลารับประทานยาปกติถึงมื้อถัดไป) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 11.30 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือเวลา 13.00 น. ในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมมารับประทานเพิ่ม

อนึ่ง การรับประทานยาเกินขนาดโดยอุบัติเหตุ มีรายงานพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาไฮดรอกซียูเรียในปริมาณมากกว่าขนาดที่ใช้ในการรักษาปกติหลายเท่า ทำให้เกิดพิษรุนแรงต่อเยื่อเมือก เช่น เยื่อบุตา เนื้อเยื่อภายในช่องปาก อาจทำให้เกิดการอักเสบจนเกิดอาการหลุดลอกของเนื้อ เยื่อได้ นอกจากนี้ยังพบอาการเจ็บคอ อาการมีผื่นสีม่วงกระจายที่ผิวหนัง ฝ่ามือฝ่าเท้าบวมตามด้วยการหลุดลอกของผิวหนังของฝ่ามือและฝ่าเท้า มีสีผิวเข้มขึ้น กระเพาะอาหารอักเสบอย่างรุน แรง และมีผลต่อการกดการทำงานของไขกระดูก ก่อให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ติดเชื้อได้ง่าย ), โลหิตจาง (ซีด) และเกล็ดเลือดต่ำ (เลือดออกง่าย) ทั้งนี้ไม่มียาต้านพิษที่จำเพาะเจาะจงสำ หรับยาไฮดรอกซียูเรีย การรักษาคือ การรักษาประคับประคองตามอาการทางคลินิกของผู้ป่วย หลังได้รับยาเกินขนาด

ยาไฮดรอกซียูเรียมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาการ/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยา ไฮดรอกซียูเรีย ที่พบได้บ่อย เช่น

  • ภาวะกดไขกระดูก (Bone Marrow Suppression): ส่งผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ, โลหิตจาง/ โรคซีด, และเกล็ดเลือดต่ำ จึงเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อโรค, อ่อนเพลีย ,เหนื่อยง่าย, และเลือดออกผิดปกติได้ง่าย
  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร: เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ เบื่ออาหาร คลื่นไส้- อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก
  • อาการทางผิวหนัง: เช่น พบผื่นเป็นจุดหรือตุ่มนูนที่ผิวหนัง, แผลเปื่อยบริเวณผิวหนัง ,การเปลี่ยนแปลงสีของผิวหนัง, ใบหน้าบวมแดง, และอาการบวมแดงตามแขน - ขา สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจพบผิวหนังมีสีเข้มขึ้นหลังได้รับยาเป็นเวลาหลายปี บวมแดง ผิวและเล็บเหี่ยว, ผิวหนังหลุดลอก, ผมร่วง นอกจากนี้ยังพบความเป็นพิษต่อหลอดเลือดบริเวณผิวหนังจนอาจเกิดแผลและเนื้อตายบริเวณหลอดเลือดที่เกิดพิษเหล่านั้น
  • ผลต่อไต: ยานี้อาจก่อให้เกิดความผิดปกติชั่วคราวของเนื้อเยื่อไต ส่งผลให้การทำงานของไตผิดปกติ โดยตรวจพบมีปริมาณกรดยูริคในเลือด ค่าปริมาณของเสียในเลือด (Blood Urea Nitrogen: BUN) และค่าครีอะตินีน (Creatinine) สูงขึ้น
  • อื่นๆ: อาการอื่นๆที่อาจพบได้เช่น อาจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้หนาวสั่น

***** หมายเหตุ: หากท่านกำลังใช้ยาไฮดรอกซียูเรียอยู่ และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ดังจะกล่าวต่อไป ควรรีบด่วนไปพบแพทย์หรือรีบไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านที่สะดวกก่อนวันแพทย์นัด ทั้งนี้ไม่ต้องรอให้มีครบทุกอาการ

อาการต่างๆเหล่านั้น เช่น

  • อาเจียนอย่างหนัก
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • ท้องเสียหรือถ่ายท้องอย่างมากจนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง
  • มีภาวะสมดุลของน้ำและเกลือแร่ผิดปกติ (อาการที่สังเกตได้เช่น เหนื่อย สับสน อ่อนเพลีย อ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว)
  • มีอาการเจ็บริมฝีปาก เจ็บภายในช่องปาก
  • มีปัญหาภาวะเลือดออกเช่น อุจจาระมีสีดำ ปัสสาวะมีสีแดง มีจ้ำแดงๆตามผิวหนัง
  • มีสัญญาณของภาวะติดเชื้อ เช่น มีไข้ (สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส/Celsius) หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ
  • มีอาการปวดหรือร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ)
  • ปวด บวม แดง และ/หรือ เจ็บตามร่างกาย

มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮดรอกซียูเรียอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮดรอกซียูเรีย เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเสมอ
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในภาวะไขกระดูกทำงานต่ำ (ภาวะกดไขกระดูก) เช่น จำ นวนเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 2,500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร หรือปริมาณเกล็ดเลือดต่ำน้อย กว่า 100,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร หรือเกิดภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามภาวะกดไขกระดูกจะกลับสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็วหลังหยุดยานี้
  • การใช้ยาไฮดรอกซียูเรียในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ได้รับการรับรองให้ใช้ได้ในเด็กทารกที่มีอายุมากกว่าเท่ากับ 6 เดือนขึ้นไป โดยยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน (เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลขนาดยาที่เหมาะสมและทารกอาจได้รับผลพิษจากยามากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ) ซึ่งการใช้ยาไฮดรอกซียูเรียในเด็กควรใช้ด้วยความระมัดระวังภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • การใช้ยาไฮดรอกซียูเรียในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอาจต้องการยาในขนาดที่ต่ำลงเนื่องจากผู้ สูงอายุที่มีแนวโน้มการทำงานของไตลดลง (ยาถูกขจัดออกทางไต) ปฏิกิริยาของการเกิดพิษจากยานี้จึงจะมากขึ้นหากผู้ป่วยมีการทำงานของไตบกพร่อง
  • การใช้ยาไฮดรอกซียูเรียในช่วงกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากยานี้มีผลพิษต่อทารกในครรภ์จนอาจก่อให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดขึ้นได้ ดังนั้นการใช้ยานี้จึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
  • การใช้ยานี้ในสตรีช่วงให้นมบุตร แนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยาถูกขับออกทางน้ำนมด้วยจึงอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่บุตร จึงควรพิจารณาหยุดให้นมบุตรหากมารดากำลังได้รับยานี้อยู่
  • เนื่องจากยาไฮดรอกซียูเรียเป็นยาเคมีบำบัดเพื่อลดความเสี่ยงในการที่ยาจะสัมผัสกับผิวหนัง (ส่งผลให้เกิดผิวหนังอักเสบ) จึงจำเป็นต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวัง จึงแนะนำให้ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสยา รวมถึงควรสวมถุงมือทุกครั้งที่ถือขวดบรรจุยา การเตรียมยาและในการบริหารยา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาไฮดรอกซียูเรียด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไฮดรอกซียูเรียมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไฮดรอกซียูเรียมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

1.ยาไฮดรอกซียูเรียเมื่อใช้ร่วมกับวัคซีนโรตา (Rotavirus vaccine) จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อไวรัสโรตา (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคท้องร่วงจากไวรัสโรตา) ซึ่งก่อให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากช่วงที่ผู้ป่วยได้ รับยาไฮดรอกซียูเรียภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วยจะลดลงจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

2. ยาไฮดรอกซียูเรียเมื่อใช้ร่วมกับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live vaccines: วัคซีนที่ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลง [ยังไม่ตาย/เชื้อเป็น] จนไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่เชื้อยังมีฤทธิ์เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนั้นๆได้ ตัวอย่างวัคซีนเชื้อเป็นเช่น วัคซีนหัด – หัดเยอรมัน - คางทูม, วัคซีนอีสุกอีใส, วัคซีนโปลิโอชนิดกิน, วัคซีนไวรัสโรตา และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก เป็นต้น) ดังนั้นในช่วงที่กำลังได้รับยาไฮดรอกซียูเรียอยู่และจำเป็นต้องได้รับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อจากวัคซีนชนิดเชื้อเป็นได้ เพราะภูมิคุ้มกันฯของผู้ป่วยจะลดลงเชื้อโรคที่อ่อนฤทธิ์จึงอาจรุนแรงขึ้นจนอาจจะก่อโรคได้ในช่วงนี้

3. ยาไฮดรอกซียูเรียเมื่อใช้ร่วมกับยาดีดาโนซีน (Didanosine: ยาต้านรีโทรไวรัส) และ ยาสตาวู ดีน (Stavudine: ยาต้านรีโทรไวรัส) อาจทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบซึ่งอาจรุนแรงจนเป็นเหตุถึงแก่ชีวิต (ตาย) ได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกัน หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรติดตามค่าการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการดังนี้

  • อะไมเลส (Amylase) เอนไซม์ที่บ่งชี้ภาวะตับอ่อนอักเสบ
  • ไลเปส (Lipase) เอนไซม์ที่บ่งชี้ภาวะตับอ่อนอักเสบ
  • ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือด (Liver function enzyme) เช่นค่า AST/Aminotransferase, ALT/ Alkaline phosphatase, Bilirubin ซึ่งหากมีค่าดังกล่าวสูงขึ้นอาจบ่งชี้ว่าตับอักเสบ

4. ยาไฮดรอกซียูเรียเมื่อใช้ร่วมกับยาโปรเบนาซิด (Probenecid: ยาขับกรดยูริค) อาจทำให้กรดยูริคในเลือดเพิ่มสูงขึ้น (มีอาการของโรคเกาต์)

ควรเก็บรักษายาไฮดรอกซียูเรียอย่างไร?

แนะนำเก็บยาไฮดรอกซียูเรีย เช่น

  • เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาให้พ้นจาก แสงแดด และแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
  • หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มากเช่น เก็บยาในรถที่ตากแดด หรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน)
  • ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำหรือห้องครัว
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาไฮดรอกซียูเรียมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไฮดรอกซียูเรีย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Hydrea (ไฮเดรีย) Bristol-Myers Squibb

บรรณานุกรม

1. Taketomo CK, Hodding, JH, Kraus DM, .Pediatric & Neonatal Dosage Handbook, 19th ed. Hudson, Ohio, Lexi-Comp, Inc.; 2012

2. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.

3. Product Information:Hydrea, Hydroxyurea, Bristol-Myers Squibb, Thailand.

4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013