ไอ ไอ ไอ แล้วก็ไอ (ตอนที่ 1)

ผศ. นพ. มานพชัย ธรรมคันโธ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ทุกวันนี้คนไทยมีปัญหาเรื่องอาการไอกันมาก เพราะอากาศแปรปรวนและมลภาวะทางอากาศที่เลวร้ายลงทุกที รวมถึงการใช้ชีวิตที่สมบุกสมบัน อาการไอนี้นอกจากจะบั่นทอนสุขภาพอนามัยที่ดีแล้ว หากปล่อยให้เป็นๆ หายๆ หรือเรื้อรัง ก็จะเสียบุคลิกและความมั่นใจ

อีกทั้งเสียงไอและการมีเสมหะเป็นสิ่งรบกวน และเป็นที่รังเกียจของคนรอบข้าง เราควรที่จะเรียนรู้เข้าใจสาเหตุและกลไกการไอ และทำการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี นพ. มานพชัย ยังกล่าวอีกว่า อาการไอเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมีลักษณะที่หลากหลาย จึงมีความจำเป็นต้องฉลาดเลือกใช้ยาที่เหมาะกับอาการ มิฉะนั้นก็จะไม่หายเสียที หรือกลายเป็นการไอที่เรื้อรัง

ลักษณะของการไอบางครั้งก็ช่วยบอกสาเหตุได้ เช่น ไอแบบแห้งๆ ไม่มีเสมหะ มักเกิดจากสารระคายเคืองมลภาวะต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง แบบที่สอง คือ ไอและแน่นหน้าอก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย มักพบในผู้ป่วยโรคหืด ต้องใช้ยาขยายหลอดลม เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว และแบบที่พบบ่อยมากคือ ไอมีเสมหะ โดยลักษณะเสมหะจะช่วยในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้ เช่น ถ้าเป็นเสมหะสีเหลืองเขียวข้น มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ถ้าเป็นสีขาวใส มักเป็นอาการไอจากภูมิแพ้หรือโรคหืด

อาการไอเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายต้องการขับสิ่งแปลกปลอมหรือน้ำมูกออกจากปอดและทางเดินหายใจส่วนบน หรือต้องการกำจัดสิ่งที่ขวางทางเดินหายใจ การไอเป็นอาการอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่โรค อาการไออาจเป็นแบบเฉียบพลัน (Acute) หรือแบบเรื้อรัง (Chronic) โดย

  • อาการไอแบบเฉียบพลันอาจเกิดจากการเป็นไข้หวัด หรือมีการติดเชื้อที่โพรงไซนัส (Sinus infection) ส่วนใหญ่อาการนี้จะหายไปหลัง 3 สัปดาห์
  • อาการไอกึ่งเฉียบพลัน (Subacute) จะหายไปในระยะเวลา 3 - 8 สัปดาห์
  • อาการไอแบบเรื้อรังจะอยู่นานมากกว่า 3 สัปดาห์

ทั้งนี้ ลักษณะของอาการไอแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ ไอแบบมีเสมหะและไอแบบไม่มีเสมหะ (ไอแบบแห้งๆ) การไอแบบมีเสมหะ (Productive coughs) สามารถทำให้เกิดเสมหะ (Phlegm) หรือ น้ำมูก (Mucus /Sputum) โดยเสมหะจะออกมาจากคอด้านหลัง จมูก หรือโพรงอากาศ/ไซนัส (Sinus) หรืออาจมาจากปอด โดยทั่วไปเราไม่ควรระงับการไอแบบนี้ แต่ควรระบายออกเพื่อให้เสมหะออกมาจากปอด สาเหตุที่ทำให้เกิดการไอแบบมีเสมหะมีหลายอย่าง เช่น

  • การติดเชื้อไวรัส (Viral illnesses) เมื่อเป็นหวัด ทำให้เกิดอาการไอเพื่อขับเสมหะออกจากลำคอ
  • การติดเชื้อในปอดหรือทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคปอดอักเสบ (Pneumonia) โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) โพรงไซนัส อักเสบ (Sinusitis) วัณโรค (Tuberculosis)
  • การติดเชื้อเรื้อรังในปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD = Chronic obstructive pulmonary disease)
  • การที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลเข้าไปในหลอดอาหาร (Esophagus) ซึ่งเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อน (GERD = Gastroesophageal reflux disease) ที่รบกวนต่อการนอน
  • การชะล้างสิ่งที่ระคายเคือง กลายเป็นเสมหะไหลลงคอด้านหลังจมูก (Post nasal drip) ทำให้เกิดอาการไอ
  • การสูบบุหรี่หรือยาสูบ ทำให้ปอดถูกทำลายหรือทำให้ระคายคอหรือหลอดอาหาร

แหล่งข้อมูล:

  1. เรียนรู้อาการไอ เพื่อแก้ไขอย่างถูกวิธี http://www.thairath.co.th/content/life/320194 [2013, January 18].
  2. Coughs - Topic Overview. http://www.webmd.com/cold-and-flu/tc/coughs-topic-overview [2013, January 18].
  3. Cough. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/003072.htm [2013, January 18].