ไอ ไอ ไอ แล้วก็ไอ (ตอนที่ 2)

สำหรับอาการไอแบบไม่มีเสมหะ (Non-productive cough) เป็นอาการไอแบบแห้งๆ และไม่มีเสมหะ ซึ่งอาจเกิดในช่วงท้ายของการเป็นหวัด หรือเกิดจากสิ่งรบกวน เช่น ฝุ่นละออง หรือควัน สาเหตุที่ทำให้เกิดการไอแบบไม่มีเสมหะมีหลายอย่าง เช่น

  • การติดเชื้อไวรัส (Viral illnesses) หลังการเป็นหวัด การไอแบบนี้มักเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์และมักเป็นมากในตอนกลางคืน
  • เกิดจากหลอดลมหดเกร็ง (Bronchospasm) โดยเฉพาะตอนกลางคืนที่มีการหดเกร็งของหลอดลมเนื่องจากเกิดการระคายคอ
  • เกิดจากอาการภูมิแพ้ มีการจามบ่อย ซึ่งเป็นอาการทั่วไปของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis)
  • เกิดจากการใช้ยาที่ควบคุมความดันโลหิตที่เรียกว่า ยาต้านเอซ (ACE inhibitors = Angiotensin-converting enzyme inhibitors) เช่น ยา Captopril (Capoten) ยา Enalapril maleate (Vasotec) และ ยา Lisinopril (Prinivil, Zestril หรือ Zestoretic)
  • เกิดจากฝุ่นละออง น้ำหอม หรือสารเคมีที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อม
  • เกิดจากโรคหืด (Asthma) การไอเรื้อรังแบบแห้งๆ อาจเป็นสัญญาณของการเป็นโรคหืดอย่างอ่อนๆ อาการอื่นๆ อาจรวมถึงการหายใจลำบากและมีเสียงฟืดฟาดหรือฮืดฮาด/เสียงหวีด (Wheezing) การหายใจถี่/การหายใจลำบาก (Shortness of breath) หรือเกิดอาการแน่นหน้าอก
  • มีการอุดตันของทางเดินหายใจที่เกิดจากวัตถุ เช่น อาหาร หรือ ยา ที่หลุดเข้าไปในทางเดินหายใจ

ข้อควรระวัง มีการไอหลายชนิดที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ สำหรับการไอที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ไม่สามารถรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) การใช้ยาปฏิชีวนะที่พร่ำเพรื่อจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพ้ (Allergic reaction) และได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น คลื่นไส้ (Nausea) อาเจียน (Vomiting) ท้องเสีย เป็นผื่น นอกจากนี้ยาปฏิชีวนะยังอาจทำลายเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสร้างเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ (Antibiotic-resistant bacteria) ได้

การดูแลตนเองเมื่อเกิดอาการไอ

  • ป้องกันภาวะขาดน้ำ (Dehydration) เนื่องจากการไอทำเกิดการระคายเคืองที่ลำคอ การจิบน้ำชา น้ำมะนาว หรือน้ำผึ้งผสมน้ำร้อนอาจช่วยในกรณีไอแบบแห้งๆ
  • หนุนหมอนให้สูงขึ้นเวลานอน
  • กินยาแก้ไอ
  • ห้ามสูบบุหรี่หรือยาสูบ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการไอ
  • หลีกเลี่ยงสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ เช่น การสูบบุหรี่ ฝุ่นละออง หรือมลภาวะอื่น หรือใส่หน้ากาก

โดยปกติอาการไอจะหายไปได้เอง แต่หากเกิดอาการไอพร้อมกรณีดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ :

  • หายใจถี่
  • เสมหะมีเลือดปน หรือเป็นฟองสีชมพู
  • เสมหะมีสีเขียว สีน้ำตาล หรือสีเหลือง
  • เป็นไข้ หนาว หรือเจ็บหน้าอกเมื่อหายใจลึกๆ

แหล่งข้อมูล:

  1. How to Treat a Cough From Cold or Flu. http://www.webmd.com/cold-and-flu/treating-your-cough [2013, January 19].
  2. Coughs - Topic Overview. http://www.webmd.com/cold-and-flu/tc/coughs-topic-overview [2013, January 19].
  3. Coughs - Home Treatment. http://www.webmd.com/cold-and-flu/tc/coughs-home-treatment [2013, January 19].